บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์

อาตมภาพอยู่ในสถาบันสงฆ์ จะขอพูดถึงเรื่องของสถาบันสงฆ์เอง สถาบันสงฆ์นับว่าเป็นสถาบันสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย และเดิมมาเรายอมรับอย่างนั้น เช่น เรายอมรับว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน วัดมีบทบาทต่างๆ มาก ทีนี้ พอสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป สถาบันสงฆ์ตอนนั้นกับสถาบันฝ่ายบ้านเมืองไม่ได้ร่วมมือกันเต็มที่ ทำท่าจะร่วมแล้วก็มาแยกกันอีก นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมในการที่สถาบันจะร่วมมือกันในการปรับตัว

อนึ่ง ในระยะของการเปลี่ยนแปลงนั้น สถาบันสงฆ์อยู่ในสภาพที่ตัวเองก็เสื่อมแล้วด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสมัยที่เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงมาสู่ความเจริญแบบสมัยใหม่ ขณะนั้นการศึกษาของพระสงฆ์อยู่ในสภาพที่อ่อนเปลี้ยเพลียกำลังเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากหลักฐาน เช่น ในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จประพาสต่างจังหวัด ทรงมีมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่า พระในต่างจังหวัดเทศน์กันแต่เรื่องนิทาน หาหลักปฏิบัติได้น้อย ขอพระองค์โปรดรวบรวมธรรมะเขียนแบบง่ายๆ สำหรับพระอ่านให้ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง1 อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้ก็เป็นการชี้ชัดว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นสภาพการศึกษาและสภาพการสั่งสอนประชาชนในชนบทของพระสงฆ์เสื่อมโทรม สถาบันสงฆ์ในขณะนั้นอ่อนกำลังทางด้านการศึกษา พระไม่มีความรู้ในการสั่งสอนประชาชน อันนี้เป็นปัญหา และปัญหาอันนี้ก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมต้องการเปลี่ยนแปลง สถาบันสงฆ์ก็ไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะช่วยนำทางให้ได้ผลดี อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง

เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็เกิดความสับสน ขึ้นมา อย่าว่าแต่จะคิดทำการอะไรที่เป็นการนำทางหรือเดินหน้า เลย แม้เพียงจะรู้จักตัวและหน้าที่ของตนเอง สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันสงฆ์ก็ยังไม่สามารถกำหนดบทบาทและหน้าที่ของตนได้ว่า ในสังคมนี้สมัยนี้ตนควรทำอะไรอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะถามว่า ในปัจจุบันสถาบันสงฆ์มีหน้าที่มีบทบาทอะไรในสังคม ก็คงจะคลุมเครือมากทีเดียว บางทีก็มองในแง่ว่า พระเป็นผู้ทำพิธีกรรมบ้าง เป็นหมอดูบ้าง ให้เช่าพระบ้าง อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องสับสนในทางบทบาท พร่าจนอาจไม่รู้ก็ได้ว่า พระมีบทบาทอะไรแน่ในทางสังคม บทบาทแท้ๆ ของท่านคืออะไร นี่คือสภาพในปัจจุบัน นี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นมูลเหตุของปัญหาอื่นๆ2 ไม่เฉพาะแต่สถาบันสงฆ์เท่านั้น สถาบันอื่นก็เช่นเดียวกัน

1ความในพระราชหัตถเลขาว่า ‘เทศน์มีเนื้อความเป็นนิทานมาก ข้อปฏิบัติมีแต่เล็กน้อย ไม่เป็นที่เลื่อมใส เห็นว่าการศาสนาในหัวเมืองอยู่ข้างจะเหลวไหลเสื่อมทรามมาก เพราะไม่มีหนังสือแสดงข้อปฏิบัติที่แท้จริงสำหรับเล่าเรียน’
2 ดู บันทึกที่ ๑ ‘ปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน’ หน้า ๓๒
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง