คนไทยกับสัตว์ป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คนไทยมีคติธรรมและสัญลักษณ์ที่คุ้นใจ
พาสัตว์ป่าเข้ามาให้รู้สึกใกล้ชิดและชื่นชมเป็นมิตร

นอกจากนั้นยังมีอีกอย่างหนึ่งคือ คติการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศ คนไทยเราถือคตินี้มานานแล้ว

ปัจจุบันนี้เขาบอกว่า เราจะต้องมองว่าสิ่งทั้งหลายในระบบนิเวศ อาศัยซึ่งกันและกัน ความจริงเราถืออย่างนี้มานานแล้ว เรามีคติเช่นว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี” อะไรทำนองนี้

คติที่แสดงการพึ่งพาอาศัยกันมีอยู่ในคัมภีร์เช่นชาดก ซึ่งไม่เฉพาะมนุษย์กับสัตว์เท่านั้นที่ต้องอาศัยกัน แม้แต่เทวดาก็ยังต้องพึ่งสัตว์ป่า เทวดาต้องพึ่งเสือและสิงห์ เพราะฉะนั้น เราพูดได้ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เทวดาต้องพึ่งเสือ

เทวดาพึ่งเสืออย่างไร ขอเล่าเรื่องอีกชาดกหนึ่งไว้ให้เห็นถึงการที่ว่าเทวดาก็ยังต้องพึ่งสัตว์ป่า ท่านเล่าว่า

ที่ป่าแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าทั้งเสือและสิงห์ เป็นธรรมดาว่าในป่าใหญ่เสือสิงห์ก็ชอบกินสัตว์อื่นๆ พอกินแล้วก็เหลือเศษชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของสัตว์นั้นไว้ ซากศพของสัตว์นั้นก็เน่าเหม็น ทำให้ป่ามีกลิ่นไม่น่าชอบใจ

กล่าวฝ่ายรุกขเทวดา ๒ ตน ตนหนึ่งเป็นรุกขเทวดาพาล อีกตนหนึ่งเป็นรุกขเทวดาดี ฝ่ายรุกขเทวดาพาลก็บ่นขึ้นมาว่า เจ้าพวกเสือพวกสิงห์นี้มันยุ่ง มันทำให้ป่าเหม็นไม่น่าอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องแกล้งไล่มันไปเสีย เทวดาพาลตนนี้ก็ออกอุบายว่า เราจะแกล้งเนรมิตเป็นรูปที่น่าสะพรึงกลัวให้เจ้าเสือกับสิงห์มันตกใจแล้วหนีไปเสีย เราจะได้อยู่สบาย

ฝ่ายรุกขเทวดาบัณฑิตก็บอกว่า ท่านจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ที่เราได้อาศัยต้นไม้อยู่ และต้นไม้เหล่านี้อยู่ได้เพราะอะไร ก็เพราะมีเสือมีสิงห์ จึงทำให้คนไม่กล้าเข้ามาลึก คนเข้ามาก็แค่ชายป่าขอบป่าเท่านั้น และได้ไปเฉพาะไม้เล็กๆ น้อยๆ ไม่กล้าเข้ามาลึก เพราะกลัวพวกสิงห์เสือ ถ้าเราไล่เสือสิงห์ไปแล้ว พวกมนุษย์ทั้งหลายไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวก็จะรุกเข้ามาทำลายป่า เดี๋ยวเราก็จะไม่มีที่อยู่

ฝ่ายรุกขเทวดาพาลนั้นไม่ยอมเชื่อฟัง ก็ได้เนรมิตรูปที่น่าสะพรึงกลัว ไล่เอาเจ้าพวกสิงห์และเสือเตลิดไป

ฝ่ายผู้คนทั้งหลายที่มาหาผลไม้พืชพันธุ์จากป่านั้น ตอนแรกก็อยู่แค่ชายป่า ต่อมา เมื่อไม่เห็นว่าจะมีภัยอันตรายอะไร ก็ค่อยๆ บุกลึกเข้ามาๆ ตัดไม้ลึกเข้ามา จนกระทั่งในที่สุดก็ตัดไม้ที่รุกขเทวดาอาศัยอยู่ รุกขเทวดาพาลจึงได้เห็นคุณค่าของเสือและสิงห์ แต่ก็สายไปเสียแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้

เป็นอันว่า แม้แต่เทวดาก็ต้องอาศัยสัตว์ป่าเหมือนกัน อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ท่านสอนคติอย่างนี้มานานแล้ว เรื่อง น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า รุกขเทวดาพึ่งเสือ หรือ พฤกษาพึ่งเสือ อะไรพวกนี้ เรื่องของสัตว์ป่านั้นมีอีกมากมาย

ในทางธรรม เรานำสัตว์มาใช้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบในทางที่ดีงาม ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบพระองค์เป็นเหมือนราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถือว่าเป็นเจ้าป่า

พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนสัจธรรมเหมือนดังราชสีห์ ที่บันลือ “สีหนาท” ออกไปแล้ว สัตว์ป่าทั้งหลายก็เงียบหมด เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ประกาศสัจจะเป็นความจริงที่ไม่มีใครเถียงได้ ทุกคนยอมรับ แม้แต่พระพุทธเจ้าจะบรรทมก็เรียกว่า “สีหไสยาสน์” คือนอนอย่างราชสีห์

ราชสีห์หรือสิงห์ ถือกันว่า เป็นสัตว์เจ้าป่า คนจึงใช้ราชสีห์หรือสิงห์นั้น เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความยิ่งใหญ่ หรือความองอาจแกล้วกล้ามั่นคงและมั่นใจ พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้เขียนศิลาจารึกประกาศธรรมไว้มากมาย ทั่วพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะ ณ สถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มักทรงประดิษฐานหลักศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐาน

หลักศิลาจารึกที่รู้จักกันมาก คือที่สารนาถ อันได้แก่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

ยอดเสาหลักศิลาจารึกที่สารนาถนี้ เป็นรูปสิงห์ ๔ ตัว หันหลังเข้าหากัน และหันหน้าออกไปสู่ทิศทั้ง ๔ ตัวละทิศ และบนหัวสิงห์ทั้ง ๔ นั้น ก็มีวงพระธรรมจักร ซึ่งหัวสิงห์ทูนไว้เป็นส่วนยอดสุด เป็นสัญลักษณ์แห่งการที่พระพุทธเจ้าทรงบันลือสีหนาทประกาศธรรมให้แพร่กระจายออกไปในทิศทั้งสี่ และอาจจะแปลความหมายแฝงไว้อีกขั้นหนึ่งด้วยก็ได้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจเป็นเครื่องรองรับเชิดชูธรรม หรืออาณาจักรรองรับเชิดชูธรรมจักร

ปัจจุบัน วงธรรมจักรบนหัวสิงห์ ได้ไปประดิษฐานเป็นส่วนใจกลางของธงชาติอินเดีย และหัวสิงห์ยอดเสาศิลาจารึกนี้ ก็ได้แยกไปเป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดีย

อีกอย่างหนึ่ง มีคำเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนโคอุสภะ ซึ่งเป็นโคที่สง่าองอาจ หรือบางครั้งเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนช้างศึก อย่างพระพุทธพจน์ในธรรมบทว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม ฯเปฯ” แปลว่า เราเป็นเหมือนช้างศึกในสงคราม ฯลฯ

พุทธพจน์นี้ก็สืบเนื่องมาจากการที่มีคนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า ทำการขัดขวางการประกาศพระศาสนา หรือแสดงความไม่ยอมรับด้วยอาการต่างๆ

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในเมืองๆ หนึ่ง มีคนรับจ้างมายืนด่าทุกสี่แยก พระพุทธเจ้ากับพระสาวกไปสี่แยกไหน ก็ถูกด่าตรงนั้น

พระอานนท์กราบทูลว่า เราไปกันเถอะ ไปเมืองโน้นดีกว่า เมืองโน้นมีคนเป็นมิตรเยอะ เมืองนี้ไม่ดีและไม่น่าอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านไปแล้ว ไปเจอคนด่าอีก จะทำอย่างไร พระอานนท์ว่าเราก็ไปเมืองอื่นต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามอีกว่า ถ้าไปแล้วไปเจอคนด่าอีก จะทำอย่างไร พระอานนท์ว่า ก็ไปต่อไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำอย่างนั้นไม่ถูก ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา “เหตุเกิดที่ไหน ต้องระงับที่นั่น”

ต่อมา พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการที่ทำให้การด่าสงบลงภายใน ๗ วัน เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงเสด็จจากไป นี้เป็นวิธีของพระพุทธเจ้า ตามหลักการว่าเหตุเกิดที่ไหนต้องระงับที่นั่น พระพุทธเจ้าไม่หนีปัญหา

ข้อความที่พระองค์ตรัสตอนหนึ่งว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม” เรานี้เหมือนช้างเข้าสู่สงคราม เมื่อเข้าสู่สงคราม ต้องเจอหอก ดาบ และแม้แต่ลูกศร ลูกธนูที่เขายิงมา เราจะไปกลัวอะไร เราต้องสู้เหมือนช้างใหญ่เข้าสู่สงครามแล้ว ไม่มีความหวาดกลัว เพราะฉะนั้น ชาวพุทธนี้เป็นนักสู้ปัญหา ต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา เหตุเกิดที่ไหน ต้องให้ระงับที่นั่น นี้เป็นคติอย่างหนึ่ง

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เอาเรื่องสัตว์มาเป็นอุปมามากมาย อุปมาหนึ่งที่ทราบกันมากคือ การเปรียบความไม่ประมาทว่าเหมือนรอยเท้าช้าง

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมที่สำคัญหลักหนึ่งคือ ความไม่ประมาท ซึ่งชาวพุทธควรจดจำ เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเวลานี้ คนไทยชาวพุทธนี้ ถ้าไม่ระวังตัวจะเป็นคนประมาท เช่น เป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้สิ่งยาก และชอบผัดผ่อน เป็นคนที่เห็นแก่ความสนุกสนานรื่นเริง มัวเมา

ใครมีลักษณะผัดผ่อนเวลา ใครมีลักษณะชอบเพลิดเพลินหลงระเริงในความสุข ใครมีลักษณะไม่รีบป้องกันภัยอันตราย ใครมีลักษณะไม่ชอบสำรวจตรวจตราสิ่งที่เกิดขึ้นและความเป็นไป ใครมัวปล่อยปละละเลยไม่เร่งแก้ไขปัญหา และไม่เร่งทำการที่ควรทำ เรียกว่าเป็น คนประมาท

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมสำคัญไว้คือ ความไม่ประมาท โดยอุปมาเสมือนว่า รอยเท้าสัตว์บกชนิดใดก็ตาม ย่อมไม่มีอย่างไหนใหญ่กว่ารอยเท้าช้าง รอยเท้าทุกชนิดลงได้ในรอยเท้าช้าง ฉันใด ธรรมทั้งปวงก็ลงได้ในความไม่ประมาท ฉันนั้น พุทธพจน์นี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงความสำคัญของความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทเปรียบเหมือนรอยเท้าช้างอย่างไร ถ้าเรามีความไม่ประมาทแล้ว ธรรมทุกข้อที่ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนมากเรียนน้อย เรียน ๑๐ ข้อ หรือเรียน ๕ ข้อ ก็ได้รับการปฏิบัติหมด

แต่ถ้าเรามีความประมาทเสียอย่างเดียว เรียนธรรมทั้งตู้ก็ไม่ได้ปฏิบัติสักข้อเดียว เพราะเมื่อประมาทก็ผัดผ่อน นอนใจ ปล่อยเรื่อยเปื่อย ละเลย ไม่เอาใจใส่ เพราะฉะนั้น ประมาทเสียอย่างเดียว เรียนคัมภีร์มาเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ เหมือนกับว่า ธรรมทุกข้อนอนหลับอยู่ในตู้คัมภีร์ทั้งหมด

แต่ถ้าเราไม่ประมาทแล้ว เราเรียนธรรมเพียง ๔ ข้อ เราก็ปฏิบัติหมดทุกข้อ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่ประมาทนี้เป็นประดุจรอยเท้าช้าง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ชาวพุทธจะต้องเห็นความสำคัญของความไม่ประมาท และความไม่ประมาทอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะเอาใจใส่และเอาจริงเอาจังในการรักษาธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ ทรัพยากรธรรมชาติของเมืองไทยกำลังร่อยหรอมาก ธรรมชาติแวดล้อมก็มีสภาพเสื่อมโทรม มลภาวะก็สูง เวลานี้ คนไทยเราตกอยู่ในความประมาทหรือเปล่า ถ้าประมาท ไม่ช้าเราจะประสบความลำบาก ทรัพยากรธรรมชาติจะหมดไป

ขอให้มองดูประเทศข้างเคียง เช่น พม่า ลาว เขมร ธรรมชาติในประเทศของเขายังอยู่ในสภาพดีกว่าเรา ป่าและสัตว์ป่ายังมีอยู่มากมาย

ในกรุงเทพเวลานี้ อากาศร้อนขนาดไหน มลภาวะในกรุงเทพเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ เราแทบจะเป็นอันดับหนึ่ง นี้เป็นอันตรายที่มาถึงตัว สภาพอย่างนี้ ถ้าเราปล่อย ก็คือเราประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จะต้องเอาธรรมคือความไม่ประมาทนี้มาใช้ อย่ามัวผัดผ่อน อย่ามัวเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัว อย่ามัวเพลิดเพลินมัวเมา จงรีบพิจารณา อะไรเป็นภัยอันตราย ต้องรีบแก้ไขป้องกัน

นิสัยไม่ประมาท เป็นนิสัยของชาวพุทธ คนประมาทจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร เวลานี้เราต้องหยิบธรรมข้อนี้มาใช้กัน

ในคติไทยเรา ไม่เฉพาะในพุทธศาสนา เราเอาสัตว์ต่างๆ ในป่ามาใช้ ทั้งใช้งานจริง และใช้เป็นสัญลักษณ์ ใช้เป็นตราเป็นเครื่องหมายสำคัญกันมาก เราใช้ช้างม้าในสงคราม บางทีเราก็เอาสัตว์ในนิยายหรือสัตว์ในป่าหิมพานต์มาเป็นตราแผ่นดินบ้าง เอามาเป็นเครื่องหมายราชการส่วนโน้นส่วนนี้บ้าง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ตราแผ่นดินไทยก็คือ สัตว์ป่าชนิดหนึ่งในป่าหิมพานต์ ได้แก่ ครุฑ ช้างสามเศียร หรือช้างเอราวัณ ก็เคยเป็นเครื่องหมายตราแผ่นดิน

ธงชาติไทยสมัยหนึ่งก็คือ ธงตราช้าง เราเอาช้างเผือกมาเป็นเครื่องหมายในธงของเรา โดยเริ่มต้นเป็นธงเรือก่อนในสมัย ร.๒ เรือหลวงใช้ธงช้างเผือก แล้วต่อมาถึง ร. ๔ ก็ได้เป็นธงประจำชาติ เพียงแต่เอารูปจักรออกไป

นอกจากนี้ เราก็ยังมีช้างเป็นเครื่องหมายในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ช้างก็เข้ามามีส่วนสำคัญมากในด้านตราหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ใช้กันมากมาย เป็นตราจังหวัดบ้าง เป็นตราองค์กรต่างๆ บ้าง เช่น สยามสมาคม เป็นต้น แม้แต่กรมศิลปากรก็ใช้ตราช้าง แต่ไม่ใช่ช้างแท้ ตรากรมศิลปากรนี้ หัวเป็นช้าง แต่ตัวเป็นเทวดา คือพระคเณศวร์ หรือพิฆเนศ

พระคเณศวร์ เป็นเทพบุตร ทำไมมีเศียรหรือหัวเป็นช้าง ก็มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า พระคเณศวร์นี้เป็นโอรส คือลูกของพระอิศวรหรือพระศิวะ กับเจ้าแม่อุมา ปั้นขึ้นมาจากขี้ไคล อยู่มาวันหนึ่งเจ้าแม่อุมาจะสรงน้ำ ก็อยากจะสนานพระวรกายให้สบายใจ ไม่ให้มีใครมากวน เลยให้เทพบุตรพิฆเนศเฝ้าต้นทางไว้ บอกว่าอย่าให้ใครผ่านเข้ามาได้ จนกว่าแม่จะอาบน้ำเสร็จ

ระหว่างนั้น ก็พอดีพระศิวะหรือพระอิศวรเกิดจะเสด็จมา พระคเณศวร์เทพบุตรก็เข้าขวางไว้ เป็นการทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์ เคราะห์ร้ายพระศิวะคือพระอิศวรจำพระโอรสไม่ได้ ทรงพระพิโรธว่ามาขวางทางพระองค์ ก็เลยประหารให้เศียรขาดหายเสียเดี๋ยวนั้นเลย

เจ้าแม่อุมาสนานพระวรกายเสร็จก็ออกมา พอทราบว่าพระโอรสสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ก็ทรงต่อว่าพระอิศวรว่าทำไมถึงได้ฆ่าลูกตัวเอง พระอิศวรไม่รู้จะทำอย่างไร จะต้องเอาใจพระอุมาด้วย และเพื่อจะช่วยชีวิตลูกของพระองค์เองด้วย

ตอนนี้เรื่องราวที่มีมาในตำนานต่างๆ อาจไม่ตรงกัน ตำนานหนึ่งว่า พระองค์ก็ตั้งกำหนดขึ้นมาว่า จะเอาหัวของสัตว์ที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก หมายความว่า ตอนนั้น ถ้าใครนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก ก็จะถูกตัดเอาหัวมาใส่ให้พระคเณศวร์

พอดีวันนั้น ช้างตัวหนึ่งนอนหันหัวมาทางทิศตะวันตก พระอิศวรก็เลยตัดเอาหัวช้างนั้นเสียบต่อให้พระพิฆเนศ พระพิฆเนศก็จึงมีหัวเป็นช้างตลอดมา ทำให้พระพิฆเนศมีชีวิตเป็นเทพบุตรต่อมาได้ และเป็นตราของกรมศิลปากรสืบมา

ตกลงว่า เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่านี้ มีทั้งสัตว์ป่าแท้ๆ และสัตว์ป่าที่อยู่ในเทพนิยายต่างๆ แต่สัตว์ป่าที่สำคัญยิ่ง ก็คือสัตว์มนุษย์ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสัตว์เมือง

ความจริง สัตว์มนุษย์นั้น เดิมก็เป็นสัตว์ป่านั่นแหละ แต่เวลานี้แยกตัวออกมาเป็นสัตว์เมือง

สัตว์เมือง คือสัตว์มนุษย์นี้ยุ่งมาก เพราะว่า ในหมู่มนุษย์เองก็แบ่งแยกกัน มีการแบ่งแยกคนด้วยกัน เป็นคนเมือง กับคนป่า

แล้วสัตว์ที่อยู่ในป่า มนุษย์ก็ทำยุ่งอีก มนุษย์ที่เป็นสัตว์เมืองเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้านกับสัตว์เมือง เลยวุ่นวายสับสนหมด มีทั้งคนเองที่เป็นสัตว์เมือง ที่อยู่ป่าบ้างเมืองบ้าง มีสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ในป่า แต่บางส่วนก็มาอยู่กับสัตว์มนุษย์ที่อยู่ในเมือง

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง