บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน
และแนวทางแก้ไข1

หัวข้อเรื่องที่นิมนต์ให้พูดนี้2 รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่กินความกว้างมาก บางท่านอาจสงสัยว่าพระมาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ด้วย

ความจริงนั้น เรื่องปัญหาสังคมก็ดี เรื่องทางการแพทย์ก็ดี มีความเกี่ยวข้องกับพระอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์นั้นมีบัญญัติไว้ว่าเป็นผู้ให้ธรรมทาน ธรรมทาน คือการให้ธรรม แจงความหมายออกไปว่า เป็นการพยายามชี้แจงแนะนำในเรื่องหลักความดีงาม หรือหลักการที่จะช่วยให้มนุษย์ได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ซึ่งมีความหมายกว้างขวาง เราต้องการให้สังคมประสบสิ่งที่ดีงาม สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นความทุกข์ ความขัดข้องต่างๆ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธรรมะอยู่ด้วย

สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมไทย ในฐานะที่เป็นสถาบันเช่นนี้ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ในตัว หรือจะว่าเกี่ยวข้องอยู่ตลอดทุกเวลาก็ว่าได้ โดยมีบทบาทในทางสังคมเองบ้าง พฤติกรรม กิจกรรม และกิจการต่างๆ ที่พระสงฆ์กระทำมีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมไปด้วยบ้าง ความเป็นไปในสังคมมีผลต่อสถาบันสงฆ์บ้าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่พระศาสนา ไม่ว่าจะเป็นธรรมคำสอนก็ตาม หรือพระสงฆ์ในรูปของสถาบันหรือวัดวาอารามก็ตาม จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสังคม

1บรรยายที่คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๗.
พิมพ์ครั้งแรก ปาจารยสาร ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑ (ก.ค.-ก.ย.) ๒๕๑๗.
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำหรับพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘.
2ชื่อเดิมของปาฐกถานี้ว่า ‘ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข’
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง