ต่อไปถึงขั้นของ ความสุขแบบที่ ๕ เห็นจะพอ เมื่อกี้มาถึงขั้นปรุงแต่งแล้ว ตอนนี้ก็เลยขั้นปรุงแต่ง หรือเหนือปรุงแต่ง คราวนี้เลิกปรุงแต่ง
ความสุขมีอีกแบบหนึ่ง คือความสุขที่มีเองโดยไม่ต้องปรุงแต่ง สุขนั้นปรุงแต่งได้ สร้างขึ้นได้ แต่ไม่ปรุงแต่งยิ่งสุขสูงขึ้นไปอีก ไม่ปรุงแต่งสุขเป็นอย่างไร ตรงนี้แหละที่ว่าจะบรรจบกับสันติและอิสรภาพ
ความสุขที่พัฒนาขึ้นมา ยิ่งเป็นสุขที่ประณีตลึกซึ้งและยั่งยืน ก็ยิ่งมีสันติเพิ่มขึ้นทุกที เพราะทำให้มีความสงบภายใน และในโลกภายนอกก็สันติด้วย พร้อมกันนั้นอิสรภาพก็จะมากขึ้น จิตใจจะพ้นจากการบีบคั้น และการขึ้นต่อภายนอก ทั้งที่ขึ้นต่อวัตถุ และขึ้นต่อบุคคลอื่น
แม้แต่ในขั้นที่เรามีความสุขจากการให้ เราก็ยังขึ้นต่อคนอื่น ความสุขของเรายังขึ้นต่อความสุขของเขา แต่ต่อมาเราปรุงแต่งความสุขขึ้นได้ในใจของเราเอง ความสุขก็เป็นอิสระของตัวเอง แต่ยังต้องอาศัยการปรุงแต่ง และมันก็ยังขึ้นต่อการปรุงแต่ง คือ มันยังต้องขึ้นต่อปัจจัยนั่นเอง มันก็ยังไม่ยั่งยืนจริง เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ต่อมาตอนนี้ไม่ต้องปรุงแต่งเลย ความสุขนี้จะมีเป็นธรรมดาโดยไม่ต้องไปใช้ความเพียรในการปรุงแต่ง
เวลาปรุงแต่งก็ยังต้องใช้ความเพียร แต่ตอนนี้ไม่ต้องพยายามเลย มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง หรือเป็นธรรมดาของจิตใจ มาดูสิว่าสุขแบบธรรมดานี้คืออะไร
อะไรที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ ค้นไปค้นมา ในที่สุดสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ ก็คือความเป็นไปของกฎธรรมชาตินี่เอง ในที่สุดแล้วมนุษย์ตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของกฎธรรมชาติ การที่เรามีความเป็นไปอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เพราะกฎธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ดูง่ายๆ ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงนี้เป็นไปในทุกสิ่งทุกอย่างตลอดทุกเวลา มันครอบคลุม และครอบงำทั้งชีวิตของเราและสิ่งทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้อง รวมทั้งโลกที่เราอยู่นี้ทั้งหมด ไม่เว้นเลย
เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป เราก็พลอยได้รับผล ถูกกระทบกระทั่งบีบคั้น ได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้บ้าง ปรารถนาสมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ที่อยากให้คงอยู่ก็หายสิ้นบ้าง ที่ไม่ชอบใจก็ต้องเจอบ้าง เราก็เกิดความทุกข์เพราะเจ้าตัวกฎธรรมชาตินี่แหละ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปต่างๆ ที่บีบคั้นเรา
แต่ที่จริง การที่ความเป็นไปต่างๆ นั้นบีบคั้นเรา ก็เพราะว่าเราไปวางท่าทีต่อมันผิด แล้วก็ไม่รู้เท่าทันมัน กับทั้งจะเอาแต่ที่ใจอยาก และชอบแต่รับกระทบ สิ่งที่เป็นไปดีๆ มากมายก็ไม่เอา ไปคอยรับแต่ที่ขัดใจ และในที่สุดว่ากันตามจริงแท้ สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามธรรมดาของมันนั้นแหละ ใจของเราตั้งรับผิดเองหรือเปล่า
ในขั้นสุดท้ายก็คือ ทำอย่างไรจะไม่ให้กฎธรรมชาติมาครอบงำมีอิทธิพลต่อสุขทุกข์ของเรา อันนี้แหละเป็นวิธีขั้นสุดท้าย คือ ถึงขั้นอิสรภาพจากกฎธรรมชาติเลยทีเดียว อิสรภาพนี้ถือว่าสูงสุด หมายถึง การมีปัญญารู้ทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้เท่าทันเป็นกันเองได้แม้แต่กับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยของมัน ความรู้อันนี้แหละจะทำให้เราถอนตัวออกมาเป็นอิสระได้ จนกระทั่งว่า ความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์ที่มีอยู่เป็นของธรรมชาติ ก็ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นทุกข์ของมันไป ไม่ใช่เที่ยวเก็บเอาทุกข์มาใส่ตัว
ธรรมชาติน่ะเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา คือมันเปลี่ยนแปลงไปคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ธรรมชาติเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ของมันไป ไม่มีใครไปห้ามได้ แต่เราไม่ต้องไปทุกข์ด้วย อันนี้แหละคือความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ มนุษย์จะไม่ต้องขึ้นต่อธรรมชาติก็ตรงนี้ แล้วจะทำได้อย่างไร ก็ใช้อุปมาเรื่องกระแส
เราอยู่ในโลกนี้ซึ่งมีความเป็นไปต่างๆ ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ความเป็นไปนี้ขอเรียกว่ากระแส กระแสความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายนี้ เป็นกระแสของกฎธรรมชาติ คือ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ฉะนั้นกระแสความเป็นไปในธรรมชาตินี้จึงเรียกว่ากระแสแห่งเหตุปัจจัย หรือเพราะมันเป็นกฎธรรมชาติ จะเรียกว่ากระแสธรรมก็ได้ กระแสกฎธรรมชาติ กระแสธรรม กระแสแห่งเหตุปัจจัย ก็อันเดียวกัน
สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ คือ มีอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน ตามกระแสธรรม กระแสกฎธรรมชาติ กระแสเหตุปัจจัยนี้ แม้แต่ชีวิตของเราก็เป็นไปตามกระแสนี้เหมือนกัน แต่คนเรานี้มีจิตใจ มีเจตนา ใจของเรานี้ก็ไปสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น ที่เป็นไปอยู่ตามกฎธรรมชาติ หรือที่อยู่ในกระแสกฎธรรมชาตินั้น
เมื่อจิตใจของเราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น เราก็จะมีความอยากความปรารถนาต่อสิ่งนั้นว่า ขอมันจงเป็นอย่างนั้น ขอมันจงเป็นอย่างนี้ ขออย่าให้มันเป็นอย่างนั้นเลย ความเป็นไปในความปรารถนาของเรานี้ก็กลายเป็นอีกกระแสหนึ่งขึ้นมา เรียกว่ากระแสความปรารถนา กระแสความอยาก หรือกระแสตัณหา สิ่งนั้นๆ ก็มาอยู่ในกระแสความปรารถนาของเรา แต่กระแสความอยากนี้เป็นกระแสที่คนสร้างขึ้น ไม่มีจริง จึงเรียกอีกอย่างว่ากระแสของคน หรือกระแสใจคน
ตอนนี้ก็กลายเป็นว่า สิ่งทั้งหลายอันเดียวกันนั้น อยู่ใน ๒ กระแสพร้อมกัน คือ
๑) อยู่ในกระแสกฎธรรมชาติ กระแสเหตุปัจจัย หรือกระแสธรรม
๒) อยู่ในกระแสความปรารถนาของคน กระแสตัณหา หรือกระแสของคน
กระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ กับกระแสความอยากของคนนี้ มักจะเกิดความขัดแย้ง กระทบกระทั่งกัน คือ เรามีความปรารถนาต่อสิ่งนั้นว่าขอให้มันเป็นไปอย่างนี้ แต่สิ่งนั้นเป็นไปตามอะไร ตอบได้เลยว่ามันเป็นไปตามกระแสกฎธรรมชาติ มันจะไม่เป็นไปตามกระแสความปรารถนาของมนุษย์
เมื่อสิ่งนั้นเป็นไปตามกระแสกฎธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามกระแสความอยากของเรา สองกระแสนี้ก็ขัดแย้งกัน คือ กระแสความปรารถนาของคน ขัดกับกระแสกฎธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า กระแสคนกับกระแสธรรมขัดแย้งกัน พอ ๒ กระแสปะทะขัดแย้งกัน ใครชนะ ใครแพ้ กระแสคนแพ้ใช่ไหม กระแสความปรารถนาของคนแพ้ แต่กระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติชนะ
พอเจออย่างนี้ ใจของเราก็ถูกปะทะกระแทกและบีบคั้น เราก็เกิดความเครียด เดือดร้อน โศกเศร้าเสียใจ อันนี้คือความทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการที่กระแสคนกับกระแสธรรมมาปะทะกัน แล้วกระแสของคนแพ้
ทีนี้ถ้ามนุษย์มีการศึกษาพัฒนาขึ้นจะเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น จะมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือมีปัญญาเพิ่มขึ้น เมื่อมนุษย์มีปัญญามากขึ้น ก็จะมีความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ปัญญาของมนุษย์จะไปรู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ และรู้เข้าไปถึงเหตุปัจจัยแห่งความเป็นไปของมัน
พอรู้จักสิ่งนั้นว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ก็มองเห็นและรู้ทันกระแสกฎของธรรมชาติ คือ รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตอนนี้แหละกระแสใหม่จะเกิดขึ้น หรือพัฒนาขึ้นมาในตัวเรา คือกระแสปัญญา
ตอนนี้กระแสของคนจะเปลี่ยนจากกระแสความอยาก หรือกระแสตัณหา มาเป็นกระแสความรู้เข้าใจ หรือกระแสปัญญา
กระแสปัญญาหรือกระแสความรู้นี้มีลักษณะที่แปลก คือมันรู้ตามที่สิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งเหล่านั้นเป็นไปอย่างไร กระแสปัญญาก็รู้ไปตามนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร ปัญญาก็รู้ทันตามเหตุปัจจัยนั้น เรียกว่า ปัญญารู้สิ่งนั้นตามที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย กระแสปัญญาของคน ก็เลยกลมกลืนกับกระแสเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ พูดสั้นๆ ว่า กระแสของคนกลมกลืนเป็นอันเดียวกับกระแสของธรรม
คนจะต้องพัฒนาอย่างนี้ คือก้าวจากการอยู่ด้วยตัณหาเปลี่ยนไปเป็นอยู่ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นมนุษย์ที่อยู่ด้วยปัญญา
เมื่อพัฒนาไปจนกระแสของคนเปลี่ยนจากกระแสตัณหา กลายเป็นกระแสปัญญา ซึ่งตามไปรู้ความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้นตามเหตุปัจจัยที่เป็นกระแสธรรม ถึงตอนนี้ กระแสคนกับกระแสธรรมก็กลืนเป็นกระแสเดียว จึงไม่มีความขัดแย้งกันอีก ก็จึงหมดปัญหา คนก็ไม่ต้องอยู่ด้วยตัณหาต่อไป แต่เปลี่ยนมาอยู่ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงตามเหตุปัจจัย ตอนนี้ก็จะมีความสมบูรณ์ ๒ ด้าน คือ
๑) จิตใจตัวเองก็หมดทุกข์และมีความสุข เพราะไม่มีความบีบคั้นปะทะกระแทก ก็รู้ทันและวางใจไปตามเหตุปัจจัย
๒) ปฏิบัติการก็ได้ผล
ถ้าเราเอาความอยากตามกระแสความปรารถนาของเราเป็นตัวกำหนด เราก็ทำอะไรไม่ได้ผล เราจะบอกให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เราอยาก ถึงจะเรียกร้องอ้อนวอนอย่างไร สิ่งทั้งหลายก็ไม่เป็นไปตามใจอยากของเรา แต่สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราก็ถูกขัดถูกปะทะกระแทกเป็นทุกข์อย่างเดียวเหมือนที่พูดเมื่อกี้
แต่พอเราพัฒนามีปัญญาขึ้นมา กระแสปัญญาก็จะบอกให้เราเรียนรู้เหตุปัจจัยว่า เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม เราไม่ต้องการความเสื่อม เราก็แก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยของความเสื่อม เราต้องการความเจริญ เราก็สร้างเหตุปัจจัยของความเจริญ
เมื่อเราทำเราจัดการที่เหตุปัจจัย เราก็ทำได้สำเร็จ เพราะฉะนั้น การสร้างสรรค์ การปฏิบัติ การทำงาน การแก้ปัญหา ก็สำเร็จด้วย และสำเร็จอย่างดี เพราะใช้ปัญญาทำที่เหตุปัจจัย พร้อมกับที่ใจเราก็สุข เบาสบาย ไม่มีความทุกข์ เพราะไม่มีการปะทะกระแทก
แต่จะเป็นได้อย่างนี้ ก็ต้องพัฒนาตัวเรา คือศึกษา ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาทันที แต่อย่างน้อยเพียงแค่เราตั้งสติ เพียงแค่เอาหลักการนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกข์ของเราก็เบาลงเยอะแล้ว อย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า แทนที่จะมองสิ่งทั้งหลายตามชอบชังหรือตามชอบใจไม่ชอบใจ เราก็มองตามเหตุปัจจัย
เวลาเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรขึ้น เตือนสติของตัวบอกว่า มองตามเหตุปัจจัย ใช้กระแสปัญญา เพียงแค่จุดเริ่มแค่นี้ สติมาทุกข์ก็ลดลงทันที เชิญลองใช้ดูเถอะ เป็นวิธีเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด
มีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เจอปัญหาลูก ปัญหาครอบครัว ปัญหาในที่ทำงาน พอเจอสถานการณ์นั้นปั๊บ อย่าเพิ่งเอามากระทบใจ อย่าเอาตัวเราไปรับกระทบ อย่ามองตามชอบใจไม่ชอบใจ บอกตัวเองว่ามองตามเหตุปัจจัย เท่านี้แหละยั้งได้ ทุกข์จะหยุด ต่อไปก็ใช้ปัญญา มองไปตามกระแสกฎธรรมชาติ ถ้าเราทำอย่างนี้บ่อยๆ นั่นคือการพัฒนาตนเองในกระแสปัญญา ทุกข์จะน้อยลงจนกระทั่งเป็นอิสระ
พอมีปัญญารู้ความจริง ให้กระแสปัญญาไปด้วยกันกับกระแสของกฎธรรมชาติ หรือกระแสคนเป็นอันเดียวกับกระแสธรรมแล้ว เราก็มีชีวิตประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ดำรงชีวิตที่ดีงาม มีจิตใจเป็นอิสระ ปัญญาก็ทำให้เรามีอิสรภาพที่แท้จริง ความเป็นไปของกฎธรรมชาติก็ครอบงำเราไม่ได้ เพราะไปด้วยกัน ทันกันตลอดเวลา อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าทุกข์ในธรรมชาติก็เป็นทุกข์ของธรรมชาติไป เรื่องอะไรจะมาเป็นทุกข์ในใจของเราด้วย เราก็หมดทุกข์ นี่แหละคือความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงอยู่ด้วยปัญญา
สรุปว่า คนที่พัฒนาถึงขั้นบูรณาการกระแสคนกับกระแสธรรมเข้าด้วยกัน ชีวิตเข้าสู่ดุลยภาพแล้ว มีคุณสมบัติ ๒ ด้าน คือ
๑. มีปัญญารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย วางใจได้ ทุกข์ไม่อาจครอบงำ
๒. แก้ไขจัดการสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จผลอย่างดี ด้วยการกระทำที่ตรงเหตุปัจจัย
ต้องครบทั้ง ๒ ขั้น ถ้าได้ข้อ ๑ ขั้นเดียว ก็เสี่ยงที่จะตกลงไปในความประมาท
พอถึงจุดนี้แล้ว ความสุขก็ไม่ต้องหา เพราะความสุขมีอยู่ในตัวเอง ความสุขมีพร้อมในใจตัวเองเป็นประจำตลอดเวลา ไม่ต้องหา นอกจากไม่ต้องหาแล้วยังมีตลอดเวลาเสียด้วย เป็นคุณภาพของชีวิตไปเลย ความสุขกลายเป็นคุณสมบัติประจำชีวิต ประจำจิตใจของเราแล้ว ข้างนอกทำไป ข้างในเป็นสุข มนุษย์ที่พัฒนาถึงขั้นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป
เมื่อไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่ชีวิตนี้ยังมีพลังเหลืออยู่ พลังชีวิตนั้นก็เอาไปอุทิศให้แก่มนุษยชาติ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลต่อโลก นี่คือคติพระอรหันต์ เพราะตัวเองนั้นสุขเต็มบริบูรณ์แล้ว จะไปที่ไหนก็ไม่มีทุกข์แล้ว มีแต่สุข เพราะฉะนั้นก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว
ถึงตอนนี้ก็มาประสานกลมกลืนกันอีก คนที่พัฒนาสูงสุดแล้ว จึงไม่เบียดเบียนธรรมชาติไม่เบียดเบียนสังคมมีแต่ช่วยเกื้อกูลสังคม และเกื้อกูลธรรมชาติ การพัฒนาที่ถูกต้องจึงเป็นอย่างที่บอกแล้วว่า ยิ่งพัฒนาขึ้นไป ชีวิตคนยิ่งสุข สังคมยิ่งดี ธรรมชาติแวดล้อมยิ่งรื่นรมย์น่าอยู่ด้วย ไม่มีขัดกันเลย
ตรงข้ามกับการพัฒนาที่ผิด ซึ่งยิ่งทำให้วุ่นวายขัดแย้งกันไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ทฤษฎีความสุขแบบที่ใช้กันอยู่ในแนวคิดของระบบที่เป็นอยู่นี้ จะมีแต่ยุ่งแน่นอน ไม่มีทางแก้ปัญหาชีวิตกายใจของมนุษย์ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ไม่ได้แน่นอน
ถ้าเราพัฒนาความสุขครบ ๕ ขั้น ทุกอย่างจะประสานกลมกลืนเข้าสู่ดุลยภาพแห่งบูรณาการทั้งหมด
แม้แต่ระหว่างที่ยังกำลังพัฒนา เราก็สบาย มีความสุขให้เลือกตั้ง ๕ อย่าง แต่ก่อนนี้มีความสุขอย่างเดียว ชนิดที่คับแคบ และนานๆ จะได้เสพสักที ตอนนี้มีประจำตลอดเวลา และให้เลือกได้
ความสุขที่ประจำอยู่ในส่วนลึกของจิตใจก็มีตลอดเวลา แล้วยังสามารถเลือกความสุขจากวัตถุอีก แถมเวลาเสพสุขทางวัตถุ ก็เสพอย่างสุขล้วนๆ เต็มที่ของมัน ไม่มีอะไรรบกวนระคายขุ่นมัวซ่อนอยู่ข้างใน และจะเลือกความสุขอะไรอีกก็ได้ เพิ่มเข้ามาให้เลือกได้ตามชอบใจ เพราะฉะนั้นจึงมีความสุขสมบูรณ์ และสุขมากอย่าง
เมื่อโอกาสที่จะมีความสุข และช่องทางมีความสุขนั้นเต็มเปี่ยม ก็แล้วแต่จะเลือก เพราะเป็นอิสระแล้วที่จะเลือก นี่ก็คืออิสระอีกแล้ว เป็นอิสระที่จะเลือกเสวยความสุขแบบไหน ทีนี้ท่านจะเอาความสุขแบบไหนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของตัวท่านเองละ
เพราะฉะนั้น พระโสดาบัน ซึ่งเป็นขั้นเริ่มแรกของอริยบุคคล จึงมีความสุขพร้อมบริบูรณ์ทุกชนิด จะยังมีสุขแบบในครอบครัวด้วยก็ได้ หรือจะดำเนินไปกับความสุขภายในตัวเองอย่างเป็นอิสระล้วนๆ ก็ได้
บุคคลชั้นโสดาบัน เป็นขั้นที่เชื่อมประสานความสุขทุกระดับ คือมีทั้งความสุขแบบครอบครัว ไปจนถึงสุขที่ชิมนิพพาน ในตัวคนเดียวกันมีความสุขที่ไร้พิษภัยทุกรูปทุกแบบ ทุกขั้นทุกตอน
เพราะฉะนั้น การพัฒนามนุษย์นี้ เมื่อทำถูกต้องแล้ว ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เป็นชีวิตที่ตัวเองก็เต็มสมบูรณ์ และมีคติว่า อยู่เพื่อประโยชน์สุขของคนจำนวนมาก และทำอะไรก็เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของคนรุ่นที่จะตามมาภายหลัง
เวลานี้ตำราการพัฒนาที่ยั่งยืนจะพูดกันนักว่า การพัฒนานี้จะต้องเห็นแก่ประโยชน์สุขของมนุษย์ที่จะมาในรุ่นข้างหน้า คือ generation ต่อไป หรือศตวรรษหน้า แต่เพื่อเห็นแก่คนรุ่นข้างหน้านั้นมนุษย์ปัจจุบันนี้จะต้องจำใจยอมลดละสละความสุขบ้าง
จริยธรรมปัจจุบันแบบนี้ต้องจำใจ ถ้าคนปัจจุบันจะเห็นแก่มนุษย์ยุคหน้า ตัวเองจะต้องจำกัดความสุขของตน จะต้องทนที่จะไม่หาความสุขเต็มที่ ต้องยอมทุกข์บ้าง
แต่ถ้าพัฒนาตามแบบพุทธศาสนาที่ว่านี้ ถูกต้องตรงตามกฎธรรมชาติแท้จริงแล้ว ก็จะมีความสุขเต็มสมบูรณ์ในปัจจุบันสำหรับมนุษย์ยุคนี้ด้วย และมนุษย์ยุคต่อไปก็ไม่ได้ถูกขัดขวางหรือตัดรอนความสุข มีแต่ช่วยให้เขามีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วย
นี้แหละเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรจะมีในจิตวิทยาแบบยั่งยืน คืออาจจะยังไม่ได้พูดถึงเนื้อตัวของมันทั้งหมด แต่เป็นข้อสังเกตที่บอกว่าอะไรจะต้องให้มีในจิตวิทยาแบบยั่งยืน ถ้าจิตวิทยาทำไม่ได้ตามนี้ ก็คงไม่มีทางยั่งยืน
ขอพูดสั้นๆ ว่า เพียงแต่พัฒนาความสุขได้ถูกต้องอย่างเดียว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็สำเร็จ แต่การพัฒนาความสุขจะสำเร็จ ก็ต้องมีจิตวิทยาแบบยั่งยืน
จิตวิทยาแบบยั่งยืน พูดอย่างง่ายก็คือ จิตวิทยาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และช่วยชี้นำการพัฒนาคนให้มีความสุขที่ยั่งยืน
พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า จิตวิทยาแบบยั่งยืน คือจิตวิทยาที่ช่วยให้มนุษย์บูรณาการชีวิตของตนเข้ากับความเป็นจริงของธรรมชาติ และทำให้เกิดการพัฒนาที่ชีวิตคนก็ดีมีความสุข สังคมก็เกษมศานต์ และโลกก็รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย
อาตมภาพพูดมาได้กินเวลาของท่านผู้ร่วมประชุมไปมากแล้ว บางท่านอาจมีกิจธุระที่จะต้องทำ ถ้าได้รบกวนเวลาไปก็ขออภัย ถ้าหากเป็นประโยชน์ก็อนุโมทนา
ในที่สุดนี้ ขอตั้งจิตตั้งใจเป็นกัลยาณฉันทะต่อทุกท่าน อันถือว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดเป็นจิตวิทยาแบบยั่งยืน คือมีเมตตาปรารถนาดีต่อกันซึ่งเป็นเบื้องต้นของจิตวิทยาแบบยั่งยืน โดยให้เรามีความสุขจากการให้ต่อกัน เพราะฉะนั้นอาตมภาพก็ขอตั้งความปรารถนาดีต่อทุกท่าน ด้วยเมตตาและไมตรีธรรม อาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความงอกงาม ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจหน้าที่การงาน เพื่อให้ชีวิต สังคม และทั้งโลกร่มเย็นเป็นสุข ตลอดปีใหม่นี้ และยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลทุกเมื่อ