ข้อสังเกตต่อไปอีกอย่างหนึ่ง อาจจะใช้คำสั้นๆ ว่า “ไม่ครบวงจร”
ไม่ครบวงจรนี้หมายถึง การขาดความประสานสอดคล้องระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่จะส่งผลต่อเนื่องกันไปๆ จนกระทั่งครบวงจร
อะไรที่จะต่อเนื่องกันไปจนครบวงจร ขอยกตัวอย่างเช่นเรื่องของพฤติกรรม ที่เวลานี้เป็นจุดเน้นหรือเป็นสิ่งที่จิตวิทยาศึกษาพฤติกรรมนี้สัมพันธ์กับอะไร สัมพันธ์กับสภาพจิตใจ เช่น เจตนา แรงจูงใจ ทุกข์-สุข และคุณธรรม กับทั้งอีกด้านหนึ่ง คือเรื่องปัญญา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งที่ส่งผลต่อระบบชีวิตทั้งหมดของมนุษย์
จิตวิทยาเคยถึงกับมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย ไปแล้วมาระยะหนึ่งก็ได้เกิดการค้นพบว่า จิตกับกายนี่มีความสัมพันธ์ มีผลต่อกันมาก เราก็หันมาสนใจเรื่องจิตกับกายกันมาก แม้แต่ทางแพทย์ก็ให้ความสำคัญว่าเรื่องจิตและกายมีผลต่อกัน อะไรที่เกิดขึ้นทางจิตก็มีผลต่อกาย เช่นโรคภัยไข้เจ็บ หรือความเป็นไปทางร่างกายก็ส่งผลต่อจิต การที่เอาใจใส่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตจึงมีมากขึ้น
แต่ในทางพุทธศาสนาถือว่ามีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งคือ ปัญญา เรื่องความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบนี้
เรื่องของชีวิตมนุษย์ในด้านจิตใจนี้ เราไม่สามารถแยกออกจากชีวิตโดยองค์รวมของมนุษย์ คือ ตัวมนุษย์ทั้งหมด แต่จะต้องมองให้ครบตลอดสาย ทั้งเรื่องของพฤติกรรม เรื่องจิตใจ และเรื่องปัญญา ถ้าจิตวิทยาไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจจะเกิดภาวะที่ทำให้แหว่งวิ่นหรือไม่ตลอดสาย นี้ก็เป็นแง่หนึ่งซึ่งเป็นข้อสังเกตที่เดี๋ยวเราจะพูดกันอีก
ต่อไปอีกข้อหนึ่ง ก็คือ จิตวิทยาที่แยกตัวออกมาเป็นศาสตร์ที่มีความชำนาญพิเศษ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แล้วก็ด้วยการที่ตั้งฐานความคิดขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วก็อยู่ในระบบชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ บางทีโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะศึกษาจนมีความชำนาญพิเศษในเรื่องของเรา แต่เป็นไปได้ไหมว่า ต่อมาเรากลายเป็นเครื่องมือรับใช้ระบบชีวิตระบบสังคมมนุษย์แบบหนึ่ง หมายความว่า ระบบชีวิตมนุษย์และสังคมที่เป็นอยู่นี้เป็นอย่างไร จะถูกหรือผิดก็ตาม แต่จิตวิทยาได้กลายไปเป็นเครื่องมือรับใช้สนองความต้องการของระบบนั้นไปเสียแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำหน้าที่ในการช่วยปรับปรุงแก้ไขระบบนั้นน้อยไป คือไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวปรับแก้ แต่กลายเป็นตัวสนองหรือเครื่องรับใช้ไป
อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าจิตวิทยานี้ในแง่หนึ่งก็เป็นศาสตร์ คือเป็นศาสตร์ที่ศึกษาหาความจริงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มาเป็นอาชีพที่มีปฏิบัติการในเรื่องจิตวิทยา เราต้องการให้จิตวิทยามีความเป็นอิสระ มีความบริสุทธิ์ จึงใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ในการศึกษา แต่เวลาเราเอาจิตวิทยามาใช้ประโยชน์ เราก็เอามาใช้สนองความต้องการของมนุษย์ คือ ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมมนุษย์ แต่มันมีแง่มุมของแนวโน้มที่เป็นไปในทางสนองความต้องการของคน ซึ่งเป็นการสนองใน ๒ ระดับ
การสนองความต้องการของคนนี้ อาจจะสนองในระดับแนวคิดใหญ่ของระบบสังคม เช่น อารยธรรม ซึ่งเมื่อจิตวิทยาไปสนองความต้องการนั้นแล้ว จิตวิทยาก็กลายเป็นเครื่องมือสนองระบบความคิด ที่ครอบงำกระแสอารยธรรมนั้นอยู่ หมายความว่า ระบบอารยธรรมปัจจุบันของตะวันตกนี้ มีแนวคิดพื้นฐานครอบงำอยู่แล้ว เมื่อจิตวิทยาไปอยู่ในระบบของอารยธรรมนั้น จิตวิทยาก็จะพัฒนาตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งในแนวคิดทั่วไป และในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสนองแนวคิดที่อยู่ภายใต้ความครอบงำของระบบอารยธรรมนั้น ทำให้จิตวิทยาไม่สามารถไปวิเคราะห์ ตลอดจนไปแก้ไขปรับปรุงระบบความคิดที่ครอบงำอารยธรรมนั้น นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่รู้ตัวเลย
ส่วนในอีกระดับหนึ่ง คือระดับชีวิตประจำวัน ในประเทศตะวันตกนั้น คำว่า psychology ที่เราเอามาแปลว่า “จิตวิทยา” นี้ มีความหมายนัยหนึ่งว่า เป็นการกระทำเชิงอุบายที่จะชักจูงหรือจัดการกับคนอื่นให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เป็นการกระทำต่อเขาเพื่อสนองความต้องการของเรา ดังที่คนไทยก็ยังนำเอาคำว่าจิตวิทยามาใช้ในความหมายแบบนี้ เช่นในคำพูดว่า “คนนี้มีจิตวิทยา” หรือคำว่า “เอ๊ะ! คุณพูดนี้ psycho หรือเปล่า” ดังนี้เป็นต้น
ในกรณีอย่างนี้ คำว่าจิตวิทยาถูกมองไปในแง่ของการเอามาใช้เป็นเครื่องมือสนองความเห็นแก่ตัวของคน หมายความว่า เราจะมีสภาพจิตดีหรือชั่วอย่างไรก็แล้วแต่ เราสามารถใช้ความรู้เรื่องจิตนี้มาสนองความต้องการของเราเพื่อทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จ
เมื่อจิตวิทยาเข้าไปอยู่ในกระแสความคิดความเข้าใจและความเคยชินของสภาพจิตแบบนี้ วิชาจิตวิทยาก็เลยพลอยถูกมองและโน้มเอียงที่จะมีลักษณะในทางการใช้เพื่อสนองความต้องการของคนในรูปแบบที่เป็นเชิงเห็นแก่ตัว กลายเป็นว่า ถ้ามนุษย์ต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว เราก็เอาจิตวิทยาไปใช้ เช่น ในการโฆษณา เพื่อว่าทำอย่างไรจะให้คนสนใจยอมรับ และซื้อสินค้าของเรา แล้วเราจะได้ผลประโยชน์ หรือเราจะพูดอย่างไรให้คนเขาเชื่อถือ เพื่อผลประโยชน์ของเรา
ความหมายทำนองนี้จะแสดงออกมา แม้แต่ในหนังสือเด่นๆ ที่มีชื่อเสียงของตะวันตก อย่างในอเมริกา เดล คาร์เนกี้ เคยมีชื่อเสียงมาก หนังสือของเขาก็ยังมีชื่ออยู่ถึงปัจจุบัน เช่น How to Win Friends and Influence People ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีชนะมิตรและจูงใจคน” ลองดูเถิด ทำไมหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมเชื่อถือมากในอเมริกาและสังคมสมัยใหม่ที่นิยมแบบตะวันตก หนังสือนี้จะแสดงถึงสภาพจิตของสังคมอเมริกันด้วย และทำให้มองเห็นด้วยว่าเขามองความหมายของจิตวิทยากันอย่างไร
วิธีชนะมิตรและจูงใจคน นี้ สอนวิธีปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง การที่เราชนะมิตรและจูงใจคน คือทำให้คนรักและทำให้คนเป็นมิตรนี้ มิใช่ว่าเราจะมุ่งหมายให้เพื่อนมนุษย์หรือโลกนี้มีสันติสุขแท้จริงหรอก แต่เป้าหมายที่แท้อยู่ที่จะเอาเพื่อนมนุษย์มาสนองความต้องการประโยชน์ของเรา ในการที่จะก้าวไปในวัฒนธรรมที่มุ่งความสำเร็จของบุคคล อย่างที่เคยพูดว่ายิ้มเพื่อล้วงกระเป๋า ซึ่งไม่ใช่เป็นการยิ้มด้วยปรารถนาดีโดยจริงใจที่จะให้เขาเป็นสุข แต่เป็นการสนองระบบธุรกิจที่จะให้เราได้ผลประโยชน์
ส่วนในแง่ของสภาพจิตที่ลึกกว่านั้น คือระบบความคิดความเชื่อที่ครอบงำอารยธรรมทั้งหมด เมื่อจิตวิทยานี้ไปสนองอารยธรรมแบบนั้น ถ้าระบบอารยธรรมทั้งหมดนั้นไปไม่รอด ไม่ยั่งยืน ก็กลายเป็นว่าจิตวิทยาก็พลอยไม่ยั่งยืนไปด้วย ทำอย่างไรเราจะให้จิตวิทยาเป็นตัวปรับแก้แม้แต่ระบบความคิดที่ครอบงำอารยธรรมทั้งหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่ง
ว่าโดยยุคสมัยเรามาถึงจุดนี้แล้ว คือจะต้องไปแก้ปัญหาเรื่องระบบความคิดที่อยู่เบื้องหลังอารยธรรมปัจจุบัน เพราะตอนนี้ตะวันตกเองก็ยอมรับกันมากขึ้นว่า แนวความคิดที่มีอิทธิพลครอบงำอารยธรรมตะวันตกนี้ผิด จึงถึงจุดที่จะต้องถกเถียงเรื่องนี้กันให้จริงจัง
ในวงกว้าง จิตวิทยาจะต้องทำอย่างไร ในการที่จะขยายตัว หรือปรับตัวเพื่อมาช่วยแก้ไขทำประโยชน์บริการแก่การสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษย์นี้ให้ได้
ในวงแคบเข้ามา เวลานี้จิตวิทยาถูกมองในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ อย่างที่ว่า Psycho หรือจิตวิทยาก็คือ การแสดงออกอย่างเป็นอุบายเพื่อให้สำเร็จความมุ่งหมายของตนเองเท่านั้น โดยที่เราไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของเขา แต่เราทำอย่างนั้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเอง ความเข้าใจอย่างนี้ควรได้รับการปรับแก้อย่างไร