ธรรมะกับการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน
ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน

ได้พูดในตอนต้นแล้วว่า คนไม่น้อยมอง เงิน งาน และความสุข ในแง่ที่ว่า ความสุขนั้นต้องอาศัยเงินเป็นตัวบันดาล งานจะให้ความสุขโดยผ่านเงิน แต่ถ้าเรามีความสุขโดยผ่านเงินอย่างเดียว ช่องทางแห่งความสุขของเราก็จะแคบมาก นอกจากแคบแล้วก็มีได้น้อยและสั้นด้วย เพราะจะต้องรอนาน เดือนหนึ่งจึงจะได้เงินครั้งหนึ่ง หรือแม้จะจ่ายบ่อยกว่านั้นก็แล้วแต่ มันก็นานหรือเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ตลอดเวลา ในเวลาระหว่างนั้นก็เป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นสัปดาห์ ที่จะต้องรอด้วยความทุกข์ทรมานกว่าจะได้เงิน

นอกจากนั้น เงินทองนี้เป็นของข้างนอก มันไม่ได้เข้าไปถึงในเนื้อตัวของชีวิต อะไรที่เราจะได้แท้จริง จะต้องเข้าไปถึงในเนื้อตัวของชีวิต ถึงเราจะได้เงินมา เงินนั้นก็อยู่ข้างนอก สิ่งที่ได้แก่เราแท้จริง จะต้องเป็นการได้ที่เข้าไปในเนื้อตัวของชีวิตของเราเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไร จุดสำคัญจึงอยู่ที่สาระซึ่งได้พูดไปแล้วว่า งานคือเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา บุคคลใดไม่สามารถมีความสุขจากการทำงาน ก็แสดงว่าเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเขานั้นไม่มีความสุข ซึ่งแสดงว่าเป็นการขาดแคลนหรือความสูญเสียอย่างสำคัญยิ่ง

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการให้ชีวิตมีความสุข คือต้องการให้ชีวิตส่วนใหญ่ ที่เป็นอยู่ดำเนินไปตลอดเวลานี้มีความสุข เขาจะต้องทำให้งานเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข คือต้องทำงานอย่างมีความสุขให้ได้ ถ้ามิฉะนั้น ชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นชีวิตแห่งความทุกข์

เป็นอันว่า จุดสำคัญเรายอมรับความจริงที่ว่า งานเป็นเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา เราต้องให้งานเป็นความสุขให้ได้ แต่จะให้งานเป็นความสุขได้อย่างไร? เรื่องนี้ขอรอไปก่อนอีกนิดหนึ่ง

ตอนนี้ขอแทรกก่อนว่า งานที่จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นก็คือ การที่เราได้ประโยชน์จากการทำงาน โดยเฉพาะประโยชน์ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำงานนั้น เช่น การที่คนไข้หายป่วย มีสุขภาพดี เป็นจุดมุ่งหมาย และเป็นประโยชน์โดยตรงของการทำงานแพทย์และพยาบาล ถ้าเราได้ความสุขจากการเห็นคนไข้หายป่วย หรือมีสุขภาพดีขึ้น ก็แสดงว่าเราได้รับผลที่ตรงตามเหตุ ถ้าเราต้องการผลที่ตรงตามเหตุ ความสุขก็จะเกิดขึ้นมาได้ทันที

ความสุขเกิดจากการได้สนองความต้องการ ถ้าเราต้องการวัตถุบริโภค หรือสิ่งเสพ เมื่อเราได้สิ่งนั้นมาเราก็มีความสุข แต่ถ้าเรามีความต้องการอย่างอื่น เช่นอย่างเป็นพ่อเป็นแม่ต้องการให้ลูกมีความสุข ถ้าเราต้องการให้ลูกมีความสุข เราก็จะมีความสุขเมื่อเห็นลูกมีความสุข เพราะการมีความสุขของลูกนั้น ก็คือการที่เราได้สนองความต้องการของเรา เมื่อเราต้องการให้ใครคนไหนก็ตามมีความสุข แล้วเราทำให้เขามีความสุขได้ เราก็ได้สนองความต้องการของเรา และเราก็จะมีความสุขด้วย

ทีนี้ ความต้องการเหล่านี้ต้องสร้างขึ้น ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมันก็ไม่มี การสร้างอย่างง่ายๆ ก็คือ ความต้องการผลของตัวงานตามเหตุตามผลของมัน คือ เมื่อทำงานอะไร ก็ต้องการผลของงานนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เช่น ในงานทำสวน ถ้าคนทำสวนต้องการผลโดยตรงของเหตุ คือ การทำสวน การทำสวนเป็นเหตุ ผลโดยตรงของการทำสวน ตามกฎธรรมชาติ ที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็คือความเจริญงอกงามของต้นไม้ ถ้าเขาต้องการความงอกงามของต้นไม้แล้วเขามาทำสวน เขาจะมีความสุขในการทำสวน เมื่อเขาเห็นต้นไม้เจริญงอกงาม ความต้องการของเขาก็ได้รับการสนอง และเขาก็จะมีความสุข

แม้แต่ระหว่างนั้น ขณะที่กำลังทำงานอยู่ เมื่องานที่ตัวทำก้าวหน้าไป ก็ยิ่งมองเห็นความสำเร็จของงานหรือผลที่ต้องการใกล้เข้ามา ก็ยิ่งมีความหวัง และมีความอิ่มใจ เขาจึงมีความสุขได้ตลอดเวลา พอต้นไม้งามขึ้น ก็ดีใจ ปลื้มใจ ต้นไม้ต้นไหนยังไม่งาม ก็กุลีกุจอไปรดน้ำพรวนดิน พยายามหาทางและตั้งใจทำเต็มที่เพื่อให้ต้นไม้นั้นงาม พอทำให้มันงามขึ้นมา แก้ปัญหาได้ หรือทำก้าวหน้าไปๆ ก็มีความสุขไปเรื่อยๆ ทุกขั้นตอน

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่มีความต้องการอันนี้ คือไม่ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เรียกว่าไม่ต้องการผลธรรมชาติที่เกิดตามเหตุ เราก็ต้องการผลสมมติที่ตกลงกันตามเงื่อนไขคือ ทำสวนแล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เราต้องการแต่เงิน ๕,๐๐๐ บาท เราจะไม่มีความสุขในการทำสวนเลย แล้วการทำสวนจะกลายเป็นความจำใจ พอจำใจ ก็ฝืนใจ พอฝืนใจ ก็ทุกข์ทรมาน เราก็จะทำงานด้วยความทุกข์ทรมานตลอดเวลา แล้วก็ไม่ตั้งใจทำ เมื่อไม่ตั้งใจทำ งานก็ไม่ได้ผลดี นี่คือการที่เราได้แปลกแยกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง