การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม

คนที่มีธรรม ก็คือคนที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย และรู้จักปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาตินั้น ข้อปฏิบัติของมนุษย์อย่างนี้ ใครมีอยู่ เริ่มตั้งแต่เป็นคนซื่อตรงต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ความจริงเป็นอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น เราเรียกคนนั้นว่ามี “ธรรม”

เมื่อเราไม่ได้ถือเทพเจ้าเป็นใหญ่แล้ว เราก็หันมาถือธรรมเป็นใหญ่ เราจึงบูชา "ธรรม” และในการที่จะบูชาธรรมนั้น บุคคลใดมี “ธรรม” เป็นที่แสดงออก เป็นที่รองรับ เป็นสื่อของ "ธรรม" เราก็บูชาคนนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า ซึ่งควรจะจำกันไว้ให้แม่น เช่นคาถาหนึ่งในธรรมบทว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ เป็นต้น

แปลว่า บุคคลใด ถึงจะเซ่นสรวงด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดเวลาร้อยปี ก็มีค่าไม่เท่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้ว แม้เพียงครู่เดียว

หลักนี้สำคัญมาก และยังมีพุทธภาษิตทำนองนี้อีกมากมายที่ให้ความสำคัญแก่การมาช่วยกันบูชาคนที่มีธรรม เพราะเป็นประโยชน์แท้จริง เพราะเท่ากับเป็นการบูชาคือยกย่องเชิดชูความจริง บูชาความถูกต้อง และบูชาหลักการของสังคม ที่จะธำรงรักษาสังคมให้อยู่ได้ พร้อมทั้งเป็นการขยายจิตใจของคนออกไป ไม่ให้มองจ้องจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ให้ความสำคัญแก่หลักการ และมองประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

การที่ไม่มัววุ่นอยู่กับเรื่องของใจที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการจะขอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ แล้วมาอยู่กับความจริงของกฎธรรมชาติ ทำให้ต้องใช้ปัญญาศึกษา ดังนั้น แม้แต่เพียงว่าเราเอาหลักการบูชาบุคคลที่ควรบูชามาใช้อย่างเดียว ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สังคมจะเดินหน้าไปได้ ถ้าเราไม่ย้ายมาสู่จุดนี้ สังคมจะจมและเปลี้ยโทรมลงไปทุกที

ถ้าเราไม่บูชาธรรม และไม่บูชาคนที่มีธรรม เราก็จะเขวไปบูชาเทพเจ้า ถ้าไม่บูชาเทพเจ้าบนฟ้า ก็อาจจะเอาอะไรที่ไม่เข้าเรื่องมาเป็นเทพเจ้า เช่นเดี๋ยวนี้พูดกันว่า “เอาเงินเป็นเทพเจ้า" ต่อไปก็บูชา “เงิน” บูชา “ผลประโยชน์” อะไรต่อมิอะไร ก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นหลักการนี้สำคัญมาก เป็นปัจจัยใหญ่ที่จะตรึงสังคมไว้

ในมงคล ๓๘ ประการ พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงการบูชาคนที่ควรบูชาไว้ เป็นมงคลข้อที่ ๓ หมายความว่า พระพุทธศาสนาเริ่มที่สังคมก่อน คือเริ่มจากรอบตัวเข้ามา ให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี อย่างถูกต้อง

มงคลข้อที่ ๑ คือ อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล หมายความว่า ไม่เอาเยี่ยงอย่าง ไม่ตามคนพาล ไม่เอามาเข้าวงสัมพันธ์ในการเป็นอยู่และกิจการงาน แต่ก็มีข้อยกเว้น เดี๋ยวโยมจะบอกว่า “เอ๊ะ อะไร ไม่เหลียวแลคนพาลเลยหรือ?”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ควรคบคนทราม เว้นแต่จะช่วยเขา” (องฺ.ติก.๒๐/๔๖๕๑๕๗) มีหลักอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าเราจะคบคนพาล ก็คบเพื่อจะช่วย แต่จะไปเอาตามอย่างเขาไม่ได้

พร้อมกันนั้น คนที่จะช่วยคนพาลก็ต้องเตรียมตัวให้ดีด้วย เช่น ต้องแข็งจริง ต้องมั่นคง ต้องเก่ง มั่นใจว่าดึงเขาขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าตัวเองอ่อนแอ จะไปช่วยเขา ตัวเองกลับโดนเขาดึงลงไปเลย ถ้าอย่างนี้ก็แย่ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น หลักทั่วไปจึงบอกว่า ไม่คบคนพาล และก็มาถึงข้อยกเว้นว่า นอกจากจะช่วยเขา

มงคลข้อที่ ๒ คือ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา แปลว่า คบบัณฑิต คือคบคนดี คนมีปัญญาและคุณธรรม คนที่จะชักนำไปสู่ความเจริญงอกงามในความดี

มงคลข้อที่ ๓ คือ ปูชา จ ปูชนียานํ แปลว่า บูชาคนควรบูชา หรือบูชาปูชนียชน

นั่นคือมงคล ๓๘ สามข้อแรก เป็นชุดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชานี้ เป็นข้อที่ควรจะได้เน้นกันเป็นพิเศษในสังคมปัจจุบัน เพื่อจะได้ช่วยกัน ธำรงรักษาสังคมไว้ด้วยการธำรงรักษา "ธรรม” ให้แก่สังคม

อย่างไรก็ตาม การดำรงรักษา “ธรรม” นั้น เป็นนามธรรมที่เรามองไม่ค่อยเห็น ถ้าเราทุกคนธำรงธรรมได้ด้วยตนเองก็ดีซิ คือเราประพฤติธรรมนั่นแหละ การธำรง “ธรรม” ไว้ ก็คือตัวเราเอง ต้องประพฤติตาม “ธรรม” นั้น

ทีนี้ถ้ามีคนประพฤติ “ธรรม” อย่างจริงๆ จังๆ เป็นตัวอย่าง เราต้องช่วยกันแสดงออกให้เห็นว่า เราเป็นนักธำรง “ธรรม” เราเชิดชู “ธรรม” จริงๆ ด้วยการเชิดชูคนที่มี “ธรรม” ถ้าเราเชิดชูบุคคลที่มีธรรม บูชาคนที่ดี ก็เป็นการแสดงอย่างแน่นอนว่า เราบูชาธรรม ยกย่องความดีงามถูกต้อง ฉะนั้น หลักการบูชาปูชนียชนนี้ คิดว่าปัจจุบันเราจะต้องช่วยกันเน้นให้มากเป็นพิเศษ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง