พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างเป็นระบบ จะไม่เป็นระบบจริง
ถ้าหยั่งไม่ถึงระบบมูลฐาน ในตัวมนุษย์เอง

ข้อต่อไปคือ จิตวิทยาจะต้องช่วยมนุษย์ในการแก้ปัญหาให้ได้ตลอดทุกขั้นตอน การแก้ปัญหาของมนุษย์นี้มีหลายขั้นตอน เมื่อกี้นี้พูดถึงครบวงจร การแก้ปัญหาได้ตลอดทุกขั้นตอนก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในคำตอบแบบเดียวกันนี้ด้วย

ขอยกตัวอย่างคือเรื่องของจิตมนุษย์นี้มีความเป็นขั้นเป็นตอน แม้แต่สภาพจิตต่างๆ ก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน เวลานี้แม้แต่ในการวิเคราะห์สภาพจิต เรามักไม่มองความเป็นปัจจัยต่อกันระหว่างสภาพจิตที่เป็นองค์ประกอบนั้นๆ ว่าสภาพจิตแต่ละอย่างที่เป็นองค์ประกอบ มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างไร

ขอยกตัวอย่างศัพท์ทางพุทธศาสตร์ คำว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ สภาพจิตเหล่านี้เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แต่จิตวิทยาอาจจะมองเน้นในแง่ที่แยกกันไปเป็นตัวๆ เลย ตัณหาก็เรื่องตัณหา มานะก็เรื่องมานะ ทิฏฐิก็เรื่องทิฏฐิ ทั้งนี้จะใช้ศัพท์ในทางภาษาสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามแต่เรามีความถนัดในการแยกเป็นแต่ละองค์แต่ละส่วน ในขณะที่ตามกฎธรรมชาติมันเป็นระบบความสัมพันธ์ ซึ่งองค์ประกอบทางจิตเหล่านี้จะต้องเป็นปัจจัยแก่กันทั้งหมด

ในที่นี้ได้ขอยกตัวอย่างองค์ร่วมมาชุดหนึ่ง คือ เรื่องตัณหา มานะ ทิฏฐิ เริ่มต้นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์เสียก่อน

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ นี้เป็นสภาพจิตฝ่ายร้ายของมนุษย์ ซึ่งผลักดันอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของคนที่แสดงออกต่างๆ ทั้ง ๓ ตัวนี้มีอิทธิพลสำคัญมากในการกำกับบทบาทของมนุษย์

๑) ตัณหา คือความอยากเสพอยากบริโภค ต้องการการบำรุงบำเรอทางอินทรีย์ทั้ง ๕ และมุ่งหาผลประโยชน์

๒) มานะ คือความต้องการยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ อยากเด่นเหนือหรือครอบงำผู้อื่น

ถ้าแสดงออกในทางสัญลักษณ์ก็คือ ตัณหาต้องการทรัพย์ มานะต้องการอำนาจ ตัณหาต้องการผลประโยชน์ มานะต้องการความยิ่งใหญ่ ตัณหาต้องการเสพ มานะต้องการครอบงำ รวมแล้วทรัพย์กับอำนาจ สองอย่างนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมมนุษย์

ความต้องการทรัพย์และอำนาจนี่แหละที่ทำให้มนุษย์มีความขัดแย้งแย่งชิงกันระหว่างบุคคล ระหว่างสังคม และระหว่างประเทศชาติ การรบราฆ่าฟันประหัตประหารทำสงครามมาจากสาเหตุแห่งการต้องการทรัพย์และอำนาจนี่มาก คือ ปัญหาจากตัณหาและมานะ

แต่ยังมีอีกตัวหนึ่งที่สำคัญมาก คือ

๓) ทิฏฐิ ได้แก่ แนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความยึดถือ ลัทธิศาสนา อุดมการณ์ต่างๆ

ใน ๓ ตัวนี้เราเน้นเรื่องตัณหา และมานะมาก ความต้องการทรัพย์หรือผลประโยชน์ และความต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่นี้ทำให้มนุษย์มีปัญหาขัดแย้งกัน จนกระทั่งมีการรบพุ่งสงครามอย่างที่ว่าแล้ว แม้แต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ก็มาจากเรื่องทรัพย์และอำนาจ แต่ที่จริงไม่ใช่แค่นั้น

อย่ามองข้ามอีกอย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิ ความเชื่อถือ ลัทธิศาสนา อุดมการณ์ รวมตั้งแต่ค่านิยมในสังคม อันนี้ที่จริงเป็นตัวสำคัญที่ทำให้มนุษย์ขัดแย้งแบ่งแยกกัน เช่น ความเชื่อปักใจว่าผิวนี้จึงจะประเสริฐ เชื้อชาตินี้จึงจะดี ศาสนาต้องนี้เท่านั้น อุดมการณ์นี้ ลัทธินี้จึงจะถูกต้อง จนทำให้แบ่งโลกเป็นค่ายแห่งทิฏฐิหรือค่ายอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงมีสงครามอีกประเภทหนึ่งคือสงครามทิฏฐิ ได้แก่สงครามศาสนา สงครามแบ่งแยกเชื้อชาติผิวพรรณ และสงครามอุดมการณ์ ซึ่งอาจจะร้ายแรงยืดเยื้อยิ่งกว่าการขัดแย้งด้วยตัณหา หรือมานะ

ตกลงว่า ๓ ตัวนี้แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญอยู่เบื้องหลังความเป็นไปในสังคมมนุษย์ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ความต้องการทรัพย์ อำนาจ และการยึดถือในลัทธินิยมอุดมการณ์ความเชื่อถือ

เรื่องสภาพจิตที่เรียกว่ากิเลส ๓ ตัวนี้ มีข้อที่เราจะพิจารณาอีกอย่างหนึ่งว่า ในการแก้ปัญหาเราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ตัวนี้ด้วย ทิฏฐิเป็นตัวที่ว่าลึกและฝังแน่น อะไรก็ตามที่เกิดเป็นทิฏฐิขึ้นมา เป็นความเชื่อ หรือแม้แต่เป็นค่านิยม ก็จะทำให้พฤติกรรมฝังแน่นมีผลยาวไกล มีความรุนแรงและยืนนานอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่นว่า เรามีตัณหาอยากได้ผลประโยชน์ เราชอบเราอยากได้อะไร หรือเรามีมานะต้องการเก่ง อย่างเด็ก ดูทีวีเห็นละครหรือการ์ตูนเรื่องราวต่างๆ ก็จะมีการสนองความต้องการทางตัณหาและมานะ เช่น ความรู้สึกที่อยากจะได้เสพความสนุกสนาน และได้แสดงความเก่ง มีความตื่นเต้น โกรธเกลียด และอารมณ์ร่วมต่างๆ ไปกับการรบราฆ่าฟันเป็นต้นในเรื่องราวเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ถ้าเด็กยังมีเพียงความสนุก หรือความรัก-ชังคั่งแค้น แล้วก็ได้สนองความปรารถนาความรู้สึกอย่างนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่รุนแรงมากนัก และผ่านๆ ไป ยังไม่มีผลยั่งยืน

แต่เมื่อไรเด็กเกิดความเชื่อ หรือแม้แต่เกิดค่านิยมเห็นว่าอย่างนั้นถูกต้องอย่างนั้นดี เช่นดูรายการต่างๆ ไปจนถึงจุดหนึ่งแล้วเด็กเกิดความเห็นว่า เออ! การโกงกันอย่างนี้ดี เมื่อไรเกิดความเชื่ออย่างนี้ขึ้นมาว่า เออ การโกงกันอย่างนี้ดีนะ หรือเห็นว่า เออ การฆ่าเขาอย่างนี้ดีนะ ถ้าเกิดเป็นความเชื่อหรือความเห็นอย่างนี้ขึ้นมาเมื่อไร เราเรียกว่าเกิดเป็นทิฏฐิ

ถ้าเกิดเป็นทิฏฐิ เป็นความเชื่อขึ้นมาแล้ว ตอนนี้ละจะลงลึก และจะมีผลกว้างไกล ฝังแน่น กับทั้งจะเป็นปัญหาสังคมอย่างหนัก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องค่านิยมในสังคม เพราะเป็นเรื่องในระดับทิฏฐิ ที่จะชักนำกระแสความเป็นไปในสังคมวงกว้าง อย่างยืดเยื้อยาวนาน และแม้แต่รุนแรง อะไรต่ออะไรที่ชอบที่ชื่นชมกันอยู่ พอเกิดเป็นความเชื่อว่าอย่างนี้ดีเท่านั้นแหละ ก็จะมั่นคงลงตัว และแพร่ขยายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเลย

ยกตัวอย่างเช่นในเมืองเหนือของเรา ที่เคยถึงกับนิยมขายลูกสาวมาเป็นโสเภณี ตอนแรกก็ยังรู้สึกขัดกับวัฒนธรรมและถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แม้จะมีผลประโยชน์ ได้สนองตัณหา ได้เงินได้ผลประโยชน์ แต่มันยังขัดกับความเชื่ออยู่ ตอนนี้พฤติกรรมจะเป็นเฉพาะตัวเฉพาะราย และทำด้วยความรู้สึกที่ไม่เต็มที่ จะขัดแย้งไม่สบายใจหรือมีความรู้สึกผิดอะไรต่างๆ เพราะว่าความเชื่อตามวัฒนธรรมเดิมมีฝังอยู่ว่าเราทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ฝืนใจทำเพราะอยากได้ผลประโยชน์หรืออาจจะถึงกับรู้สึกว่าทำเพราะจำเป็น จำใจ เป็นเรื่องของคนที่ทำด้วยโลภะอยากได้ ด้วยโทสะความขัดเคือง เช่น เรื่องผลประโยชน์ และเป็นเรื่องที่ลุอำนาจกิเลส แพ้มันไปเฉพาะครั้งเฉพาะคราว ซึ่งมีผลไม่รุนแรงนัก หรือรุนแรงก็เฉพาะคนเฉพาะคราว แล้วก็จบไป

แต่เมื่อไรเกิดเป็นความนิยม หรือค่านิยม หรือเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมา ว่าอย่างนี้ดี ถูกต้อง ว่าขายลูกสาวไปอย่างนี้มีหน้ามีตาไม่เสียหาย พอเกิดเป็นค่านิยม และเชื่อขึ้นมา ตอนนี้แหละจะเป็นปัญหาสังคมที่ฝังลึก แพร่ขยาย และแก้ยาก ฉะนั้นการแก้ปัญหาของมนุษย์จึงต้องถึงขั้นที่สุด และให้ตรงจุด เวลานี้เราไปเน้นเรื่องการแก้ปัญหาแค่ระดับตัณหาและมานะ ในเรื่องความต้องการผลประโยชน์ และต้องการความยิ่งใหญ่ แต่เบื้องหลังลึกลงไปคืออะไร คือความเชื่อว่าอย่างนี้ดีถูกต้อง ถ้าแก้อันนี้ไม่ได้ ก็แก้ปัญหาสังคมยาก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง