เดิมนั้นชาวทิเบตนับถือคติผีสางเทวดาอย่างหนึ่งเรียกว่า ลัทธิบอนโป ต่อมา พระเจ้าสรองสันคัมโป (ประสูติ พ.ศ. ๑๑๖๐) กษัตริย์แห่งทิเบตได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเนปาลและเจ้าหญิงจีน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงได้เริ่มเผยแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระเจ้าสรองสันคัมโปได้ทรงส่งทูตชื่อ ทอนมิสัมโภตะ ไปศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาต่างๆ ในประเทศอินเดีย และได้ดัดแปลงอักษรอินเดียมาใช้เขียนภาษาทิเบต เป็นอุปกรณ์ในการนําพุทธธรรมเข้ามาสู่ประเทศด้วยการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พระพุทธศาสนาในยุคแรกเริ่มนี้ ยังหาแพร่หลายกว้างขวางไม่ เพราะได้รับความต้านทานจากความเชื่อถือและลัทธิประเพณีเดิมของท้องถิ่น
กาลต่อมาถึงรัชกาลพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ นับแต่พระเจ้าสรองสันคัมโปนั้น (ตก พ.ศ. ๑๒๙๘ - ๑๓๔๐) พระองค์ได้ทรงอาราธนา พระศานตรักษิต แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทามาเผยแพร่หลักพุทธธรรมที่แท้ในทิเบต แต่ประจวบเวลานั้น เกิดมีภัยธรรมชาติและโรคระบาด ประชาชนทั้งหลายจึงเห็นไปว่า เป็นอาเพศเพราะการนําลัทธิผิดแปลกเข้ามาสั่งสอน ถึงกับพระศานตรักษิตต้องกลับไปอินเดียครั้งหนึ่งก่อน แต่ท่านได้แก้ไขเหตุการณ์นี้ด้วยการแนะนําให้อาราธนา พระปัทมสัมภวะ ผู้สั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบตันตระ เข้าไปทําการอันถูกอัธยาศัยของประชาชนจนเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว พระศานตรักษิตจึงกลับคืนทิเบตอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่พุทธธรรมที่แท้จริงและแปลคัมภีร์จนถึงมรณภาพในทิเบตนั้นเอง ส่วนการที่พระปัทมสัมภวะเข้าไปครั้งนั้น ก็เป็นต้นเค้าให้พระพุทธศาสนาแบบตันตระเข้าไปตั้งมั่นและเจริญในทิเบตต่อมา
กษัตริย์ทิเบตพระองค์ต่อๆ มา แทบทุกพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา บางองค์ทรงเป็นปราชญ์ รอบรู้ธรรมลึกซึ้ง วรรณคดีพุทธศาสนาได้เจริญมากขึ้น เช่น มีการจัดทําพจนานุกรมภาษาสันสกฤตทิเบตฉบับแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๗ มีการเขียนประวัติศาสตร์ทิเบตฉบับแรกในรัชกาล พระเจ้าราลปาเชน (พ.ศ. ๑๓๕๙ - ๑๓๘๑) เป็นต้น เฉพาะกษัตริย์องค์หลังนี้ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าถึงกับทรงสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายแด่พระองค์ แต่ต่อมามีเหตุร้ายพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ และกษัตริย์ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาขึ้นครองราชย์ ได้ทําลายวัด กําจัดเนรเทศพระสงฆ์เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดความเคียดแค้นอย่างมากจนถูกปลงพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๘๔ ครั้นแล้วพระสงฆ์ที่หลบลี้หนีภัยก็กลับคืนสู่ทิเบต คราวนี้อํานาจของพระสงฆ์กลับเข้มแข็งมั่นคงมากกว่าครั้งใดๆ ในกาลก่อน
กาลล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระอตีศะ หรือ ทีปังกรศรีชญาณ แห่งมหาวิทยาลัยวิกรมศีลาในแคว้นพิหาร ได้รับอาราธนาเข้าเผยแพร่พระพุทธศาสนาในทิเบต เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นการนําพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ทิเบตคราวใหญ่ครั้งสุดท้าย อันทําให้พระพุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงเป็นศาสนาประจําชาติของทิเบต และมีนิกายต่างๆ แยกกระจายออกไป นิกายเก่าที่นับถือพระปัทมสัมภวะนั้นต่อมาได้มีชื่อกําหนดแยกจําเพาะออกไปว่า นิกายหมวกแดง ส่วนคําสอนของพระอตีศะเป็นแบบโยคาจารที่ผสมผสานคําสอนทั้งฝ่ายหีนยานและมหายานเข้าด้วยกัน บังคับพระสงฆ์ให้ถือพรหมจรรย์และไม่สนับสนุนไสยศาสตร์ต่างๆ ต่อมาได้มีนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ชื่อ ตสองขะปะ (เกิด พ.ศ. ๑๙๐๑) อาศัยหลักคําสอนนี้ตั้ง นิกายเกลุกปะ หรือ นิกายหมวกเหลือง ขึ้น และได้สะสางพระพุทธศาสนาให้หมดจดจากลัทธิพิธีต่างๆ ส่วนในด้านวรรณคดี ก็ได้มีการรวบรวมผลงานในด้านการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยจัดแบ่งคัมภีร์แปลเหล่านั้นออกเป็น ๒ หมวด คือ หมวดพุทธพจน์มีผลงานแปล ๑๐๐ เล่ม กับหมวดอรรถวรรณนามีผลงานแปล ๒๒๕ เล่ม คัมภีร์เหล่านี้ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกกันว่า พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนา ฉบับทิเบต
พระสงฆ์นิกายเกลุกปะนั้น ได้รับความยกย่องนับถือจากผู้ปกครองมงโกลว่าเป็นผู้นําทางจิตใจ และต่อมาถือว่าเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองด้วย คราวที่สําคัญก็คือในรัชกาลกษัตริย์มงโกล ชื่อ อัลตันข่าน พระองค์ได้พบประมุขสงฆ์องค์ที่ ๓ ของนิกายนี้ ชื่อ สอดนัมยาโส (พ.ศ. ๒๐๘๙ - ๒๑๓๐) กษัตริย์อัลตันข่านเกิดความเชื่อว่า ท่านประมุขสงฆ์ผู้นี้เป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อนเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงเรียกท่านยาโสว่า ทะเล (ตรงกับคําที่ใช้เรียกของทิเบตบัดนี้ว่า ทะไล หรือ Dalai แปลเป็นไทยมีเสียงตรงกับคําเดิม คือแปลว่าทะเลนั่นเอง) แต่นั้นมาก็เรียกประมุขสงฆ์ว่า ทะไลลามะ ทั้งหมด
ทะไลลามะองค์ที่ ๕ (พ.ศ. ๒๑๕๘ - ๒๒๒๓) ได้รับมอบอํานาจจากผู้นํามงโกลให้ปกครองประเทศทิเบตทั้งหมด พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมได้เจริญวิวัฒนาการสืบมาโดยลําดับ จนถึงสมัยทะไลลามะองค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๔๐๑) ก็เริ่มมีนักบวชคริสต์ศาสนาเดินทางเข้าไป ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียได้จางหายไป เพราะถึงยุคที่อินเดียถูกครอบครองจากภายนอก และคณะสงฆ์เดิมในอินเดียก็เสื่อมไป ทิเบตจึงเข้าสู่ยุคของการปิดประตูอยู่โดดเดี่ยว กับมีการแทรกแซงจากภายนอก ประสบความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกยุคปัจจุบัน จนถึงจีนแดงได้เข้าครอบครองใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ขณะนี้ทะไลลามะประมุขของทิเบตปัจจุบันเป็นพระองค์ที่ ๑๔ ทรงพํานักลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ทรงเดินทางหลบหนีออกจากทิเบตใน พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา