พระพุทธศาสนาในอาเซีย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๑๒.
พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง

 

อาเซียกลางหรือลุ่มแม่น้ำตาริม (Tarim) เป็นแหล่งชุมนุมศิลปกรรมวัตถุเคารพบูชาในพระพุทธศาสนา ได้เคยเป็นทั้งศูนย์กลางและเป็นเส้นทางเผยแพร่สายสําคัญของพระพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาจากอินเดียเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีน ก็โดยอาศัยเส้นทางสายนี้เป็นส่วนใหญ่ อาเซียกลางเป็นชุมทางพาณิชย์ที่สําคัญระหว่างจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ หลายประเทศ จึงเป็นที่บรรจบของวัฒนธรรมหลายพวกหลายแบบ และมีอนุสรณ์แห่งพระพุทธศาสนาในอดีตมากมายหลายอย่าง มีทั้งวัดวาอาราม ถ้ำ สถูป จิตรกรรม ประติมากรรม คัมภีร์ และเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ เป็นภาษาบาลีบ้าง สันสกฤตบ้าง โขตานบ้าง จีนบ้าง ตลอดจนภาษาอื่นๆ หลายภาษา

ศูนย์กลางสําคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง คือ กุฉะ หรือ กูจา และพระภิกษุที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ พระกุมารชีวะ แห่งพุทธศตวรรษที่ ๙ ท่านผู้นี้ได้ศึกษาวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่กัษมีระเป็นเวลาหลายปีจนแตกฉาน เมื่อกลับมาอยู่ที่กูจา ก็ปรากฏเกียรติคุณเป็นปราชญ์ พอดีสมัยนั้น เกิดกรณีพิพาทระหว่างจีนกับกูจา พระกุมารชีวะถูกจีนจับไปเป็นเชลย และได้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา ๑๕ ปี จนถึงมรณภาพ ณ ประเทศนั้น ท่านได้สั่งสอนพุทธปรัชญาและแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาจีนเป็นอันมาก เป็นบุคคลสําคัญที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของประเทศจีน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง