คนไทยกับสัตว์ป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คนพัฒนาจากสัตว์ป่าเป็นสัตว์เมือง โลกยิ่งเสี่ยงภัย
ต้องให้สัตว์เมืองพัฒนาเป็นอารยชน จึงมีสันติสุขได้

เวลาเราใช้ภาษาอังกฤษ ในคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอารยธรรมนั้น คำว่า “มีอารยธรรม” เราใช้กันว่า civilized ซึ่งมีบางท่านหาคำไทยมาใช้เลียนเสียงว่า ศรีวิไล

ที่จริง ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า civilized นี้มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า city ที่แปลว่าเมือง ฉะนั้น ที่ว่า civilized ก็คือ กลายจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เมืองนั่นเอง

จึงต้องรู้เข้าใจว่า ศัพท์ฝรั่งว่า civilized ที่แปลว่ามีอารยธรรมนั้น ที่จริงแปลว่า “กลายเป็นสัตว์เมือง” คือ คนนั้นได้กลายจากสัตว์ป่า เป็นสัตว์เมือง

แต่ความเป็นสัตว์เมืองนั้น ไม่เป็นหลักประกันว่าจะเป็นสัตว์ที่ดี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยก่อนในตอนแรกๆ เมื่อศัพท์ว่า civilization เข้ามา ไม่ได้แปลว่า “อารยธรรม”

เราเคยแปลว่าอะไรทราบไหม คำว่า civilization นั้นเข้ามาเมืองไทยสมัยแรกเราแปลว่า “นาครธรรม” ซึ่งตรงความหมายที่แท้ เพราะนาครธรรม แปลว่าธรรมของคนเมือง (นาคร แปลว่าชาวเมือง) แสดงว่าท่านผู้คิดคำแปลนั้นได้ดูจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษ

ในเมื่อ civilized แปลว่า ทำให้กลายจากสัตว์ป่าหรือคนป่ามาเป็นคนเมืองหรือเป็นสัตว์เมือง คำว่า “อารยธรรม” จึงสูงกว่า civilization ที่เป็น “นาครธรรม”

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคนให้เจริญขึ้นมาจาก civilization คือจากความเป็นสัตว์เมือง ที่มีนาครธรรม มาเป็นมนุษย์ประเสริฐ ผู้มีอารยธรรม อีกทีหนึ่ง

อารยธรรมนั้น แปลว่าธรรมของสัตว์ที่ประเสริฐ “อารยะ” แปลว่า ประเสริฐ เป็นศัพท์สันสกฤต ภาษาบาลีว่า “อริย” เช่นในคำว่า อริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น

อริยะ/อารยะ แปลว่า ไกลจากกิเลส เมื่อไกลจากกิเลสจึงจะเป็นอารยชน

เวลานี้ คนมีนาครธรรม ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่า จะมีอารยธรรม ต้องขยับอีกขั้นหนึ่ง โดยพัฒนามนุษย์ให้เป็นอารยชนที่มีอารยธรรม เมื่อทำให้คนมีอารยธรรมได้แล้ว เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จ ทำให้มนุษย์อยู่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีสันติอย่างแท้จริง

อาตมภาพได้พูดมาเป็นเวลายาวนาน เกินเวลามานานแล้ว เตรียมจะยุติการพูด พอดีไปเห็นในหนังสือเล่มหนึ่ง ไหนๆ จะจบแล้ว เลยเอามาแทรก

เมื่อกี้นี้เล่าเผลอข้ามไป คือ ที่บอกว่าการเที่ยวป่าล่าสัตว์ ไม่เฉพาะมีในเมืองฝรั่งเท่านั้น ในสังคมอินเดียก็มี

ในอินเดีย พระราชาก็ชอบออกป่าล่าสัตว์หาความสุขสำราญ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่นในชาดก เป็นต้น จนกระทั่งมาถึงช่วงพุทธกาลแล้ว จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกหลังพุทธกาลก็มี แต่เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าอโศก ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อกี้เล่าข้ามตรงนี้ไป

พระเจ้าอโศกนั้น เป็นพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนจากการนิยมทำศึกสงครามมานับถือธรรม และประกาศนโยบาย ธรรมวิชัย

ในนโยบายธรรมวิชัยนี้ ปฏิบัติการทางธรรมอย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกทรงริเริ่มขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงการเที่ยวหาความสนุกจากการล่าสัตว์ มาเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นอารยธรรมอย่างแท้จริง จึงขอนำเอามาแทรกตอนจบ

ความโดยสรุปมีว่า ในอินเดีย พระราชาได้ล่าสัตว์กันมา จนกระทั่งพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จอุบัติขึ้น และหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงริเริ่มประเพณีใหม่ขึ้นมา แต่ก็ทำได้เฉพาะรุ่นพระองค์ ต่อมาราชารุ่นหลังก็คงไม่เอาด้วย

เรื่องนี้ พระองค์ได้โปรดให้จารึกไว้ในหลักศิลาจารึกอโศก เป็นจารึกฉบับที่ ๘ มีข้อความดังต่อไปนี้ โยมฟังดูแล้วจะเข้าใจว่า พระเจ้าอโศกได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างไร จารึกฉบับที่ ๘ ว่าดังนี้

“ตลอดกาลยาวนานที่ล่วงผ่านไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งหลายได้เสด็จไปในการวิหารยาตรา คือการท่องเที่ยวหาความสำราญ ในวิหารยาตรานั้น ได้มีการล่าสัตว์และการสนุกสนานหาความสุขสำราญอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (คือพระเจ้าอโศกมหาราช) เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๐ พรรษา ได้เสด็จไปสู่พระศรีมหาโพธิ์ สถานที่บรรลุสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงได้เกิดมี ธรรมยาตรา คือการท่องเที่ยวโดยทางธรรมนี้ขึ้น

ในธรรมยาตรานั้น ย่อมมีกิจดังต่อไปนี้ คือ การเยี่ยมเยียนสมณพราหมณ์ และพระสงฆ์ การเยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าผู้สูงอายุ และพระราชทานเงินทองแก่ผู้เฒ่าเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท การสั่งสอนและซักถามปัญหาธรรมแก่กัน

ความพึงพอใจอันเกิดจากการกระทำเช่นนั้น ย่อมมีเป็นอันมาก นับเป็นโชคลาภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง”

นี้คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงริเริ่มไว้ เป็นการเปลี่ยนจากการล่าสัตว์ ที่เป็นวิหารยาตรา คือพักผ่อนหาความสนุกสนานบันเทิง มาเป็นธรรมยาตรา

ในตอนที่อาตมาได้อ่านจารึกพระเจ้าอโศกนี้ ครั้งแรกก็นึกถึงเมืองไทย โดยนึกถึงในหลวงและคนไทยทันที ว่าพระองค์ก็เสด็จในทำนองนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธรรมยาตรา เพราะในหลวงของเราเสด็จไปในถิ่นชนบททั่วแว่นแคว้น เสด็จไปหาราษฎร ไปเยี่ยมเยียน ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านชาวป่าชาวเขา ไม่ได้เสด็จไปหาความสุขสำราญ

แทนที่จะไปพักผ่อนหาความสนุก โดยปรึกษากันว่าวันนี้คราวนี้จะไปสนุกอะไรกันที่ไหน ก็มาปรึกษาหารือถามกันว่า มีปัญหาอะไรที่เราจะช่วยประชาชนแก้ไข จะสร้างสรรค์อะไรให้เกิดความสุขความร่มเย็นเจริญงอกงามได้บ้าง การเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างนี้ คือ ธรรมยาตรา

ในหลวงของเราได้ทรงมีพระราชจริยวัตรอย่างนี้ จึงได้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาราษฎร์

วันนี้ เราทั้งหลายได้มาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เป็นการร่วมถวายพระเกียรติแก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงมีพระราชจริยวัตรเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส นับว่าเป็นการร่วมบุญร่วมกุศลกับพระองค์ด้วย

กิจกรรมที่มาทำกันในวันนี้ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ เพราะฉะนั้น การที่ญาติโยมเดินทางมาวันนี้ก็จึงถือว่า ได้มาใน ธรรมยาตรา แล้ว และขอถือเอาพระราชวาทะว่าด้วยธรรมยาตราของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นคำปิดรายการครั้งนี้

ขออนุโมทนาญาติโยม ในการที่ได้มาบำเพ็ญประโยชน์สร้างสรรค์ประเทศชาติของเรา ให้มีป่าที่เจริญงอกงาม จะได้เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลาย พร้อมทั้งประชาชนก็จะได้มาอาศัยให้เกิดความรื่นรมย์และร่มเย็นสืบต่อไป

ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย รักษาให้โยมญาติมิตร เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย และมีความร่มเย็นงอกงามในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง