ธรรมะกับการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ”
คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ

ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้องอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ มนุษย์ไม่แปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ทุกอย่างก็สอดคล้องไปกันได้หมด ไม่มีอะไรเสียหาย เมื่อเราวางฐานได้ดีแล้ว เราก็ใช้หลักการต่างๆ ในการทำงาน บนพื้นฐานที่ถูกต้องนั้น เมื่อพื้นฐานถูกต้องแล้ว เราจะเอาธรรมะอะไรมาใช้ ตอนนี้ก็เดินหน้าไปด้วยดี เช่นเอาหลักอิทธิบาทมาใช้

แทบทุกท่านรู้จัก “อิทธิบาท คือ หลักแห่งความสำเร็จ” หลายท่านท่องขึ้นใจเลย อิทธิบาทมี ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

อิทธิบาท แปลว่า ทางแห่งความสำเร็จ

๑. ฉันทะ แปลว่า ความรักความพอใจ จะทำอะไรก็ทำด้วยความรักความพอใจ จะรักจะพอใจได้อย่างไร? โดยทั่วไปก็ต้องชอบหรือเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของงานนั้น จึงจะรักจะพอใจงานนั้น

แต่ถ้าจะตอบให้ตรงที่สุดและง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ถ้าคนไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติแท้จริง เขาจะรักงานทันที นี่คือฉันทะซึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่น คนทำสวนรักงานทำสวน เพราะเขาต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าหมออยากให้คนไข้หายป่วยหรืออยากให้เขามีสุขภาพดี หมอก็รักงานรักษาคนไข้ทันที

ถ้าพูดกันให้ถึงแก่น ฉันทะไม่ใช่แค่รักงานเท่านั้น เพราะ ฉันทะ แปลว่าอยากทำให้มันดี เพราะฉะนั้นจึงมีความหมายว่า เมื่อจะทำอะไร ก็จะต้องทำให้มันดีที่สุด ให้มันเรียบร้อยสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อต้องการผลตามกฎธรรมชาติจริงๆ ก็จะสร้างฉันทะนี้ได้

๒. วิริยะ แปลว่า ความเพียร และความเพียรก็แปลว่า ความแกล้วกล้า วิริยะ ตัวนี้ มาจาก “วีระ” นั่นเอง แปลว่า ความเป็นผู้แกล้วกล้า หมายความว่า ใจสู้ เจองานแล้วไม่ถอย แล้วทำอย่างไรจะเจองานไม่ถอย ก็ต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจองานบอกว่า ยิ่งยากยิ่งได้มาก เจอปัญหาก็เป็นเวทีพัฒนาปัญญา อย่างที่ว่ามาแล้ว จะไปถอยอะไรล่ะ มีแต่เดินหน้า ดังนั้น วิริยะก็มาสิ

จะมาพูดกันให้มีฉันทะ วิริยะ พูดแทบตายก็ไม่ค่อยมีกัน แต่ถ้าไปสร้างที่ฐานละก็ได้เลย คือจุดจิตสำนึกในการฝึกตน แล้ววิริยะก็มา เรียกว่าใจสู้ มองเห็นงานเป็นสิ่งท้าทาย

คนเรามีลักษณะนิสัยต่างกัน บางคนมี ฉันทะ พอใจรักงาน บางทีก็มาง่ายๆ เพียงพูดให้เห็นประโยชน์ของงานว่าดีอย่างไร ก็เกิดความพอใจ รัก แต่บางคน พูดอย่างไรก็ไม่เอา ต้องพูดให้เห็นงานเป็นเรื่องท้าทาย ถ้าให้งานนั้นเป็นสิ่งท้าทายความสามารถ คนแบบนี้จะสู้ เอาไม่ถอย จนทำได้สำเร็จ คนอย่างนี้เรียกว่าเป็นคนแบบวิริยะ ต้องใช้วิธีทำให้รู้สึกว่า งานนั้นเป็นสิ่งท้าทาย เป็นอันว่า วิริยะ แปลว่า ใจสู้ เมื่อทำจะไม่ถอย

๓. จิตตะ แปลว่า ใจจดจ่อ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ อุทิศตัวต่องาน เนื่องจากเห็นความสำคัญของมัน เมื่อคนเห็นความสำคัญของอะไร เช่น ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต เขาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมาทันที

สาระของอิทธิบาทนั้นอยู่ที่ไหน จึงทำให้เกิดความสำเร็จ ก็คือจิตแน่วแน่เกิดสมาธิขึ้นมานั่นเอง

ในข้อที่ ๑ เมื่อเราพอใจหรือชอบงานอะไร ในเวลาทำงานนั้นใจเราจะแน่วแน่เป็นสมาธิ

ในข้อที่ ๒ เวลาใจสู้จะเอากับงานอะไร เห็นงานอะไรท้าทาย จะสู้เอาชนะให้ได้ ใจเราก็จะแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น คือ มีสมาธิ

ทีนี้ในข้อที่ ๓ เราทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้น หรืองานนั้น เช่น ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำ มันจะมีผลคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่กู้ระเบิด จะมีใจแน่วแน่ จดจ่อเลยทีเดียว เพราะอะไร เพราะว่ามันคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต มีความสำคัญต่อชีวิตของเขา เขาจึงต้องเอาใจใส่มากจนถึงขั้นใจจดจ่อเลยทีเดียว

ฉะนั้น วิธีสร้างจิตตะ ก็คือ ทำให้เห็นความสำคัญของงานนั้นต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อโลก อย่างกับจะกู้ระเบิดเลย พอจะกู้ระเบิดเท่านั้นแหละ ไม่มีหรอกที่ใจจะฟุ้งซ่านไปไหน ใจจะแน่วแน่อยู่กับงานกู้ระเบิดแน่นอน

๔. วิมังสา แปลว่า ทดลอง หรือทดสอบ คนบางคนอยากรู้อยากเห็น ชอบทดลอง ชอบคิดสืบสวนว่า ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร ทำอย่างนั้นจะเกิดผลอย่างไร อย่างนี้ต้องใช้วิมังสา คือ ทำการพิสูจน์ทดลอง คอยตรวจตราหาทางแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ ซึ่งต้องใช้ปัญญา เมื่อเอามาใช้ในการทำงานทั่วไป ก็พูดง่ายๆ ต่อกันกับข้อ ๑-๒-๓ ว่างานที่จะทำให้สำเร็จนั้น ต้อง

๑. รักงาน

๒. สู้งาน

๓. ใส่ใจงาน

๔. ทำงานด้วยปัญญา

ที่ว่าทำงานด้วยปัญญา หมายความว่า จะเอาแค่ รักงาน สู้งาน ใส่ใจงาน แต่ไม่ทำงานด้วยปัญญา ก็ไม่แน่ อาจจะไม่สำเร็จ หรืออาจจะเสียไปเลย เหมือนสุครีพเสียทีกุมภกรรณ เพราะฉะนั้นจะต้องทำงานด้วยปัญญาด้วย

นี้คือหลักอิทธิบาท ๔ ข้อ แต่ผู้บริหารจะต้องรู้ตระหนักว่า คนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนต้องปลอบด้วยฉันทะ บางคนต้องปลุกหรือยุด้วยวิริยะ บางคนต้องขู่หรือรุกด้วยจิตตะ บางคนต้องแหย่ด้วยวิมังสา แต่ถ้าได้พร้อมทั้ง ๔ ข้อ ก็จะเดินรุดหน้าเต็มที่

อิทธิบาท ๔ นี้เข้ามารับช่วงต่อ หรือเดินหน้าขึ้นไปจากฐานที่ต้องสร้างมาก่อนอย่างที่ว่าเมื่อกี้

ขอพูดทบทวน อิทธิบาท ๔ หรือสูตรแห่งความสำเร็จนี้ใหม่ ให้ได้ความหมายลึกลงไปถึงหลักมากยิ่งขึ้นว่า

๑. อยากทำให้มันดี (ที่สุด) = ฉันทะ

๒. มีอะไรทำต้องให้สำเร็จ = วิริยะ

๓. ทำงานอย่างอุทิศตัวอุทิศใจ = จิตตะ

๔. ใช้ปัญญาจัดการนำงานสู่จุดหมาย = วิมังสา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง