พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาคนอย่างแท้ ได้ทั้งคุณธรรมและความสุข

ตัวอย่างที่สอง คือ ตอนแรกมนุษย์ทั่วไปมีความต้องการในการเสพวัตถุ ถือว่าถ้าได้เสพวัตถุก็จะเกิดความพึงพอใจมีความสุขขึ้น ดังจะเห็นว่าหัวใจหรือหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจอยู่ที่การสนองความต้องการ (ในการบริโภค) อันนี้เป็นจุดที่เศรษฐศาสตร์ตัน เพราะไปถือว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ได้มองว่าความต้องการของมนุษย์พัฒนาได้

เราพัฒนาความต้องการของมนุษย์อย่างไร เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า เมื่อเราสัมพันธ์กับวัตถุ วิถีชีวิตและระบบสังคมจะชักนำตลอด จนหล่อหลอมสภาพจิตใจของเราให้มีท่าทีความรู้สึกต่อวัตถุตามอิทธิพลของมัน ดังนั้นในสังคมระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่มุ่งเสพวัตถุ สภาพจิตมนุษย์ ตลอดจนระบบการดำเนินชีวิตของคนก็จะเน้นการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุในแง่ที่จะได้จะเอา เมื่อกี้นี้พูดไปแล้วว่าพอคนคิดถึงวัตถุในแง่จะได้ สภาพจิตที่เกิดขึ้นคือการมองเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ

ต่อมาพอเราช่วยให้มนุษย์ฝึกตนโดยเรียนรู้ว่าชีวิตจะมีดุลยภาพ สังคมจะมีดุลยภาพ มนุษย์จะเอาแต่การได้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการให้ด้วย ดังจะเห็นว่าในพุทธศาสนาหลักการฝึกมนุษย์ข้อแรก คือการให้ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าหลักธรรมเบื้องต้นคือ ทาน เพราะอะไร เพราะการที่จะให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่มีดุลยภาพนั้น เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตมนุษย์นี่ก่อนอะไรอื่นก็ยุ่งกับวัตถุในลักษณะที่จะได้จะเอา จึงต้องให้มีการให้คู่กันไปด้วย

การให้นั้น ถ้าคิดให้โดยไม่มีแรงจูงใจอื่นมาแฝง เช่นคิดหวังผลตอบแทน เอาแค่คิดจะให้ ได้บอกแล้วว่าพอเราคิดจะให้ จิตของเราจะไปอยู่ที่คน พอจิตของเราไปอยู่ที่คนเราก็สนใจคน เราก็มองหน้ามองตาเขา สนใจสุขทุกข์ของเขา และสนใจความต้องการของเขา ซึ่งทำให้เราเข้าใจชีวิตของเขา มองเห็นสุขทุกข์ของเขา และเกิดความเห็นอกเห็นใจ มีความสงสารเกิดขึ้น เป็นด้านหนึ่งของความรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เรียกว่า “กรุณา” หรือ “การุณย์” นี่ก็คือความต้องการใหม่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว คือ ความต้องการให้เขาพ้นจากสภาพที่เป็นทุกข์ และต้องการให้เขาเกิดมีความสุข

พอเราเกิดความต้องการนี้ขึ้นมา เราก็ต้องสนอง และความต้องการมีเมื่อไร การได้สนองก็ทำให้เกิดความสุขเมื่อนั้น พอเราต้องการให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข เราก็ต้องการทำให้เขามีความสุข การให้เป็นการทำให้เขามีความสุข เราจึงต้องการจะให้ เพราะการให้แก่เขา เป็นการทำให้เขามีความสุข ดังนั้น เมื่อเราให้แก่เขา เราก็ได้สนองความต้องการของเราและเราก็เกิดความสุข

แต่ก่อนนี้มีความสุขจากการได้อย่างเดียว แต่ตอนนี้คนมีความสุขจากการให้ด้วย ด้วยการพัฒนามนุษย์ปั๊บเดียว มนุษย์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมีความสุขเพิ่มขึ้นและมีคุณธรรมเพิ่มขึ้นด้วย เพียงแต่ให้รู้จักตั้งจิตและรู้จักคิดจะให้เสียบ้าง พอคิดจะให้ปั้บ พฤติกรรมก็มาหนุน และคุณธรรมก็พัฒนาขึ้นมา เมตตากรุณาอันเป็นความรักต่อเพื่อนมนุษย์ก็เกิดขึ้น เป็นอันว่าความสุขอย่างใหม่ก็เกิดขึ้น คือมนุษย์มีความสุขในการให้ แต่ก่อนนี้มนุษย์มีความสุขอย่างเดียวจากการได้ แต่ตอนนี้มีความสุขจากการให้ด้วย

จะเห็นได้ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในทางดีนี้อยู่แล้ว เช่นพ่อแม่ก็สามารถมีความสุขจากการให้ เพราะมีความต้องการให้ลูกมีความสุข และเมื่อพ่อแม่สนองความต้องการนั้นก็ทำให้ตนเองมีความสุขด้วย และเราจะมีความสุขจากการสนองความต้องการอย่างใด เราก็ต้องพัฒนาความต้องการนั้นขึ้นมา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง