การบูชานั้น ที่จริงในภาษาบาลีก็ตรงกันกับคำไทยง่ายๆ ว่า “ยกย่อง” นั่นเอง แต่ในภาษาไทยเรามักนึกถึง “บูชา” เหมือนอย่างเอาไปขึ้นหิ้ง หรือขึ้นแท่นบูชา แล้วก็ “กราบ”
ในภาษาบาลี คำว่า “บูชา” นั้นมีความหมายกว้าง การยกย่องคนที่มีคุณความดีสมควรแก่ฐานะนั้นๆ ก็เรียกว่า “บูชา” ใครทำความดี ไม่ว่าเขาจะมีฐานะมีตำแหน่งอะไรหรือไม่ เราให้เกียรติที่สมควรแก่เขา ก็เรียกว่า “บูชา”
ขอยกตัวอย่าง ในสมัยก่อนพุทธกาล มีเรื่องมาในชาดกเล่าว่า นายคนหนึ่งเคยเป็นคนยากจน เขาขยันหมั่นเพียร สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยความสุจริต เป็นหลักเป็นฐาน มีเงินมีทองมาก สำนวนภาษาบาลีว่า พระราชาได้ทรงบูชานายคนนั้นด้วยตำแหน่ง “เศรษฐี” นี่คือการบูชา หมายถึงการยกย่องให้เกียรติที่สมควร
คำบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย บางทีความหมายก็แคบลงไปๆ จึงควรทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน
โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชา เป็นหลักการที่ควรนำมาย้ำกันมากเป็นพิเศษในยุคนี้ เพราะการที่เราบูชาคนควรบูชา ก็คือยกย่องคนที่มีธรรม
เราจะบอกว่าท่านเป็นคนมีคุณธรรม มีความดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุด ก็คือท่านมี “ธรรม”
เมื่อเราบูชาคนที่มีธรรม ก็หมายความว่าเราบูชาตัว “ธรรม” นั่นเอง เพราะ “ธรรม” นั้นมาแสดงออกที่ตัวบุคคล กลายเป็นว่าคนนั้นเป็นที่ตั้ง เป็นที่รองรับ เป็นสื่อ และเป็นที่แสดงออก ตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม
เราต้องการจะบูชา “ธรรม” เราก็บูชาคนที่มีธรรม หรือคนผู้เป็นสื่อและเป็นที่แสดงออกตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม
ธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าสังคมมนุษย์ไม่ยกย่องเชิดชูธรรม คือไม่ยกย่องความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเสียแล้ว สังคมนั้นเองก็จะวิปลาส ในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสังคมที่ดีจะต้องเชิดชูธรรม แต่จะเชิดชูธรรมได้อย่างไร
ธรรมนั้นต้องมีที่แสดงออก คือมาแสดงออกที่ตัวคน คนไหนมีธรรม เราก็ไปชวนกันยกย่องให้เกียรติ เพื่อจะส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมหรือการมีธรรมนั้นขยายกว้างขวางออกไป ในทางพระพุทธศาสนาจึงยกย่องสรรเสริญ และย้ำความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการบูชาคนที่ควรบูชา
เรื่องนี้ บางทีแม้แต่ทางฝ่ายพระทั่วไป ก็มองข้ามกันไปเสียคล้ายๆ ว่าไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มองกันแต่ที่ตัวหลักธรรม ไม่ใส่ใจคนที่มีธรรม คนที่ดำรงธรรม รักษาธรรม ทรงธรรมไว้ ซึ่งที่จริงสังคมยุคนี้ควรเห็นตระหนักในความสำคัญให้มาก จึงขอย้ำ