มนุษย์ที่ไม่ได้ฝึกจิตสำนึกในการฝึกตนไว้ เมื่อมาอยู่ในโลกแห่งอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีพรั่งพร้อม ก็มองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองสะดวกสบาย จะได้ไม่ต้องทำอะไร
มนุษย์ที่มองอย่างนี้คิดผิด เขามองเป็นว่า ฉันมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ฉันจะได้ไม่ต้องทำอะไร นี้คือการมองวัตถุ หรือมองเทคโนโลยี ชนิดที่เรียกว่า มองเชิงเสพ หมายความว่า มองมันเป็นเครื่องปรนเปรอความสุขของเรา
ถ้ามนุษย์มองอย่างนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีหรือวัตถุเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นจุดหมาย หมายความว่า การเดินทางของมนุษย์จบที่นั่น พอมนุษย์ไปเจอมันแล้ว ได้เสพมัน ได้บริโภคมัน มีความสุข ก็จบ ก็ตันเลย มนุษย์พวกนี้จะอ่อนแอลงทุกที เพราะว่าต่อไป สิ่งที่เคยต้องทำ ก็ไม่ต้องทำ เขาจะมีความสุขจากการไม่ต้องทำ ถ้าเกิดจะต้องทำอะไร ก็ทุกข์ทันที แล้วมนุษย์พวกนี้ก็จะมีลักษณะที่เรียกว่า “ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก”
เด็กสมัยนี้ เกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อม ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะมีลักษณะที่ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก ซึ่งเป็นที่มาของการฆ่าตัวตายง่ายอย่างหนึ่งด้วย เรื่องนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตามธรรมดานี่แหละ
อธิบายอย่างง่ายๆ ว่า มนุษย์เรานี้ เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบไหน มีการดำเนินชีวิตอย่างไร สภาพเช่นนั้นก็จะเป็นปกติของเขา
ขอให้ดูเถิด เด็กสมัยก่อนเกิดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีน้อย ไม่มีเครื่องปรนเปรอความสะดวกสบาย การดำเนินชีวิตของเขา เมื่อเทียบกับปัจจุบัน คนสมัยนี้มองว่ายากลำบาก แต่ชีวิตอย่างนั้นก็เป็นปกติของเขา เช่น เด็กสมัยก่อนนั้นต้องตื่นแต่เช้า ตักน้ำ หิ้วน้ำ ซาวข้าว เช็ดข้าว ช่วยพ่อแม่ทำงาน อันนั้นก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตของเขา แต่เด็กสมัยนี้ไม่ต้องทำงานอย่างนั้น เพราะมีไฟฟ้า มีน้ำขวด น้ำประปา มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้แทน อันนี้ก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตของเด็กสมัยปัจจุบัน
ทีนี้ เด็กสมัยนี้ ที่มีชีวิตแบบใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ก็เป็นปกติธรรมดาของเขาอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าวันไหนไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เขาจะต้องไปเก็บผัก หักฟืน หุงข้าว อย่างเด็กสมัยก่อน จะเป็นอย่างไร เด็กสมัยนี้ก็จะรู้สึกว่าเป็นทุกข์แทบตายเลยใช่ไหม ทั้งๆ ที่การทำอย่างนั้น สำหรับเด็กสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดามาก
นี่แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี ถ้าไม่ฝึกเด็กพัฒนาเด็กให้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่จะลำบาก เด็กจะเกิดสภาพที่ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก คือ ความพรั่งพร้อมอย่างนี้เป็นภาวะปกติของเขา เมื่อเป็นปกติ เขาก็รู้สึกธรรมดา ไม่ได้เป็นสุขอะไรชัดขึ้นมา แต่พอขาดอะไรนิดหน่อย เขาก็ทุกข์ทันที แม้แต่ต้องทำอะไรนิดหน่อย ก็ทุกข์ เพราะเคยพรั่งพร้อมจนไม่ต้องทำอะไร เมื่อต้องทำอะไรนิดหน่อย จึงกลายเป็นทุกข์ไป ไม่ได้อะไรอย่างใจนิดหน่อย ก็ทุกข์ หันไปเจออะไรต้องทำ ก็ทุกข์ จึงทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก และเต็มไปด้วยทุกข์ เพราะพรั่งพร้อมเสียแล้ว มันเต็มไปหมดแล้ว จะเติมความสุขให้ ก็ไม่มีที่จะเติม
หัสไปดูเด็กสมัยก่อนโน้น ซึ่งอยู่ในสภาพที่เด็กสมัยนี้ มองเทียบกับตัวด้วยสายตาว่า โอ้โฮ! เด็กสมัยโบราณนั้นช่างทุกข์ยากลำบากเหลือเกิน แต่เด็กสมัยนั้นเขาก็เป็นปกติของเขาอย่างนั้น ทีนี้ในสภาพชีวิตอย่างนั้น ถ้าเขาได้อะไรมาเติมความสุขให้นิดหน่อย ช่วยให้ง่าย ทำให้เขาสะดวก เขาจะสุขมาก และเมื่อเขาเจออะไรต้องทำ สิ่งที่ต้องทำใหม่นั้น อาจจะยากหรือต้องเหนื่อยน้อยกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว เขาก็สบาย ไม่รู้สึกยากลำบากอะไร เขาก็ไม่ค่อยทุกข์ ต่างจากเด็กสมัยนี้ที่ว่า ถ้าไปเจออะไรต้องทำ จะทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก เด็กสมัยก่อนนั้นก็จึงสุขได้ง่าย ทุกข์ได้ยากกว่า
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราฝึกเด็กเป็น ก็ไม่เป็นไร เด็กจะมองวัตถุอุปกรณ์เทคโนโลยีในความหมายใหม่ ไม่ใช่มองเชิงเสพ และไม่มองเป็นจุดหมาย แต่จะมองอย่างที่ทางพระเรียกว่า มองเป็นปัจจัย ตรงตามชื่อของมัน
ทางพระท่านให้ศัพท์ไว้แล้วว่า วัตถุทั้งหลาย ตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร เป็นต้นไปนั้น เรียกว่า เป็นปัจจัย ทั้งนั้น วัตถุเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่มีความหมายเป็นเครื่องเกื้อหนุน หมายความว่า มันช่วยให้เราเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่จบแค่นั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีมา คนที่มองเชิงปัจจัย ก็บอกว่า อ้อ! มันมาเป็นเครื่องช่วยให้เราเข้าถึงจุดหมายที่สูงขึ้นไป
เรายังต้องการทำอะไรต่อไปอีก เราไม่ใช่แค่ต้องการเสพบริโภค วัตถุเหล่านี้มิใช่เป็นจุดหมาย ไม่ใช่จบแค่นี้ เรายังต้องการทำสิ่งที่ดีกว่านั้น แต่เราทำได้ยาก พอมีเทคโนโลยีมา มันก็ช่วยให้เราทำได้ง่ายขึ้น พอเรามองเชิงปัจจัย วัตถุและเทคโนโลยีพวกนี้ก็มาช่วยให้เราทำได้ดีได้มากยิ่งขึ้น เพราะเราต้องการทำอยู่แล้ว
การที่มองอย่างนี้ เป็นการได้ความหมายที่ถูกต้องทั้งสองชั้น คือ ขั้นต้น เทคโนโลยีเองก็มีความหมายในเชิงช่วยให้เราทำได้มากยิ่งขึ้น ทำได้ดียิ่งขึ้น และทำได้ยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่เป็นเครื่องมาทำแทนเรา แล้วเราจะได้ไม่ต้องทำ เรายังมีจุดหมายสูงไกลที่จะก้าวให้ถึงต่อไปอีก ไม่ใช่จบแค่นี้
พร้อมกันนั้น ขั้นต่อไป ในแง่ความสุข ความสุขของเราเกิดจากการทำ ไม่ใช่แค่ความสุขที่ได้จากการเสพ เมื่อวัตถุอุปกรณ์เทคโนโลยีมาช่วยเป็นปัจจัยในการที่เราจะทำงานเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการนั้นดียิ่งขึ้น เราก็ยิ่งชอบใหญ่ เราก็เลยได้ความสุขสองชั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตนถูกต้อง จะมีความสุขที่ไม่ติดจมอยู่แค่การเสพบริโภค แต่จะก้าวหน้าไปพร้อมด้วยความสุขจากการกระทำ
ในทางตรงข้าม ถ้ามนุษย์มาหลงเพลินอยู่กับความสุขจากการเสพบริโภค นั่นก็คือ ความติดตันของชีวิต พร้อมทั้งความอับจนแห่งอารยธรรมของมนุษย์ด้วย หมายความว่า อารยธรรมกำลังจะจบแค่นี้
มนุษย์ยุคนี้กำลังเข้าใจผิด คิดว่าความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเสพบริโภค คือจุดหมาย มนุษย์คิดว่าถ้าพวกตนบรรลุความพรั่งพร้อมแห่งวัตถุเสพบริโภค ก็คือการได้ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตและสังคมที่สมบูรณ์ นึกว่าอย่างนั้น แต่ที่จริงไม่ใช่ เขาจะต้องมองว่าวัตถุเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุน คือเป็นปัจจัยช่วยให้เราก้าวสู่จุดหมายที่ดีที่สูงยิ่งขึ้นไป ถ้ามองอย่างนี้ เขาจะไม่เกิดทุกข์จากสิ่งเหล่านั้น แต่จะทำให้ได้ความสุขจากพวกมัน และความสุขแท้จริงที่เราจะได้ ก็ยังจะมีต่อไป เมื่อไม่มองเชิงเสพ แต่มองเชิงเป็นปัจจัยแล้ว ความสุขก็จะเกิด ไม่ใช่จากการเสพเท่านั้น แต่จะเกิดจากการเรียนรู้และการกระทำด้วย
มนุษย์ที่พัฒนาถูกต้อง จะมีความสุขจากการเรียนรู้ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า พอมองอะไร เจออะไร รู้สึกว่าได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง ก็มีความสุขในการได้ฝึกตน แล้วก็สุขจากการได้สนองความต้องการที่จะทำ คือได้ทำโน่น ทำนี่ ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นมนุษย์พวกนี้จึงไม่ติดตัน ไม่มีปัญหา เขาไม่ได้แปลกแยกจากธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นเราจึงมีทางที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความสุขยิ่งขึ้นด้วย และความสุขนั้นก็จะยิ่งเกื้อหนุนการทำงาน คนที่มีความสุขอย่างนี้ เป็นความสุขในการทำงาน และความสุขในการเรียนรู้ ก็ทำให้ยิ่งเรียนรู้ และยิ่งทำงานทำหน้าที่กันใหญ่ เพราะฉะนั้นก็จึงยิ่งได้ผล มันจึงดีทั้งแก่ชีวิต และดีแก่สังคม เป็นอันว่ากลมกลืนกันไป นี่ว่าไว้เป็นตัวอย่าง