พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นำกลับสู่หลักการแท้ของประชาธิปไตย

ในเรื่องประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เมื่อกี้ได้พูดมาแล้วว่า ในสังคมที่โยงเอาประชาธิปไตยไปเป็นอันเดียวกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมระบบผลประโยชน์ที่มุ่งแข่งขัน (competition) นั้น ความหมายของคำแสดงหลักความคิด (concept) สำคัญๆ จะค่อยๆ เอียงดิ่งไปข้างเดียวภายใต้อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจนั้นโดยไม่รู้ตัว ขณะนี้ในสังคมอเมริกันและสังคมประชาธิปไตยทั่วๆ ไปจะเป็นอย่างนี้กันมากแล้ว กล่าวคือ ความหมายของเสรีภาพ และความเสมอภาค จะเป็นความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งช่วงชิงมากขึ้น

เสรีภาพ นี้คนเข้าใจอย่างไร เริ่มต้นคนมักมองเสรีภาพในความหมายว่าเป็นการทำได้ตามชอบใจ ในสังคมที่พัฒนาแล้วก็ต้องมีคำจำกัดขอบเขตเข้ามา กล่าวคือ เสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจต้องมีขอบเขต ถ้าไม่มีขอบเขตสังคมก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นจึงบอกว่าเสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น นี่ก็คือลัทธิที่มาในแนวทางเดียวกับสิทธิมนุษยชน (human rights) คือแนวความคิดแบบแบ่งแยก หรือปกป้องตัวเอง หรือไม่ก็ต้องใช้คำจำกัดความใหม่ว่า เสรีภาพคือการทำได้ตามใจชอบภายในขอบเขตของกฎหมาย เสรีภาพแบบนี้ให้ความรู้สึกเชิงบีบคั้นบังคับ เมื่อมีความเข้าใจตื้นๆ อย่างนี้ ในสังคมที่พัฒนาประชาธิปไตยไม่เพียงพอ ประชาชนเข้าใจเสรีภาพคลุมเครือก็ตื่นในการทำได้ตามชอบใจ

การเข้าใจความหมายอย่างนี้จะขัดแย้งกับการพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตย เช่น วินัย เพราะวินัยนั้นคือการที่บุคคลจะต้องยอมอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์กติกาของสังคม หลักการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยคือการเคารพกฎหมาย กฎหมายในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่จำกัดเสรีภาพ เป็นตัวกรอบขอบเขต วินัยทำให้คนพอใจที่จะอยู่ในข้อจำกัดหรือขอบเขตนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้สร้างวินัย และหากประชาชนตื่นในเสรีภาพและเข้าใจความหมายของเสรีภาพแบบนี้ ก็สร้างวินัยยาก กลายเป็นว่าองค์ประกอบของประชาธิปไตยเป็นตัวการขัดขวางกันเอง กลายเป็นว่า เพราะต้องการเสรีภาพก็เลยทำให้คนไม่มีวินัย เวลานี้ในสังคมไทยกำลังประสบปัญหานี้มาก เพราะไปเน้นเรื่องเสรีภาพ หรือคนไปตื่นเสรีภาพจนกระทั่งมองข้ามองค์ประกอบด้านวินัย เพราะเราไม่ได้สร้างวินัยเป็นพื้นฐานมาก่อน กลายเป็นว่าเสรีภาพนี่แหละเมื่อใช้ไม่ถูกต้องก็กลายเป็นตัวขัดขวางวินัย ซึ่งก็คือขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างความเข้าใจให้ถูก

เสรีภาพก็มีดุลยภาพเช่นเดียวกัน ถ้าพูดแบบภาษารูปธรรมให้เข้าใจง่าย คือมีเสรีภาพในการได้และเสรีภาพในการให้เป็นคู่กัน คนไม่ค่อยคิดถึงเสรีภาพในการให้และคิดถึงแต่เสรีภาพในการได้ว่า ฉันจะต้องได้นั่น ฉันจะต้องได้นี่ ฉันจะเอานั่นฉันต้องได้ซิ ใช่ไหม ที่จริงนั้นเสรีภาพแบบจะได้จะเอานี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นและเป็นเพียงด้านประกอบ ไม่ใช่ส่วนสำคัญ เป็นเพียงส่วนที่จะช่วยให้บุคคลนั้นดำรงตนอยู่ได้โดยเป็นที่ยอมรับ แต่เสรีภาพที่เป็นความมุ่งประสงค์ที่แท้ของความเป็นประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการให้

เสรีภาพในการให้เป็นอย่างไร ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เราถือว่าดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ให้ความมั่นใจได้มากที่สุดว่าจะช่วยให้สังคมนี้อยู่กันด้วยดี มีความเจริญมั่นคงและสันติสุข สังคมอย่างนี้จะต้องให้บุคคลที่เป็นสมาชิกช่วยกันสร้างสรรค์ แต่เราจะมีสังคมประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้ ประชาธิปไตยจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่มุ่งหมาย ถ้าประชาชนไม่สามารถนำเอาศักยภาพที่มีอยู่ของตนๆ ออกมาใช้ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ได้ ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น คนผู้เดียวกำกับ หรือหมู่คณะกำกับกีดกั้นเสรีภาพ ทำให้คนที่มีความคิด มีสติปัญญา มีความสามารถ ไม่สามารถแสดงความคิด ความรู้ ความสามารถของตนออกมา ทำให้ไม่สามารถเอาศักยภาพ ความสามารถ ความรู้ และสติปัญญาของตนนั้นออกมาให้แก่สังคมได้ พูดง่ายๆ ก็คือไม่สามารถให้ความสามารถของตนเองแก่สังคม สังคมก็ไม่สามารถได้ประโยชน์จากศักยภาพของเขา ประชาธิปไตยก็ไม่สำเร็จผล เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องการเสรีภาพอันนี้

เสรีภาพคือช่องทางที่จะให้ศักยภาพของบุคคลแต่ละคนออกมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม ถ้าสังคมใดจำกัดเสรีภาพ ความสามารถ สติปัญญา และศักยภาพที่ดีของบุคคลก็กลายเป็นหมันไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องการเสรีภาพ นี่คือตัวแท้ตัวจริงของประชาธิปไตย ซึ่งมุ่งหวังสร้างสรรค์สังคม ที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ก็หมายถึงการที่ประชาชนทุกคนควรจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น เสรีภาพในการให้ คือเสรีภาพในการที่จะเอาความสามารถของตนออกมาสร้างสรรค์สังคม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งและเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยมากกว่าเสรีภาพในการได้ แต่เวลานี้เสรีภาพในการให้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากกำลังถูกลืม คนหันไปเน้นความอยากได้อยากเอา อยากจะแข่งขันแย่งผลประโยชน์แบบทุนนิยม ดีไม่ดีสังคมประชาธิปไตยก็จะไปไม่รอด กลายเป็นเสรีภาพของนักเสพ ไม่ใช่เสรีภาพของนักสร้างสรรค์

ความเสมอภาคก็เช่นเดียวกัน ความเสมอภาคในระบบที่ผิด ก็จะโน้มเอียงไปในทางแบ่งแยกแก่งแย่ง แข่งขัน ช่วงชิงกัน คุณได้ ๑๐ ฉันต้องได้ ๑๐ ด้วย คุณได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ เหมือนกัน นี่คือความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคแบบนี้เป็นความเสมอภาคที่มองด้านเดียวคือ ด้านช่วงชิงผลประโยชน์ จะได้จะเอา ถ้าเรามีความเข้าใจความหมายของความเสมอภาคด้านเดียว สังคมจะเสียดุลยภาพอีก และไปไม่รอด

ความเสมอภาคที่แท้มีความหมายที่สำคัญคือเป็นความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมและเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความเสมอภาคที่มีการให้ หมายความว่ามีด้านให้เป็นหลักและมีด้านเอาเป็นส่วนประกอบ

ในการมีส่วนร่วม พระพุทธศาสนามีคำหนึ่งที่ใช้แสดงความเสมอภาค ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกัน เรียกว่า สมานัตตตา แปลว่าความมีตนเสมอ จะสังเกตเห็นว่าคำว่าเสมอนี้ในภาษาบาลีใช้ว่า สมานะ เข้ามาในภาษาไทยเป็น สมาน คำว่า สมาน ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่าอย่างไร ใช้ในแง่ว่าประสานกลมกลืนกัน แสดงว่าความหมายของเสมอนั้น นัยที่แฝงอยู่เดิมต้องการในเชิงสมาน เป็นการเสมอที่สมาน คือมากลมกลืนเข้าด้วยกัน โดยเข้ามามีส่วนร่วมรวมกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ความหมายของความเสมอภาคในสมานัตตตา (ความมีตนเสมอ) นั้นว่า “เสมอในสุขและทุกข์” หมายความว่า มีสุขก็สุขร่วมกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ร่วมกัน เสมอกันเท่ากัน อย่างนี้ไม่ใช่แย่งชิงแล้วเพราะใจมุ่งไปในทางประสาน ถ้าเขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย เสมอกันเท่ากันโดย ร่วมสุขสันติ์ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่กลัวเสียเปรียบเขาคอยจะเอาให้เท่ากัน จะเห็นว่าความคิดความรู้สึกต่างกันไปเลย

เพราะฉะนั้นความเสมอภาคนี้ต้องคิดพิจารณาให้ดี มันมีนัยที่แฝงอยู่ว่าเสมอในสุขและทุกข์ ซึ่งแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ เป็นอันว่าคำว่าเสมอมีความหมายที่ต้องการคือ เสมอในเชิงประสาน รวมเข้าด้วยกัน หรือมีส่วนร่วม ให้นึกถึงคำว่า สมาน

ได้พูดไปแล้วว่า เวลานี้หลักที่ ๓ คือภราดรภาพ ในสังคมประชาธิปไตยนี้ กำลังทรุดลงไปทุกที เพราะมนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะเข้าใจความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคในทางแบ่งแยกช่วงชิง จึงทำให้ภราดรภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างที่บอกแล้วว่าสังคมอเมริกันเป็นตัวอย่างที่ว่า ความแบ่งแยกได้กำลังทำลายสังคมมากขึ้นทุกที จนเขาต้องโอดครวญว่าเบ้าหลอม (melting pot) แตกไปแล้ว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง