พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

รู้สถานะของสังคม เตรียมรับมือโลกาภิวัตน์

ที่นี้เรามาพูดถึงเรื่องของยุคสมัยก่อนว่า เวลานี้เป็นยุคสมัยที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะคราว แต่เป็นสภาพปัจจุบัน โลกาภิวัตน์นี้มีสภาพปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือว่าปัญหาเรื่องราวอะไรที่เป็นโลกาภิวัตน์อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเราอยู่ในสภาพการณ์นั้นเราจะมีสถานะสองแบบ ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตหรือเป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นว่า เราเป็นผู้มีการศึกษาที่พร้อมจะจัดการแก้ไขปัญหานำทางสังคมได้หรือไม่ ดูว่าสถานะของเราหรือสังคมของเรา ซึ่งอาจจะเป็นสังคมไทยนี่แหละ ว่าอยู่ในสถานะอะไร เป็นสถานะที่เป็นฝ่ายรับหรือเป็นฝ่ายให้ เป็นผู้ตามหรือเป็นผู้นำ เป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ

ลองพิจารณาดูที่สังคมของเรานี้ กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา และเป็นไปต่างๆ เราคอยรับคอยตาม เราถูกกระทำหรือเป็นผู้กระทำ เราเป็นผู้สร้างและเป็นผู้นำหรือไม่ อันนี้เป็นสถานะที่สำคัญ ถ้าสถานะของเรายังอยู่ในฝ่ายเป็นผู้ตาม ผู้รับ และถูกกระทำ ก็แสดงว่าน่ากลัว เช่น น่ากลัวว่าเราจะไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่อารยธรรมมนุษย์ไม่ได้ อย่างน้อยการศึกษาของเราคงจะช่วยสังคมไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ตอนนี้ เพื่อจะให้รู้สถานะเป็นอย่างน้อย ตลอดจนกระทั่งถ้าสามารถก็เข้าไปแก้ปัญหาของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ได้ด้วย

๑. ต้องมีความสำนึกรู้ อย่างน้อยสำนึกรู้ถึงสถานะของตนว่า สังคมของเราขณะนี้อยู่ในฐานะเป็นอะไร เป็นผู้รับ ผู้ตาม ผู้ถูกกระทำ หรือว่าเป็นผู้นำ ผู้ให้ และผู้กระทำ

๒. เมื่อสำนึกรู้สถานะขึ้นมาแล้ว ก็รู้เท่าทัน รู้ให้เข้าถึงความจริงของสภาพโลกาภิวัตน์ว่า สภาพโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่นี้มันศรีวิไล หรือเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ดีหรือร้าย มีผลดีหรือเสีย แล้วต่อจากนั้น พอรู้เข้าใจถึงความจริงแล้ว

๓. ต้องมีความสามารถในการปรับตัว การปรับตัวเรามักจะมองแค่ว่าให้เข้ากับสภาพนั้นได้ หรืออยู่กับมันได้อย่างดี คือ แม้ว่ามันจะร้าย เราก็ปรับตัวให้อยู่ได้ดีที่สุดในสภาพอย่างนั้น แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราจะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือขั้นที่สามารถเป็นผู้กระทำต่อมัน เป็นผู้กระทำต่อสภาพโลกาภิวัตน์นั้น เป็นผู้เปลี่ยนแปลงก็ได้ เป็นผู้ทำมันขึ้นมาใหม่ก็ได้ นี่แหละคือผู้สร้างสรรค์ที่แท้จริง

การศึกษาที่ทำได้ถึงขนาดนี้คือการศึกษาที่เข้าถึงความจริงแท้และประสบความสำเร็จ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นเรื่องที่จะต้องสำรวจพิจารณาตนเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง