การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม

วันนี้ ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัครจัดพิธีทำบุญอุทิศกุศลแด่อาจารย์ป๋วย แน่นอนว่ากิจกรรมนี้เป็นการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของธรรมข้อนี้ด้วย คือการบูชาบูชนียชน ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่ถือว่าควรจะบูชาสำหรับสังคมไทย การบูชานี้อย่างน้อยเพื่อให้เป็นแบบอย่าง และแสดงน้ำใจของเราว่า เราบูชาคุณธรรม บูชาความดี บูชาธรรม

นี้ก็คือได้ ๒ อย่าง สำหรับข้อแรก คือความกตัญญูกตเวทีนั้นก็สำคัญ แต่วันนี้จะไม่เน้น เราควรจะเน้นอย่างหนึ่งเป็นพิเศษซึ่งเห็นว่าสำคัญมากสำหรับสังคมไทย

ในด้านความดีต่อตัวระหว่างบุคคล เราก็มีความกตัญญูแล้ว แต่สำหรับคนที่มีความดี ทำประโยชน์ให้ และเป็นแบบอย่างแก่สังคมวงกว้าง เราต้องมาเน้นข้อบูชาบูชนียชน ที่เป็นมงคลอันอุดม

ขอย้ำอีกครั้งว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า การบูชาบูชนียชน เป็นมงคลอันสูงสุด

ตอนนี้ขอให้มาดูว่า คนที่ควรบูชา ที่เราบอกว่าท่านมีธรรม เราจึงบูชาท่าน ยกย่องท่าน ในฐานะที่เราเห็นท่านเป็นชื่อของธรรม และเป็นที่รองรับของธรรม ซึ่งโยงเราขึ้นไปสู่การบูชาธรรมนั้น ท่านมีคุณความดีเป็นสื่อของธรรมอย่างไร

เราได้เห็นว่า อาจารย์ป๋วยมีคุณความดีหลายอย่าง แต่ความดีอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเด่นมากก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติข้อนี้ได้ยินพูดกันอยู่เสมอ พอดีอาตมภาพก็ได้เขียนไว้ในข้อเขียนที่ลงในหนังสือที่ระลึก ไม่ทราบว่าเสร็จแล้วหรือยัง? ตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า “ดร.ป๋วย กับธรรมะ” ซึ่งได้เล่าไว้ว่า อาตมภาพทั้งแปลกใจและประทับใจ ซึ่งทำให้จำแม่นและได้เขียนไว้ในหนังสือนั้น คือว่าได้ไปพบข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย พูดถึงธรรมหมวดหนึ่ง ที่ชื่อว่า พละ ๔

พละ ๔ ไม่ค่อยมีคนได้ยิน แม้แต่ในวงการผู้ศึกษาธรรมทั่วไป ก็ไม่ค่อยได้ยิน ก็เลยนึกว่า อาจารย์ป๋วย คงจะสนใจธรรมมาก จึงไปเจอหมวดธรรมที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แล้วคิดต่อไปว่าท่านคงเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญแก่ธรรมชุดนี้มาก ก็เลยเอามาพูดในที่นี้

ใครพูดถึงอาจารย์ป๋วยทีไร อาตมานึกถึงธรรมหมวดนี้ทุกที โยงไปด้วยกันเลย ธรรมที่เรียกว่า พละ ๔ นี้ มี

อะไรบ้าง ข้อที่ ๑ ปัญญาพละ หรือปัญญาพลัง กำลังปัญญา ข้อนี้สำคัญมาก คนเราต้องมีกำลังปัญญา การที่เราศึกษาเล่าเรียนกันมาจนจบมหาวิทยาลัย ก็เพื่อจะได้มีปัญญา ปัญญาทำให้เรารู้จัก และเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้สามารถแก้ไขปรับปรุง ทำให้พ้นจากปัญหา ขจัดข้อติดขัดต่างๆ ทำให้จิตใจเราเป็นอิสระ ทำให้หลุดพ้นได้ ปัญญาเป็นตัวส่องสว่าง ชี้นำ บอกทาง ขยายขอบเขต ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

อย่างน้อย เมื่อปฏิบัติหน้าที่การงานทำกิจการใด ก็ต้องรู้เข้าใจงานการที่ตนทำเป็นอย่างดี

ข้อที่ ๒ วิริยพละ หรือวิริยพลัง กำลังความเพียร คนเราทำการอะไรต่างๆ จะสำเร็จได้ต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนาที่สอนให้หวังผลจากการกระทำ เมื่อจะทำให้เดินหน้าไปก็ต้องทำด้วยความเพียรพยายาม จะมัวรอใครบันดาลให้ไม่ได้

อย่างน้อย ไม่ว่าจะทำหน้าที่กิจการงานอะไร ก็ต้องขยันหมั่นทำให้สำเร็จเรียบร้อย ไม่ให้บกพร่อง

ข้อที่ ๓ อนวัชชพละ หรืออนวัชชพลัง กำลังความสุจริต กำลังแห่งการกระทำหรือกิจการงานที่ไม่มีโทษ ไม่มีข้อที่ใครจะยกมาติเตียนได้ พูดง่ายๆ ว่า “มือสะอาด”

การที่อาจารย์ป๋วยสนใจหลักพละ ๔ นี้ อาจจะเป็นเพราะธรรมชุดนี้มีอนวัชชพละ คือกำลังความสุจริตด้วย

ข้อที่ ๔ สังคหพละ หรือสังคหพลัง กำลังการสงเคราะห์ คือความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกันในหมู่มนุษย์

  • ด้วยการให้เผื่อแผ่แบ่งปัน ที่เรียกว่า “ทาน”
  • ด้วยถ้อยคำดีงาม ที่พูดด้วยใจรักหรือมีน้ำใจ เช่น ใช้ วาจาช่วยเหลือกันในการแนะนำบอกทางแก้ปัญหา เป็นต้น ที่เรียกว่า “ปิยวาจา”
  • ด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ในการบำเพ็ญประโยชน์ ที่เรียกว่า “อัตถจริยา”
  • ด้วยการมีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ กัน ที่เรียกว่า “สมานัตตตา”

รวมแล้ว สังคหพละ ที่แยกย่อยเป็น ๔ ข้อ ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม มนุษย์นอกจากจะอยู่ร่วมกันด้วยดีมีเมตตาแล้ว ก็ต้องมีการช่วยเหลือกัน ซึ่งจะยึดเหนี่ยวชุมชนและสังคมไว้ให้มีความสามัคคี

อย่างน้อย เมื่อทำหน้าที่การงาน ก็ไม่เอาแต่ตัวคนเดียว แต่รู้จักใส่ใจมีน้ำใจเอื้อเฟื้อคำนึงถึงคนที่อยู่ร่วมในวงงาน รักษาความสัมพันธ์ที่ดี ร่วมมือร่วมใจกัน และเกื้อกูลสังคมไปด้วย

พละ ๔ นี้ ขอย้ำหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง

  1. ปัญญาพละ - กำลังปัญญา
  2. วิริยพละ - กำลังความเพียร
  3. อนวัชชพละ - กำลังความสุจริต
  4. สังคหพละ - กำลังการช่วยเหลือกันหรือประสานสังคม

หลักพละ ๔ นี้ อาจารย์ป๋วยก็เขียนไว้ในหนังสือของท่านด้วย อาตมาเลยจำแม่นว่า อาจารย์ป๋วยสนใจธรรมะ และจำชื่อท่านติดมากับธรรมชุดนี้

เมื่ออาจารย์ป๋วยสนใจแล้ว ผู้อื่นที่นับถือท่านก็น่าจะสนใจและชวนกันเอาไปประพฤติปฏิบัติด้วย

ถ้าธรรม ๔ ข้อนี้ ได้รับการใส่ใจนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติกันในสังคมนี้ สังคมก็เจริญพัฒนาแน่นอน และเจริญอย่างมั่นคง เพราะในข้อสุดท้ายมี “สังคห” ซึ่งในภาษาบาลีแปลว่า ประสาน รวม ผนึก ทำให้เกิดเอกภาพ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดมีพละหรือพลังภายในตัว ๔ ประการนี้ จะมีความมั่นใจในตนเอง จะดำเนินชีวิตหรือทำกิจการงานใดๆ ก็ทำด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ ไม่กลัวแม้แต่ความตาย

คนเรานี้หลักสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งต้องสร้างขึ้นให้ได้ ถ้าเรามีพละ ๔ ประการนี้ เราก็จะมีความมั่นใจ ยืนหยัดอยู่ในโลก และยืนยงอยู่ในสังคมได้อย่างดี

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง