คนไทยกับสัตว์ป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดูเขาดงยางเป็นตัวอย่าง
ก็พอเห็นว่าสัตว์ป่าไปไหน

ป่าที่เขาดงยางนี้ความจริงเป็นป่าเก่า การที่เรามาปลูกกันครั้งนี้ เท่ากับมารื้อฟื้นของเดิม

ได้ยินว่า เมื่อก่อนนั้น เขานี้ พร้อมทั้งบริเวณโดยรอบ เป็นป่าดงดิบทึบใหญ่มาก ถอยหลังไปแค่สัก ๔๐ ปี ยังมีเสือ มีช้าง เฉพาะบนเขานี้เอง ลุงเถาะซึ่งเฝ้าอยู่ที่นี่ อายุตอนนี้ ๗๐ ปีเศษ เล่าว่าเมื่อตอนหนุ่มๆ ถอยหลังไป อย่างที่ว่าเมื่อกี้ประมาณ ๔๐ ปี เวลาเย็นๆ มีฝูงวัวแดงลงมาตามข้างเขาเพื่อกินน้ำกัน แสดงถึงสภาพของสถานที่บริเวณนี้ที่เป็นป่าเก่า

แต่สภาพป่านั้นได้หมดไปอย่างรวดเร็ว มีการทำลายโดยการหักร้างถางพง ทำไร่ไถนา และทำสวนกันหมด ปัจจุบันนี้ บริเวณรอบเขานี้ไม่เห็นป่าเลย ป่าเหลืออยู่บ้างแต่บนเขา ซึ่งเป็นป่าเล็กๆ

ความจริงตัวป่าเองแท้ๆ หมดไปแล้ว ส่วนที่เห็นนี้เป็นไม้รุ่นหลังที่เกิดงอกขึ้นมาใหม่ และเหลืออยู่เฉพาะบริเวณที่เรียกว่าเป็นป่าเล็กๆ อย่างที่ว่าแล้ว

ธรรมดาป่า ย่อมคู่กับสัตว์ป่า ที่ไหนมีป่า ก็ย่อมมีสัตว์ป่า ที่ไหนมีสัตว์ป่า ก็ต้องมีป่า แต่ป่าที่นี่แทบจะไม่มีสัตว์ป่าเลย ถ้าจะมีอยู่บ้างก็คือนก นอกจากนกก็มีไก่ป่า ซึ่งยังได้ยินเสียงขันบ้าง ตอนนี้ญาติโยมเอาไก่บ้านมาปล่อยมาก ก็เลยมีทั้งไก่ป่าและไก่บ้าน ขันกันทั้งวัน

นอกจากนั้นก็คงมีงู ซึ่งพอมีให้พบเห็นได้เรื่อยๆ เคยเดินไปเจองูกะปะ งูแมวเซาก็มี นอกจากนี้ที่ไม่มีพิษหรือมีพิษน้อยก็มีบ้าง อย่างงูเขียว และงูสิงห์ เป็นต้น งูเหลือมใหญ่ๆ ก็มี บางครั้งมากินไก่ ลิงก็มีสักตัวสองตัว ตอนนี้จะเหลืออยู่หรือไม่ก็ไม่แน่ใจ มันเคยลงมาแล้วลักกินพวกพืช เช่นฟักทอง ที่ญาติโยมปลูกไว้

สัตว์ป่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระต่ายป่า เมื่อสัก ๔-๕ ปีก่อนได้ยินว่ามีบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่ได้เห็นร่องรอยเลย สงสัยว่าจะหมดไปแล้ว เพราะคนมายิงเอาไปกิน

เวลานี้มีป่า แต่ไม่จำเป็นต้องมีสัตว์ป่า เพราะว่าสัตว์ป่าถูกทำลาย ถูกคนกำจัดหมดไป

อาตมาไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่าเท่าไร วันนี้ทางคณะผู้ดำเนินการขอให้พูดเรื่อง “คนไทยกับสัตว์ป่า”

ญาติโยมมาปลูกป่า แต่ให้พูดเรื่องสัตว์ป่า ท่านที่มาปลูกป่านั้นคือ สัตวแพทยสมาคมฯ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสัตว์ เป็นผู้มีความรู้เรื่องสัตว์ เมื่อมาปลูกป่าก็นึกถึงสัตว์ป่า ก็คงอยากจะให้มีสัตว์ป่าคู่กับป่า จึงขอให้พูดเรื่องนี้

แต่ก็อย่างที่ว่าแล้ว อาตมาไม่ค่อยรู้เลยเรื่องสัตว์ป่า คงจะพูดได้แต่ในแง่ที่ว่า เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อทำให้มีสัตว์ป่าเหลืออยู่ต่อไป หรือเพิ่มขึ้นมา แต่เมื่อไม่ค่อยมีสัตว์ป่าให้เหลือไว้ อาตมาก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า

ทีนี้ ที่ว่าสัตว์ป่าหมดไปนั้น เพราะอะไร สัตว์ป่าหมดไปด้วยเหตุสำคัญ

ประการที่ ๑ ก็คือ คนไปล่า บ้างก็ล่าเป็นอาหารโดยตรง โดยเฉพาะชาวบ้านที่มายิงสัตว์ป่ากัน ทั้งที่สัตว์ป่าเหลือน้อยอยู่แล้ว บางทีบนยอดเขาก็มีปลอกกระสุนตกอยู่ ซึ่งแสดงว่าชาวบ้านมาล่าสัตว์เอาไปเป็นอาหาร

ประการที่ ๒ คือคนมาทำลายป่า โดยที่จะเอาไม้ไปก่อสร้าง อย่างน้อยก็เอาไปทำฟืน หรือเอาไปเผาถ่าน หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ คนขยายที่ทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นเหตุให้ป่าหมดไป เมื่อป่าหมดไปสัตว์ป่าก็ไม่มีที่อาศัย สัตว์ป่าก็ย่อมหมดไปด้วย

จึงกลายเป็นว่า สัตว์ป่าหมดไปโดยตรง จากการที่ตัวมันเองถูกล่าบ้าง และหมดไปโดยทางอ้อม เนื่องจากที่อยู่อาศัยของมัน คือป่าหมดไป มันจึงไม่มีที่จะอยู่ รวมเป็น ๒ ประการ

ป่าที่นี่ แม้จะเกือบหมดไปแล้วก็ตาม แต่สัก ๔-๕ ปีมานี้ ได้ฟื้นฟูขึ้นมาบ้าง เหตุที่ฟื้นตัวขึ้นมาก็เพราะปัจจัยอย่างแรก คือ ญาติโยมขอร้อง และชาวบ้านก็ได้ร่วมมือ ในเรื่องการเลิกเผาถ่าน

ก่อนที่พระจะมาอยู่ เมื่อ ๖-๗ ปีก่อน มีการเผาถ่าน การเผาถ่านนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แม้มีไม่กี่คนเผาถ่าน แต่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ ต้องตัดทีละหลายต้น แม้แต่ตัดทีละต้นมันก็ขึ้นไม่ทัน เพราะฉะนั้นก็มีแต่จะหมดไป ป่าจึงโหรงเหรงลงไปทุกที

พอชาวบ้านร่วมมือ ปรากฏว่าต้นไม้ก็ขึ้นงอกงาม และทึบขึ้นมาก ชักจะหนาแน่นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความร่วมมือของชาวบ้าน ซึ่งน่าอนุโมทนา

ปัจจัยเสริมสร้างอย่างที่ ๒ ก็คือ ฝ่ายบ้านเมือง โดยเฉพาะฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่น ที่มีความเอาใจใส่เพิ่มขึ้น และได้มาช่วยกันห้าม มาช่วยกันป้องกัน ไม่ให้คนมาเผาป่า ไม่ให้คนมาล่าสัตว์ ในส่วนนี้ก็เป็นปัจจัยในด้านเสริมสร้าง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการทำลายอยู่เหมือนกัน เช่น ในหน้าแล้งราวเดือนห้า ยังมีการเผาป่ากันอยู่บ้าง ซึ่งบางทีก็น่าตกใจ ไฟไหม้เป็นทางยาวเป็นกิโลเมตร บางครั้งพระที่วัดก็ไปยืนดู กลัวจะลุกลามมาถึงวัด

ไฟที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทราบว่าเนื่องจากเมื่อมีชาวบ้านมาดักจับสัตว์ บางทีเขาก็ใช้วิธีเผาไฟดักหรือล้อมไว้ เพื่อให้สัตว์หนีไม่ได้ เสร็จแล้วก็กลายเป็นการทำลายทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งทำลายสัตว์ป่า และทำลายป่าไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าหมดไปเรื่อยๆ

ตอนนี้ เมื่อกำนัน และผู้ใหญ่บ้านเป็นต้น เอาใจใส่ดูแล ก็เป็นส่วนดีงาม ที่จะช่วยให้ป่านี้ฟื้นตัวขึ้นมา

ปัจจัยประการที่ ๓ ก็คือการปลูกป่าเพิ่มเติม อย่างที่ปลูกกันในวันนี้ โดยเฉพาะ ในการที่อาจารย์ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ได้ประสานงานให้มีการมาช่วยกันปลูกเป็นครั้งใหญ่ ๓-๔ ครั้งแล้ว

ครั้งที่แล้วก็ปลูกในพื้นที่ติดต่อกันกับที่ปลูกในวันนี้ คือปลูกมาแล้วถึง ๔๐ กว่าไร่ คราวที่แล้วได้ทราบว่าปลูกตั้งหมื่นต้น วันนี้คิดว่า ถ้าดินฟ้าอากาศช่วย ก็คงจะเจริญงอกงามดี

แต่เราก็มีอุปสรรคสำคัญ คือ ต้องยอมรับความจริงว่า บริเวณนี้แห้งแล้งมาก โยมมาตอนนี้เป็นฤดูฝน มีฝนบ้างแล้ว ที่จริงฝนก็ไม่มาก ที่นี่ฝนไม่ชุกเลย ยิ่งถ้ามาหน้าแล้ง จะแห้งแล้งมาก ใบไม้จะร่วงหล่น โหรงเหรงหมด จนป่านี้โกร๋น

ต้นไม้บางทีปลูกแล้วก็ทนไม่ไหว อย่างทางด้านบนเขา ห่างจากนี่ไปนิดหน่อย ใกล้ศาลาที่เรียกว่าสายใจธรรม อาจารย์ ดร.สุรีย์ ได้ร่วมมือกันกับท่านที่มีจิตศรัทธามาปลูกต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดไว้ โดยเอาต้นโตๆ มาปลูกไว้ ปลูกกันเมื่อปีก่อนโน้น แต่เมื่อผ่านแล้งปีที่แล้วทนไม่ไหว ตายไปหลายต้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ในส่วนที่เราปลูกกันนี้ ก็ต้องบำรุงรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งต้องขออนุโมทนาคุณประจวบ แห่งสวนป่าลาดกระทิง ที่มาเอาใจใส่ดูแลอยู่เรื่อย

ต้องยอมรับความจริงว่า ธรรมชาติแวดล้อมที่นี่ไม่อำนวย ความแห้งแล้งเป็นอุปสรรคสำคัญ เป็นอันว่า มีปัจจัยทั้งฝ่ายส่งเสริม และฝ่ายตัดรอน ป่าของเราจะมีชะตากรรมอย่างไร ก็ต้องดูกันต่อไป

เขาดงยางนี้ อาจารย์ ดร.สุรีย์ บอกว่าเป็น ๑ ในบรรดา ๓๔ เขาของจังหวัดฉะเชิงเทรา หมายความว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเขาอย่างนี้ ๓๔ เขา และใน ๓๔ เขานี้ เขานี้มีป่าที่งอกงามที่สุด

ขอให้นึกดูกันว่า ขนาดป่าที่ว่าดีที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในบรรดาป่าแห่งเขา ๓๔ ลูก ดีที่สุดยังเป็นอย่างนี้แล้ว ที่อื่นจะเป็นอย่างไร และไม่เฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้จังหวัดอื่นในประเทศไทยก็คงเป็นอย่างนี้

นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาบอกว่า เขาดงยางที่ญาติโยมนั่งกันอยู่นี้ เป็นเขาลูกที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่ควรทราบไว้ด้วย

วันนี้เรามาปลูกต้นไม้กันที่ภูเขาที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด หมายความว่าจากกรุงเทพฯ เราอาจไปทางสระบุรี และโคราช เป็นต้น เมื่อวัดไปรอบกรุงเทพฯ ก็มาเจอเขานี้ใกล้ที่สุด

ทางป่าไม้เคยบอกว่า มีโครงการจะมาปลูกต้นไม้ บำรุงที่นี้ให้เขานี้ได้มีป่าที่งดงาม นี่ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าในประเทศไทยนี้

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง