จิตวิทยานั้น เมื่อพูดถึงความเป็นจริงของจิตใจแล้ว ก็โยงขยายต่อไปถึงเรื่องของชีวิตทั้งหมดของคน เมื่อโยงไปถึงชีวิตทั้งหมด ถึงตัวคนแล้ว ก็โยงต่อไปอีกถึงชุมชน ถึงสังคม และความเป็นไปของโลกมนุษย์ ตลอดถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ที่จะต้องมีผลส่งถึงกันเช่นนั้นเอง ดังนั้น จิตวิทยาจึงโยงไปหาศาสตร์อื่นๆ ทุกอย่าง
เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้น ที่จะต้องเป็นอยู่ในโลก การที่จะมีชีวิตรอด ก็ต้องกินอาหารเป็นต้น ซึ่งหมายถึงการมีวัตถุเสพบริโภค ชีวิตจึงต้องเกี่ยวข้องในขั้นพื้นฐานเลยทีเดียวกับเรื่องวัตถุ จำเป็นจะต้องมีวัตถุเสพบริโภค แต่วัตถุทุกอย่างเป็นของภายนอก มิได้มีอยู่กับตัว การที่ว่ามีและเสพ จึงหมายถึงการที่จะต้องได้มา และการที่จะได้ก็หมายถึงการที่จะต้องหาต้องเอา
การคิดที่จะได้ กับพฤติกรรมในการหาและเอา จึงควบคู่มาด้วยกัน ในจิตใจก็มีสภาพจิตอยากได้ เรียกว่า โลภะ และตัณหา พฤติกรรมในการหาและเอา เมื่อออกไปในสังคม ก็นำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงเบียดเบียน รวมถึงการข่มเหงครอบงำเอาเปรียบกัน ตลอดจนการรบราฆ่าฟันและสงคราม
ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนามนุษย์ขั้นต้นเริ่มด้วยการฝึกการให้หรือทาน โดยให้มีการตั้งจิตคิดจะให้ ซึ่งจะนำสู่การเกิดขึ้นของคุณธรรม คือความรักความปรารถนาดี อยากให้คนอื่นมีความสุข อยากช่วยเหลือกัน ที่เรียกว่าเมตตากรุณา การคิดให้ก็จะมาเข้าคู่กับการคิดจะได้จะเอา ทำให้ชีวิตมีดุลยภาพ และสังคมก็มีดุลยภาพ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี
แต่ที่ว่า “ได้” มาด้วยกันกับ “เอา” คือถ้าจะได้ก็ต้องหาต้องเอามา ซึ่งหมายความต่อไปว่า จะต้องเพียรพยายามทำการบางอย่างเพื่อให้ได้มาหรือเพื่อให้มีนั้น เป็นการพูดง่ายๆ ทั่วๆ ไป ยังมีความซับซ้อน และแง่มุมทางจิตใจและพฤติกรรม ที่จะต้องแยกแยะต่อไปอีก
สภาพจิตที่อยากได้ หรือความอยากได้ อาจได้รับการสนองได้หลายวิธี และการสนองก็ไม่มีขอบเขตจำกัดแน่นอน แต่โดยพื้นฐาน ความอยากได้ ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การทำหรือการเพียรพยายาม เพราะความอยากได้ กับความอยากทำ เป็นสภาพจิตคนละอย่างต่างกันไกล และไม่มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลต่อกันโดยตรง
ตามปกติ คนที่อยากได้ จะไม่อยากทำ ความอยากได้จะนำไปสู่การกระทำ ก็ต่อเมื่อถูกบังคับโดยเงื่อนไขให้ได้ต่อเมื่อทำ แต่ก็ไม่นำไปสู่ความอยากทำอยู่นั่นเอง จึงเป็นการฝืนใจหรือจำใจทำ นำไปสู่การหาทางที่จะได้โดยไม่ต้องทำ และเป็นเหตุให้ต้องจัดตั้งระบบเงื่อนไขขึ้นมา เพื่อโยงความอยากได้ไปสู่การกระทำ ด้วยเหตุนี้ การได้จึงเป็นไปโดยวิธีต่างๆ เช่น
- การได้ อาจเป็นการได้รับจากที่เขาให้ หรือขอเขาได้มา
- การได้ อาจเป็นการใช้วิธีให้มีขึ้นโดยทางลัด เช่น ลักขโมย หลอกลวง แย่งชิง ใช้กำลังบีบบังคับเอา และวิธีการทุจริตต่างๆ
- การได้ เมื่อไม่มีทางที่จะมีโดยไม่ต้องทำ ก็ถูกบังคับโดยเงื่อนไขหรือความจำเป็น ให้ต้องเพียรพยายาม(จำใจ)ทำ เพื่อให้เกิดมีขึ้นหรือให้ได้มา
- การได้ อาจพ่วงมากับการกระทำด้วยสภาพจิตที่เรียกว่า ความใฝ่สร้างสรรค์ คือต้องการจะทำสิ่งดีงาม ให้เกิดมีขึ้น โดยจิตมุ่งไปที่การเกิดมีขึ้นของสิ่งนั้น และการได้เป็นเพียงผลพ่วงหรือผลพลอย ที่ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง
ว่าโดยสรุป ความอยากข้างบนนี้ มี ๒ อย่าง
๑. สภาพจิตพื้นฐานที่ยังไม่พัฒนา จะมีความอยากได้ โดยมิได้มีความอยากทำ
๒. สภาพจิตที่พัฒนาสูงขึ้น มีความอยากที่จะทำให้เกิดให้มีขึ้นด้วยความเพียรพยายามของตน
จากสภาพจิตที่สัมพันธ์เป็นปัจจัยกับพฤติกรรมแบบต่างๆ ข้างต้น เมื่อพูดในระดับสังคม ก็นำไปสู่การจัดตั้งระบบและวางระเบียบทางสังคม ทั้งด้านกฎหมาย การปกครอง และเศรษฐกิจ ซึ่งผู้จัดการหรือรับผิดชอบสังคม จะต้องดำเนินการเพื่อให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงามไปด้วยดี และมีสันติสุข เช่น
คนที่อยากได้ โดยไม่อยากทำ บางพวกจะหวังพึ่งพา แล้วจะอ่อนแอ เฉื่อยชา เกียจคร้าน นอนคอยโชค ชอบร้องขออ้อนวอน หวังลาภลอย รวมทั้งการพนัน
คนที่อยากได้ ซึ่งมีกำลังอำนาจโอกาสมากกว่า ก็จะข่มเหงเบียดเบียนเอาเปรียบผู้อื่น เพื่อเอาให้ได้มากที่สุด
คนที่อยากได้ ซึ่งไม่อยากทำ ทุกพวก โดยมากถ้ามีโอกาส ก็จะทำการทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้มาโดยไม่ต้องทำความเพียรในการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง หรือเพื่อให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด หรือรวยทางลัด
คนระดับที่ยังไม่พัฒนาและพัฒนาน้อยนี้ ย่อมมีจำนวนมาก ผู้ปกครองที่ฉลาด จึงต้องจัดตั้งระบบเงื่อนไข เพื่อจะควบคุม กำราบ และกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะ
• เงื่อนไขที่จะให้คนได้มาต่อเมื่อต้องทำ หรือเงื่อนไขที่จะบีบให้ต้องทำจึงจะได้ รวมทั้งการจัดสรรสภาพแวดล้อมบรรยากาศไม่ให้วิถีชีวิตแบบพึ่งพาเฉื่อยชานั้นแพร่ระบาด
• เงื่อนไขที่จะปิดกั้นโอกาส ป้องกัน ควบคุม และกำราบการทุจริต ข่มเหง เอาเปรียบต่างๆ
• เงื่อนไขที่จะกระตุ้นหรือผลักดันให้ความโลภที่มากหรือแรง เป็นปัจจัยแก่การที่จะต้องทำการผลิตการสร้างสรรค์อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น
พร้อมกันนั้น ผู้จัดการสังคมก็ต้องรู้ตระหนักว่า คนที่จะสร้างสรรค์ความเจริญแก่สังคมหรือแก่อารยธรรมอย่างแท้จริง คือคนที่มีความอยากทำการสร้างสรรค์ หรือใฝ่สร้างสรรค์ ดังนั้น อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมาก นักปกครองเป็นต้น ก็จะต้องจัดวางมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนคนที่คิดริเริ่มและทำการสร้างสรรค์อย่างจริงจัง
นี้เป็นตัวอย่างของการที่จิตวิทยาโยงสัมพันธ์กับการจัดสรรสังคม และการปกครองประเทศชาติ