บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทางเลือกที่เกี่ยวกับอุดมคติของสังคมไทย

ถ้าจะเอาตามอุดมคติพุทธศาสนาแท้ๆ ก็ต้องเป็นสังคมที่มุ่งนิพพาน สังคมมุ่งนิพพานก็คือสังคมที่ทำการโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน หมายความว่า ทำงานเพื่องาน ถ้าเป็นแพทย์ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต้องการเห็นว่าคนไทยทั้งประเทศไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จะทำอย่างไรให้เป็นอย่างนั้นได้ เป็นต้น อันนี้เข้าหลักที่เรียกว่า ‘ฉันทะ’ คนที่จะไปนิพพานนั้นมีฉันทะ คนที่จะไปสวรรค์ก็ต้องมีฉันทะ แต่ฉันทะคนละอย่าง

คนที่ไปสวรรค์นั้น เขามีฉันทะเรียกว่า ‘กามฉันทะ’ คือ ความใฝ่หรือความต้องการจะเอาในสิ่งที่น่าปรารถนา ที่สนองความต้องการทางเนื้อหนัง จะเป็นสวรรค์ในอุดมคติหรือสวรรค์ชั้นต่ำก็ตาม เรียกว่า ‘กามฉันทะ’ ทั้งสิ้น เพราะต้องการผลประโยชน์ตอบแทนที่สนองความสุขทางประสาททั้ง ๕ พวกที่ไปนิพพานนั้นเขามีฉันทะอีกอย่างเรียกว่า ‘ธรรมฉันทะ’ คือ ความต้องการธรรมะหรือสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ดีโดยไม่เอามาสัมพันธ์กับความเห็นแก่ตน

ขอเน้นว่านี้เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง คือ การสร้างค่านิยม ถ้าเราจะสร้างความเจริญก็ต้องกำหนดให้ถูกว่าเราจะให้เป็น สังคมอะไร เราจะเอาสังคมที่มุ่งสวรรค์หรือมุ่งนิพพาน และแม้แต่จะเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ จะเอาสวรรค์อุดมคติหรือสวรรค์ชั้นต่ำ แต่ปัจจุบันนี้แนวโน้มเป็นไปในรูปของการมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ คือมุ่งสวรรค์เฉพาะหน้าที่เห็นกันอยู่

เป็นอันว่าเราจะต้องมาสร้างค่านิยมอันนี้ให้ได้ แม้แต่ระบบการศึกษาก็ต้องนำไปสู่จุดนี้ คือต้องสร้างคน ถ้าตกลงว่าเป็นสังคมที่มุ่งนิพพาน ก็สร้างคนให้มีฉันทะในการที่จะทำงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานนั้น ที่เป็นจุดมุ่งหมายของตัวงานจริงๆ โดยไม่ต้องเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตัวตนในที่นี้ หมายถึงผลประโยชน์ของตนหรือความเห็นแก่ตน หรือให้มีน้อยที่สุดในฐานะที่เป็นปุถุชน และพยายามที่จะเดินเข้าสู่จุดมุ่งหมายนั้นอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าเราจะเรียนแพทย์ ก็เพราะเรารักที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนให้หายโรคภัยไข้เจ็บ เวลาทำงานจิตใจของเรามีความฝันใฝ่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรคนไทยจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทำอย่างไรคนไทยจะมีสุขภาพดี ทำอย่างไรคนนี้เขามาหาเรา เราจะทำให้เขาหายโรค ทำอย่างไรจะให้เขามีหน้าตาสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสได้

ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนเดินมาคิดว่า “เอ้อ คนนี้เราจะได้เงินจากเขากี่บาท” อะไรอย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากว่าพอเห็นเขาเดินมาก็คิดว่าคนนี้น่ากลัวจะได้สัก ๑๐๐ สัก ๑,๐๐๐ ถ้าอย่างนี้แสดงว่าเรามุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ ถ้าเราเห็นคนเดินมาแล้วคนนี้มีทุกข์ เราเกิดมีเมตตากรุณาอยากจะช่วยว่า ทำอย่างไรจะให้เขามีหน้าผ่องใสร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เกี่ยวกับตัวตนของเรา มันก็เป็นค่านิยมที่มุ่งไปทางนิพพาน เป็นธรรมฉันทะได้

หากตกลงว่าปัญหาที่เราจะแก้นั้นสำคัญ คือ ต้องมีความตื่นตัวเสียก่อน ตื่นตัวนั้นอาจด้วยวิธีรุนแรง หรือด้วยการให้ความรู้การศึกษาอย่างจริงจังระยะยาวก็ได้ แต่เมื่อตื่นตัวแล้วในรูปที่รุนแรงก็จะต้องตั้งสติหาทางเดินที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจเช่นเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจนี้ หมายถึงความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่ตนจะแก้ เริ่มตั้งแต่สังคมที่ตนจะแก้ปัญหาให้นั้น

ถ้าหากใครตั้งตัวจะเป็นผู้แก้ปัญหา ผู้นั้นก็จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้มากที่สุด ปัจจุบันนี้ เราถือว่าปัญญาชนนักวิชาการต่างๆ เป็นผู้ตั้งตัวที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ชนกลุ่มนี้จะต้องรับผิดชอบมากที่สุด จะต้องทำตัวให้พร้อมที่จะเป็นผู้แก้ปัญหา มิฉะนั้นแล้วตนเองนั้นแหละจะเป็นผู้ทำบาปหนัก คือนำสังคมไปสู่ความเสื่อม

เมื่อเริ่มลงมือทำการแก้ปัญหาด้วยความรู้ความเข้าใจจริงแล้ว ขั้นต่อไปในระยะยาวคือการสร้างค่านิยมของสังคม ซึ่งจะทำให้ได้ผลระยะยาว ทำให้เราทำงานสร้างสรรค์กันไปได้ดีจริงๆ ถ้ามีค่านิยมมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ มุ่งแต่ผลประโยชน์แล้ว การพัฒนาอะไรจะเป็นไปด้วยการสะสมปัญหามากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเสื่อมและความหายนะ จึงต้องมากำหนดกันว่า จะเอาค่านิยมอะไรกันแน่ จะเอาอะไรเป็นอุดมคติของสังคมไทย

ช่วงเวลานี้เป็นระยะที่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้หมายถึงความเปลี่ยนจากสภาพที่เป็นปัญหา ไปเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการแต่ประการใด เป็นเพียงการขยับเขยื้อนตัวหันเหไปสู่ทิศทางใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความตื่นเต้นบ้าง ตื่นตัวบ้าง การแล่นเตลิดบ้าง การคลำหาทิศทางบ้าง เป็นช่วงต่อสำคัญที่จะเดินไปสู่วัฒนะหรือหายนะก็ได้ สิ่งที่ต้องการและจำเป็นยิ่งคือการหาความรู้ความเข้าใจ และการกระทำด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเข้าใจในเนื้อตัวของตนเองที่จะแก้ไข เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้เกิดการปรับตัวอย่างถูกต้อง

ในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมาแล้วไม่นานนัก สังคมไทยได้เคยประสบความเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งหนึ่ง ความไม่พร้อมและการปรับตัวที่ไม่เป็นด้วยดีครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ส่งผลมาจนเป็นปัจจัยสำคัญให้มีความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากครั้งนี้เปลี่ยนแปลงแล้วยังปรับตัวไม่ได้อีก ผลที่เกิดขึ้นก็น่าจะเลวร้ายยิ่งไปกว่าครั้งก่อน เพราะจะหมายถึงการหมักหมมปมปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงครั้งก่อน ซึ่งยังไม่ได้แก้ไข ซ้อนเข้าไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย1 แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้มีการแก้ปัญหาที่สะสมจากเก่าออกไป โดยที่ตัวเราเองไม่เป็นผู้เติมปัญหาร่วมสะสมเข้าไปอีก ก็มีทางที่จะนำสังคมไทยเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าความเจริญก้าวหน้าได้จริง ปัญหาอยู่ที่ว่าเรารู้หรือยัง แม้แต่ข้อว่าอะไรเป็นตัวปัญหาที่แท้จริง

อาตมภาพคิดว่าได้พูดมามากพอสมควร ต่อไปนี้มาตอบปัญหากัน ถ้าหากจะมีปัญหาอะไร แม้จะเป็นปัญหาที่พาดพิงมาถึงสถาบันสงฆ์ ก็ควรจะตอบ ไม่ควรจะมานิ่งจำกันไว้ ขอเชิญ

1 ดู บันทึกที่ ๕ ‘ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์’ หน้า ๑๐๒
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง