ว่าที่จริงนั้น คนเราในยุคที่เจริญขึ้นมานี้ บางทีก็มีข้อบกพร่องโดยไม่รู้ตัว อย่างเรื่องความแปลกแยกนี้ เราแพ้คนสมัยก่อน
เมื่อเราเจริญด้วยอารยธรรมแล้ว การที่เราจะได้ประโยชน์จากอารยธรรมนั้น ฐานเดิมเราต้องไม่เสียด้วย คือ ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติที่เป็นของแท้ของจริง พร้อมกันนั้น ประโยชน์ทางด้านอารยธรรมที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา เราก็ได้ด้วย ถ้าอย่างนี้เราก็ได้ ๒ ชั้น
แต่มันไม่อย่างนั้น พอได้ประโยชน์จากอารยธรรมปรุงแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มนุษย์ก็ลืมฐานเดิมที่เป็นธรรมชาติ แล้วแปลกแยกจากธรรมชาติเสีย
ถ้ามนุษย์สร้างอารยธรรมของตนขึ้นมาได้ แต่สูญเสียฐานเดิมหลุดหายไป อารยธรรมที่สร้างขึ้นมาก็จะกลับกลายเป็นพิษภัย และการได้มา ก็อาจกลายเป็นการสูญเสียทั้งหมด
ฐานเดิมนั้นเป็นเนื้อตัวของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นของแท้ การที่คนแปลกแยกจากธรรมชาติ ก็เพราะไปหลงติดในเรื่องสมมติของอารยธรรม โดยไม่รู้เท่าทันความจริงของมัน ซึ่งทำให้เขาก่อปัญหาขึ้นมาแก่ตนเอง เนื่องจากประสานความจริงของธรรมชาติ กับสมมติของอารยธรรมไม่ได้ เลยเสียทั้ง ๒ ด้าน คือ ทางด้านสมมติของอารยธรรม ก็ใช้มันไม่เป็น และทางด้านธรรมชาติ ก็แปลกแยกไปเสีย
จึงขอพูดแทรกไว้ว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันที่มีความเจริญมากแล้ว ในยุคของระบบผลประโยชน์ ที่เน้นการแข่งขันกันนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติ ๓ ด้านด้วยกัน
ความสุขของมนุษย์นั้นมีฐานที่เป็นทุนเดิมอยู่ ๓ อย่าง ถ้ามนุษย์สูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการนี้แล้วจะลำบาก มนุษย์ในยุคนี้กำลังสูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการไป โดยระบบชีวิตที่แปลกแยกจากธรรมชาติ
ขอให้สังเกตว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติ ๓ ด้าน
ด้านที่ ๑ คือ ความแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม ชีวิตเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เนื้อตัวร่างกายของมนุษย์เราทั้งหมดเป็นของธรรมชาติ เกิดมาตามธรรมชาติ ชีวิตของเราเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องเกิดแก่ เจ็บ ตาย ไปตามกฎธรรมชาตินั้น เราต้องหายใจ ต้องดื่มน้ำ ต้องกินอาหาร รู้สึกหนาวร้อน ฯลฯ ความสุขความทุกข์ของเราจึงผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ขาดธรรมชาติไม่ได้
เรามีความสุขเมื่อออกไปในที่โปร่งโล่ง สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด สุขสดชื่นเมื่อต้องสายลมเย็น เมื่อร้อนแดดแผดกล้ามานาน ก็อยากได้ฝนตกชุ่มฉ่ำ เมื่อฟ้ามืดมัว ฝนตกเฉอะแฉะยืดเยื้อมา พอฟ้าแจ้งแดดจ้าก็ร่าเริงแจ่มใส เมื่ออยู่ในที่พักที่ทำงานที่จำกัดนานๆ พอได้ไปในที่โล่ง เห็นท้องฟ้ากว้างขอบฟ้าไกล มีทิวเขาหรือท้องทะเลทอดแผ่ไป ก็แสนจะสุขสบายชื่นใจ เห็นป่าเขา ต้นไม้ร่มรื่น ใบไม้เขียวขจี ดอกไม้หลากสี ก็มีความสุข
ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ตลอดเวลา อยู่ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ และต้องการความสุขในการสัมผัสกับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นแหล่งทุนพื้นฐานแห่งความสุขของมนุษย์แหล่งแรกที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ตั้งแต่แรกกำเนิดของมนุษยชาติตลอดมา
เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น เราก็สร้างสรรค์อารยธรรมจนเกิดเป็นโลกของมนุษย์ขึ้นมา โลกของมนุษย์เป็นโลกแห่งการปรุงแต่ง เรามีอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง มีสิ่งของเครื่องใช้ เทคโนโลยีสารพัด จนกระทั่งโลกที่มนุษย์ปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีมาซ้อนอยู่ในโลกของธรรมชาติ บางทีมันก็บังเราให้เหินห่างออกไป จนกระทั่งมองไม่เห็นโลกธรรมชาติ และเข้าไม่ถึงโลกของธรรมชาติเลย
ดังจะเห็นว่า คนในยุคปัจจุบันนี้ บางคนอยู่ในโลกไปวันๆ โดยไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติเลย ชีวิตของเขาอยู่กับสิ่งปรุงแต่ง เช่น เทคโนโลยี
นอกจากแปลกแยกจากธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติเองก็เหลือน้อยร่อยหรอลงไปด้วย ธรรมชาติจึงมีให้เราสัมผัสได้น้อยลง
ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติที่มีให้สัมผัสซึ่งเหลือน้อยแล้ว ยังเป็นธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เต็มไปด้วยมลภาวะเสียอีก ธรรมชาตินั้นแทนที่จะอยู่ในสภาพดี ที่เราจะได้ชื่นใจ สบาย สะอาดบริสุทธิ์ งดงามสดใส หายใจโปร่งโล่ง ก็กลายเป็นธรรมชาติที่อึดอัดก่อโรคภัย
แค่นั้นไม่พอ ขณะที่ชีวิตของมนุษย์นั้นในที่สุดก็ต้องการดอกไม้ สายลม แสงแดด เราต้องมีความสุขประเภทนี้บ้าง จะขาดโดยสิ้นเชิงไม่ได้ แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ บางทีทั้งๆ ที่ไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่จิตใจเร่าร้อน นึกถึงแต่เรื่องที่ห่วงกังวลหวั่นใจ ทำให้เครียด เช่น คิดถึงงานการในภาวะแข่งขันกันว่า ทำอย่างไรเราจะตามทันเขา เขาจะได้เกินหน้าเราหรือเปล่า ฯลฯ
ทั้งๆ ที่ตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ชีวิตจิตใจสัมผัสไม่ถึงธรรมชาติ ไม่ซึมซาบความละเมียดละไมอ่อนโยนของธรรมชาติ เพราะถึงแม้ตัวอยู่ แต่ใจไม่อยู่ หรือใจมัวแต่เร่าร้อนฟุ้งซ่านไป เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ได้ความสุขจากธรรมชาติ ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
นี้เป็นความแปลกแยกสถานแรก ที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความสุขพื้นฐานด้านหนึ่งไป และเมื่อขาดความสุขด้านนี้แล้ว ก็ทำให้เขาสั่นคลอนมาก พร้อมทั้งความเครียดความทุกข์ ความเสียสุขภาพจิตต่างๆ ก็พรั่งพรูตามมา
ด้านที่ ๒ คือ ความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ นอกจากชีวิตของเราเป็นธรรมชาติที่อยู่กลางธรรมชาติแล้ว แต่ละขณะเราก็อยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วย ดังที่พูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ทีนี้ความสุขของมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานแต่ละเวลาแต่ละขณะอีกด้านหนึ่ง ก็เกิดจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่แหละ เริ่มแต่ในครอบครัว เมื่ออยู่กับพ่อกับแม่กับลูกกับหลานกับญาติกับมิตร และกว้างออกไปในสังคมเมื่อได้สัมผัสพูดจากับคนโน้นคนนี้ ความสุขจากความสัมพันธ์พูดจาเมตตาไมตรีนี้เป็นความสุขพื้นฐานด้านที่ ๒ ของมนุษย์เรา
แต่สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ได้พาเอาจิตใจของเราให้ห่างเหินกันไกลออกไป นอกจากเวลาแข่งขันกันโดยตรงแล้ว แม้แต่เวลาที่อยู่ในบ้านหรือในครอบครัว ใจก็ไม่อยู่ มีคนจำนวนมากที่ตัวอยู่กับบ้าน อยู่ในครอบครัว แต่ใจไม่อยู่ เพราะใจไปอยู่กับเรื่องการเรื่องงานเชิงแข่งขันที่กำลังเครียด กำลังกังวลอยู่ ทำให้เสียความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
ทั้งที่อยู่ในครอบครัว ตัวอยู่ใกล้ แต่ใจเหินห่าง จิตใจของตัวมีความเครียดกังวลเร่าร้อน แทนที่จะให้ความอบอุ่นความรักแก่ลูกหลาน ก็ไม่ได้ กลับหงุดหงิดใจ เอาลูกหลานเป็นที่ระบายความเครียด กลายเป็นเกิดความทุกข์กันมากขึ้น คนในครอบครัวแทนที่จะได้ความสุขจากกันและกัน ก็กลับได้ความทุกข์ ลูกก็มีปัญหามีความทุกข์ พ่อแม่ก็มีความเครียดของตัวเอง เวลาสัมพันธ์กัน ก็เลยไม่ได้ความรักความอบอุ่น
เมื่อมนุษย์ไม่ได้ความสุขจากกันและกัน ก็บีบเขาให้ยิ่งไปหาความสุขจากสิ่งเสพสิ่งบริโภคยิ่งขึ้น อย่างเด็กๆ ที่ไม่ได้ความสุขจากความรักความอบอุ่นในครอบครัว แกก็ไปหาทางชดเชยให้ได้ความสุขนี้จากที่อื่น ดีไม่ดี ก็หาทางออกด้วยการไปมั่วสุมสิ่งเสพติด เป็นทางออกในการหาความสุขและระบายความทุกข์ของเขา
คนในระบบแข่งขัน เมื่อแต่ละคนมองไปที่ผลประโยชน์ที่ตนจะเอาจะได้ ก็ทำให้มีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ มีความหวาดระแวง พบปะพูดจากัน ก็ไม่ค่อยมีความจริงใจ บางทีก็มองผู้อื่นเป็นเหมือนเหยื่อว่าเราจะเอาผลประโยชน์จากเขาได้อย่างไร แม้แต่การยิ้มแย้ม ก็ทำไปด้วยความคิดซ่อนแฝงที่จะได้จะเอา หรือทำไปอย่างนั้นเอง ดังนั้น ความสุขจากเมตตาไมตรีจึงเป็นไปได้ยาก
ด้านที่ ๓ คือ ความแปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง มนุษย์เราไม่ได้อยู่เฉยๆ เราต้องทำโน่นทำนี่เรื่อยไป ชีวิตที่เป็นอยู่แต่ละขณะๆ ของเรา นอกจากอยู่กับธรรมชาติ และอยู่กับเพื่อนมนุษย์แล้ว ก็อยู่กับการกระทำการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวที่เรียกว่ากิจกรรมแห่งชีวิตของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น แหล่งความสุขพื้นฐานอีกด้านหนึ่งของเรา ก็คือกิจกรรมของชีวิตเหล่านี้
ถามว่า มนุษย์ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ไปทำไม ขอให้ดูเถอะ มนุษย์โดยพื้นฐาน เวลาเขาทำอะไร เขาจะทำด้วยความต้องการผลโดยตรงของกิจกรรมนั้นๆ เขาต้องการผลอะไรอย่างหนึ่ง เขาจึงทำกิจกรรมนั้น เช่น ถ้าเขาต้องการปลูกต้นไม้ เขาจึงไปขุดดิน แล้วเขาก็ไปเอาต้นไม้มาลง แล้วดูแล ทำการรดน้ำ เป็นต้น
นี่หมายความว่า มนุษย์โดยพื้นฐาน เขาทำกิจกรรมใดก็เพราะต้องการผลของกิจกรรมนั้น เมื่อต้องการผลและทำเหตุที่ตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่ผลนั้น เขาก็มีความสุขอย่างที่บอกเมื่อกี้ เพราะในการทำงาน เขาไม่แปลกแยกจากกิจกรรมของเขา
แต่คนปัจจุบันนี้ไม่ค่อยเป็นอย่างนั้น กิจกรรมการงานที่เขาทำนั้น บางทีเขาทำไปโดยไม่ได้ต้องการผลของมัน หรือทำไปโดยไม่รู้ตัวถึงผลของการงานนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เขาต้องการเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ผลที่แท้ของการกระทำนั้นเลย คือ ผลของตัวงานนั้น เขาไม่ได้ต้องการ ส่วนผลที่ต้องการ ก็ไม่ใช่ผลของตัวกิจการนั้น ดังที่ได้ยกตัวอย่างแล้วในเรื่องคนทำสวน
สมัยก่อนใครเขาจะทำสวน ถ้าเขาไม่มีความต้องการให้ต้นไม้งาม ถ้าเขาไม่ต้องการได้เห็นต้นไม้โต เขาก็ไม่มาขุดดิน แต่ในโลกมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ที่อารยธรรมเจริญ มนุษย์อาจจะมาขุดดินปลูกต้นไม้โดยที่ตัวเองไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้งาม เพราะได้มีโลกของการสมมติเกิดขึ้นมา คือการตั้งกฎของมนุษย์ว่า คุณมาทำสวน ๑ เดือน แล้วจะได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนะ ซึ่งทำให้มีคนที่มาทำกิจกรรมโดยไม่ต้องการผลของกิจกรรมนั้น คือมาขุดดินโดยไม่ได้ต้องการเห็นต้นไม้โต
เมื่อไม่ต้องการผลของกิจกรรมนั้น ขืนทำไป เขาก็แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของเขาเอง ทุกขณะที่เขาทำงาน เคลื่อนไหว อะไรต่างๆ นั้น เขาแปลกแยกจากสิ่งที่เขาทำทั้งหมด พอเขาแปลกแยกจากกิจกรรมของชีวิตแล้ว จิตใจก็ไปอยู่ที่ผลตอบแทนอย่างเดียว และเขาก็ไม่ได้ความสุขจากการทำกิจกรรมนั้น แต่การทำกิจกรรมนั้นกลับกลายเป็นความทุกข์ไป