พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การแยกแยะปัจจัยหรือยักย้ายเงื่อนไข

พระพรหมคุณาภรณ์

นั่นเป็นความสามารถพิเศษ ที่ไม่ใช่ทุกคนที่มีจิตใจสว่างจะมีได้ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอิสระจากกิเลสจะทำในสิ่งนี้ได้ แต่คำสอนนี้ก็มีความสำคัญมาก ข้อแรก สำหรับการพัฒนาชีวิตของเรา มันสัมพันธ์กับคำสอนเรื่องกรรม ถ้าเรามองไปที่ เหตุหนึ่ง และผลหนึ่ง เราจะเผชิญปัญหาเรื่อง ฉันทำดี ทำไมได้รับผลร้าย เพราะว่านี่คือ ความไม่ฉลาดในการเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลง ในภาษาบาลีเรียก ปริยาย ซึ่งยากที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ พูดเอาง่ายๆ ว่าการแยกแยะปัจจัย หรือยักย้ายเงื่อนไข

คนที่ฉลาดหรือมีความรู้ในเรื่องเงื่อนไขปัจจัย ก็จะสามารถพัฒนากรรมของตน เพื่อแก้ไขการกระทำที่เคยไม่ได้ผลให้ได้ผล เพื่อให้ได้ผลที่ดีในทางที่ถูกต้อง และเพื่อทำในผลกรรมดียิ่งขึ้น ถ้าเราดูเหตุและผลโดยตรงอย่างเดียว เราแทบจะไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้ เราก็เลยพูดว่าเราทำสิ่งนั้นไป แต่เราไม่ได้ผล เราทำดีแต่ไม่ได้ผลดี แต่ถ้าบุคคลเข้าใจเรื่องปัจจัย เขาคิดว่า เราทำดี แต่มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง เงื่อนไขอันใดอีกเล่าที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ แล้วเขาก็ต้องศึกษาและไปแก้ไขที่เงื่อนไขนั้น มันจึงทำให้มีการปรับแก้และพัฒนาได้ต่อๆ ไป นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คำสอนนี้มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น เราจึงคงจะไม่ต้องห่วงกังวลอะไรให้มาก กับการทำนายหรือคาดการณ์ แต่เราศึกษาและทำเหตุปัจจัยให้ครบถ้วนดีที่สุดในคราวนั้นๆ แล้ว เมื่อมันออกผลตามต้องการหรือไม่ เราก็สืบค้นเหตุปัจจัยที่จะแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไป เพื่อให้มันได้ผลดียิ่งขึ้นไปสู่ความสมบูรณ์

อีกประเด็นหนึ่ง คำสอนนี้สอนให้มีความไม่ประมาท ซึ่งก็เข้ากับหลักการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาในการทำกรรมที่ว่ามานั้นเอง

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมไม่ค่อยแน่ใจนะครับว่า ท่านพูดเรื่องการมีปัญญา ซึ่งท่านใช้คำว่า Cleverness ซึ่งก็คือความสามารถพื้นฐานของบุคคล ความฉลาด มีบทบาทในเรื่องนี้ ความสามารถในการเห็นเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้สมอง คนบางคนก็เห็นเงื่อนไขต่างๆ

พระพรหมคุณาภรณ์

มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนด้วย เราต้องเรียนรู้ นี่เองคือ เหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนหลักธรรมข้อกัลยาณมิตตตา อย่างน้อยที่สุด การฝึกฝนขั้นพื้นฐานที่สุด คือ เราต้องมีที่ปรึกษา มีเพื่อนที่ดี พระพุทธเจ้าทรงเน้นเรื่องการมีกัลยาณมิตรมาก

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมได้อ่านเรื่องความสำคัญของการมี “เพื่อนดี" ในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต (A Constitution for Living) ของท่านว่าเราต้องมีผู้แนะนำที่ดี แล้วเราก็เชื่อฟังคำแนะนำนั้น แต่ที่จริงผมเคยอ่านพบคำสอนที่แตกต่างกันของพระพุทธเจ้า คือ ที่หนึ่ง1 สอนว่า เธอควรฟังคำแนะนำจากผู้แนะนำของเธออย่างระมัดระวัง ถ้าเธอมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิด จงทำตามคำแนะนำนั้น คำสอนอีกที่หนึ่ง2 มีว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นคำแนะนำจากผู้แนะนำของเธอ

1คำสอนเรื่อง มิตร หรือ กัลยาณมิตร ปรากฏอยู่ใน สขสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๓๔ หน้า ๓๓
2น่าจะหมายถึงข้อที่ ๑๐ ใน กาลามสูตร ชื่อเต็มว่า กาลามสูตรกังขานิยฐาน ๑๐ บาลีเรียก เกสปุตติยสูตร ที่ว่า มา สมโณ โน ครูติ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง