เจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

“รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว
ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว

กิจการศาสนาในความหมายแบบของเรา จะเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมือง ก็เพียงในการสั่งสอนแสดงหลักการในการบริหารการปกครองว่า การปกครองและผู้ปกครองที่ดี จะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองดี และให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข (ไม่เข้ามาร่วมปกครองหรือสอดแทรก)

แต่หันไปดูทางด้านตะวันตกเลยจากเราไป และในสังคมแบบอื่น เขาไม่ได้มองอย่างนี้เลย

ในความหมายของสังคมแบบอื่น กิจการศาสนาของเขารวมไปหมด ทั้งการจัดกิจการบ้านเมือง การปกครอง การทหาร ตลอดจนการจัดการเศรษฐกิจ เป็นต้น ถือเป็นเรื่องของศาสนาโดยตรง

ฝรั่งมีคำแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในหลักการที่เรียกว่า Church and State หรือ ศาสนจักรกับอาณาจักร

เพื่อรวบรัด ลองดูความหมายที่เขียนไว้ในสารานุกรมของฝรั่งฉบับหนึ่ง (Compton's Interactive Encyclopedia, 2000)

ขอยกคำของเขามาให้ดูเลยว่า (เพียงยกมาเป็นตัวอย่าง ข้อมูลในเรื่องนี้ยังมีที่น่ารู้อีกมาก) ดังนี้

The name given to the issue—church and state—is misleading, however: Church implies Christianity in one or more of its many denominations.

The issue is really between religion and politics. Which shall be the controlling force in a state?

อย่างไรก็ดี ชื่อที่ใช้เรียกประเด็นนี้ว่า “ศาสนจักร กับ อาณาจักร” นั้น ชวนให้เข้าใจผิด (พึ่งเข้าใจว่า) ศาสนจักร หมายถึงศาสนาคริสต์ นิกายหนึ่งหรือหลายนิกาย ในบรรดา นิกายทั้งหลายที่มีเป็นอันมาก

แท้จริงนั้น ประเด็นของเรื่องอยู่ที่ว่า ระหว่างฝ่ายศาสนากับฝ่ายการเมือง ฝ่ายไหนจะเป็นตัวกุมอำนาจบงการในรัฐ

ที่เขาเขียนอย่างนี้ก็เห็นได้ชัดตามประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันตก ที่ฝ่ายศาสนจักรกับอาณาจักร ต่างก็มีอำนาจในการปกครองและบริหารกิจการบ้านเมือง จนกระทั่งมีการแก่งแย่งช่วงชิงแข่งอำนาจกัน (ให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอาเอง)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อศาสนจักร หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือแม้แต่นิกายใดนิกายหนึ่ง ขึ้นมาเป็นศาสนาแห่งรัฐ หรือเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ศาสนาอื่นๆ หรือนิกายอื่นๆ ก็จะถูกกีดกั้นออกไป หรือแม้แต่ถูกบังคับกดขี่ข่มเหง

อย่างน้อย ในกิจการบ้านเมืองก็มีการจำกัดว่า คนต่างศาสนาจะเข้ารับราชการได้หรือไม่ หรือจะมีตำแหน่งฐานันดรได้สูงสุดแค่ไหน (เรื่องนี้ศึกษาดูในประเทศใกล้เคียงของไทยเอง ก็จะเข้าใจได้)

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งให้เข้าใจง่ายๆ

ในแง่ บทบัญญัติทางศาสนา กับ การตรากฎหมายของรัฐ

❀ การมี “ศาสนาประจำชาติแบบพุทธ มีความหมายไปได้แค่ว่า รัฐพึงสนใจใส่ใจหลักหรือข้อบัญญัติทางศาสนาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แล้วก็เป็นเรื่องของรัฐเองที่จะนำเอาสาระของหลักหรือข้อบัญญัตินั้นมาจัดตราเป็นกฎหมายขึ้น เช่น รัฐอาจจะตรากฎหมายที่ส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตามหลักศีล ๕ หรือนำเอาสาระของศีล ๕ ไปบัญญัติเป็นกฎหมาย (อย่างที่ได้ทำกันมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกม.แพ่ง หรือกม.อาญา)

ทั้งนี้ มิใช่เป็นการยกข้อบัญญัติทางศาสนาขึ้นเป็นกฎหมายโดยตรง และคณะสงฆ์หรือองค์กรศาสนาก็ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมีอำนาจในเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองนั้นด้วย

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องธรรมดาตามลักษณะและตามหลักการของพระพุทธศาสนา

ข้อพึงสังเกต: ในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติที่ถือได้ว่าเป็นข้อบังคับก็เฉพาะวินัยของพระสงฆ์เท่านั้น

แต่สำหรับคฤหัสถ์หรือชาวบ้าน ทุกอย่างเป็นเรื่องของการสั่งสอนให้การศึกษา ซึ่งเขารับไปปฏิบัติโดยสมัครใจเอง แม้แต่ศีล ๕ ก็เป็นเรื่องที่เขาตั้งใจสมาทาน อย่างที่รู้กันอยู่ชัดเจนว่า คนอาราธนาขอศีลแล้ว พระจึงให้ศีล

เมื่อบ้านเมืองรับเป็นภาระที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา รัฐก็ดูแล รวมทั้งพิจารณาวางบทบัญญัติตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครอง ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐเอง และใช้บังคับแก่พลเมืองทั้งพระสงฆ์และชาวบ้าน โดยมุ่งที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ มิใช่จะให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง

ถ้าจะถือว่ามีกฎหมายเนื่องด้วยการที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็จะเห็นตัวอย่างชัดเจน เช่น “กฎพระสงฆ์” ในรัชกาลที่ ๑1

✪ แต่ “ศาสนาประจำชาติ” แบบตะวันตก/แบบสังคมอื่น หมายความว่า รัฐมักต้องยกเอาข้อบัญญัติของศาสนา หรือศาสนบัญญัติ ขึ้นมาใช้เป็นกฎหมายบังคับแก่ประชาชน หรือให้องค์กรศาสนามีอำนาจตราหรือร่วมในการตรากฎหมายของบ้านเมืองด้วย และนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาตามลักษณะและตามหลักการของศาสนานั้นๆ ที่ได้เป็นมาแล้วและก็กำลังเป็นอยู่

ที่ว่านี้ เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ เป็นความแตกต่างตามธรรมดา และความแตกต่างก็มิใช่เป็นการเปรียบเทียบว่าอันไหนดีหรือไม่ดีกว่ากัน แต่ละบุคคลมีเสรีภาพที่จะพิจารณาเอง แต่การไม่ให้ความรู้ตามที่มันเป็นนั่นแหละคือความไม่ถูกต้อง

แล้วที่ว่านั้นก็มีความหมายรวมไปถึงว่า ศาสนจักรหรือทางฝ่ายศาสนา สามารถใช้อำนาจโดยตรงต่อการเมืองการปกครองของประเทศ ตลอดจนระหว่างประเทศด้วย

ขอให้ดูประวัติศาสตร์ของตะวันตก ไม่ต้องพูดยาว แค่ยกตัวอย่างก็พอ เช่นในปี พ.ศ. ๒๐๓๖ (ค.ศ. 1493) ในยุคเริ่มล่าอาณานิคม

เมื่อสเปนกับโปรตุเกสขัดแย้งกัน องค์สันตะปาปาอเลกซานเดอร์ ที่ ๖ (Pope Alexander VI) ก็ได้ประกาศโองการกำหนดขีดเส้นแบ่งโลกนอกอาณาจักรคริสต์ออกเป็น ๒ ซีก ให้สเปนมีสิทธิเข้าครอบครองดินแดนในโลกซีกตะวันตก ให้โปรตุเกสมีสิทธิเข้าครอบครองดินแดนในโลกซีกตะวันออก

ต่อมา เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันขยับเส้นแบ่งออกไป และเซ็นสัญญาตอร์เดซิลยาส (Treaty of Tordesillas) ก็ต้องให้องค์สันตะปาปาจูเลียสที่ ๒ (Pope Julius II) ประกาศโองการรับรองใน พ.ศ. ๒๐๔๙ (ค.ศ. 1506)

สงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิม ที่เรียกว่าครูเสดส์ (Crusades) เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๖๓๘ (ค.ศ. 1095) และยาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี ก็เพราะองค์สันตะปาปาเออร์บันที่ ๒ (Pope Urban II) ทรงระดมทัพของประเทศคริสต์ไปกู้เยรูซาเล็มแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์จากมุสลิม

ในสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages) กษัตริย์และจักรพรรดิเมืองฝรั่งขึ้นครองราชย์ โดยมีพิธีที่องค์สันตะปาปาประมุขแห่งศาสนาจักรเป็นผู้สวมมงกุฎ และองค์สันตะปาปาเองก็ทรงสวมมงกุฎสามชั้นที่ เรียกว่า Tiara (สันตะปาปาจอห์นปอลที่ ๑/Pope John Paul I ทรงเลิกประเพณีที่สันตะปาปาสวมมงกุฎนี้เมื่อปี ๒๕๒๑/1978)

ข้อนี้ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับประมุขสงฆ์ในพระพุทธศาสนา อย่างสมเด็จพระสังฆราชในเมืองไทย ที่ถือว่าเป็นผู้สละโลกแล้ว นอกจากไม่ทรงสวมมงกุฎเองแล้ว ทั้งที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งรัฐ แต่พระสงฆ์ ซึ่งถือหลักที่ว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องแบบชาวบ้าน แม้จะได้รับนิมนต์เข้าไปในพิธีบรมราชาภิเษก ก็เพียงรับพระราชทานฉันและถวายพระพร ไม่รับหน้าที่สวมมงกุฎแก่พระมหากษัตริย์ หรือทำการใดๆ ที่เป็นเรื่องฝ่ายคฤหัสถ์ แต่ปล่อยให้ภารกิจนี้เป็นหน้าที่ของพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนบุคคลในศาสนาที่คล้ายกับของตะวันตกทำหน้าที่นี้สืบมา

(บางคนเรียกพราหมณ์ว่าเป็นนักบวช แต่ที่จริงพราหมณ์ไม่ได้บวช คือไม่เป็นบรรพชิต ไม่มีการบวช เพราะเกิดมาในวรรณะพราหมณ์ ก็เป็นพราหมณ์เองโดยกำเนิดทันที)

ถ้าย้อนกลับไปดูพระประวัติของพระเยซูคริสต์เอง จะเห็นว่า แท้จริงนั้น พระองค์ดำรงพระชนม์คล้ายกับนักบวชหรือสมณะในชมพูทวีป แต่พระเยซูทรงมีพระชนมายุสั้น ทรงมีเวลาประกาศศาสนาไม่นาน พูดได้ว่าทรงประกาศเพียงคำสอน แต่ยังมิได้จัดตั้งชุมชนนักบวช
และยังมิได้บัญญัติกฎเกณฑ์ทางวินัย ที่จะเป็นกรอบและขอบเขตว่า นักบวชและองค์กรศาสนาจะมีบทบาทในสังคมแค่ไหนอย่างไร

ดังที่ทราบกันดีว่า เมื่อครั้งสิ้นพระชนม์ พระเยซูคริสต์มีสาวกที่ทรงยอมรับหรือเลือกไว้เพียง ๑๒ ท่าน อาจจะถือได้ว่าการที่ทรงเลือก หรือยอมรับว่าเป็นศิษย์หรือเป็นสาวกนั่นแหละ เป็นการบวชของสาวกทั้ง ๑๒ ท่านนั้น แต่เมื่อบวชอย่างนั้นแล้ว ยังไม่ทันได้มีระเบียบแบบแผนอะไรเป็นวินัยขึ้นมา พระเยซูคริสต์ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน

เพราะเหตุที่ไม่มีวินัยบัญญัติไว้แต่เดิมนี่แหละ วิถีชีวิตของนักบวชในศาสนาคริสต์ จึงไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนแน่นอน เช่น แม้แต่ในเรื่องที่ว่าเป็นผู้ถือพรหมจรรย์หรือไม่ และเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองได้แค่ไหน ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เรื่อยๆ

อย่างในเรื่องการถือพรหมจรรย์ บางยุคสมัย ให้นักบวชต้องถือพรหมจรรย์ทั้งหมด บางยุคสมัย มีกำหนดว่าบาทหลวงชั้นสูงระดับบิชอพขึ้นไปจึงถือพรหมจรรย์ ส่วนบาทหลวงชั้นต่ำกว่านั้นมีครอบครัวได้

ในด้านที่เกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง บาทหลวงมีบทบาทมาตลอด สมัยโบราณ เพียงแต่ต่างรูปแบบและขีดขั้น บางยุคสมัย บาทหลวงอยู่ในฝ่ายศาสนจักร แต่มีอำนาจล่วงล้ำเข้าไปในฝ่ายอาณาจักร บางยุคสมัย บาทหลวงรับราชการ มียศตำแหน่งอยู่ในอาณาจักรเองโดยตรง เป็นมหาเสนาบดี หรืออาจเป็นเจ้าครองนครเองทีเดียว

พูดรวมๆ ว่า ศาสนจักรคริสต์ในอดีต เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกลาง มีอำนาจยิ่งใหญ่นักหนา และได้แก่งแย่งแข่งอำนาจกับฝ่ายอาณาจักรเรื่อยมา โดยทางศาสนจักรต้องการครองอำนาจสูงสุด ทั้งด้านศาสนการ (spiritual) และด้านคามิยการ หรือรัฏฐาธิการ (temporal) แต่ทางฝ่ายอาณาจักรก็ต้องการมีอำนาจเหนือฝ่ายศาสนจักรเช่นกัน

ตัวอย่างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และการแข่งอำนาจกัน เช่น พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV) กษัตริย์เยอรมัน ถูกสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ ๗ (Pope Gregory VII) ลงโทษคว่ำบาตร และถอดจากความเป็นกษัตริย์

พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ต้องทรงเดินทางข้ามภูเขาแอลป์ (the Alps) เสด็จไปทรงยืนพระบาทเปล่ากลางหิมะ และอดพระกระยาหาร ยามฤดูหนาว ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๑๖๒๐ (ค.ศ. 1077) ข้างนอกวัง ในอิตาลีภาคเหนือ ถึง ๓ วัน จึงทรงได้รับอนุญาตให้เข้าไปคุกเข่าเฝ้ารับการไถ่ถอนโทษจากองค์พระสันตะปาปา

ต่อมา พ.ศ. ๑๖๒๓ (ค.ศ. 1080) สันตะปาปาเกรกอรี่ก็ประกาศคว่ำบาตรและถอดพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ จากความเป็นกษัตริย์อีก

ฝ่ายพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ได้หนุนบาทหลวงผู้ใหญ่พวกหนึ่งให้ประชุมเลือกตั้งปฏิสันตะปาปา (Antipope - Clement III) ขึ้นมาแทนสันตะปาปาเกรกอรี่ แล้วยกทัพมายึดกรุงโรม และในปี ๑๖๒๗/1084 ก็ได้รับการสวมมงกุฎจากปฏิสันตะปาปาให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)

ฝ่ายสันตะปาปาสายตรงองค์ต่อๆ มา ก็ยื้ออำนาจกลับคืน และได้ประกาศประณามพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ กระทั่งในที่สุดถึงปี ๑๖๔๘/1105 พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ก็ถูกบีบให้ต้องสละราชสมบัติ

นอกจากมีอำนาจในฝ่ายศาสนจักรเองที่แข่งกับอาณาจักรแล้ว บาทหลวงผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ไปมีอำนาจอยู่ในอาณาจักรโดยตรง เป็นเจ้าครองนครเป็นต้นเองบ้าง จนถึงรับราชการเป็นใหญ่ในระดับอัครมหาเสนาบดี ก็มี

(ตัวอย่างง่ายๆ คือ คาร์ดินัล Richelieu ที่ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ แห่งประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ. 1624-1642=พ.ศ. ๒๑๖๗-๒๑๘๕ และเป็นผู้ชี้นำฝรั่งเศส ในกิจการทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งการทำสงคราม ๓๐ ปีแห่งยุโรป)

1กฎพระสงฆ์ ใน รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเอาโทษพระสงฆ์บ้าง เอาโทษทั้งพระและคฤหัสถ์บ้าง เช่นว่า “ถ้าสามเณรรูปใดมีอายุศมควรจะอุประสมบทแล้ว ก็ให้บวดเข้าร่ำเรียน คันฐธุระ วิปัศนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปมาเริยนความรู้อิทธิฤทธิให้ผิดทุระทังสองไป... ถ้าแลสามเณรรูปใดอายุศมถึงอุประสมบทแล้ว มิได้บวด เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้จะเอาตัวสามเณรแลชีต้นอาจารยญาติโยมเปนโทษจงหนัก” ว่า “เปนประเวณีในพระพุทธสาศนาสืบมาแต่ก่อน มีพระพุทธฎีกาโปรดไว้ให้ภิกษุสามเณรอันบวดแล้วในพระสาศนารักษาธุระสองประการ คือคันฐธุระวิปัศนาธุระ เปนที่ยุดหน่วง... แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเลละวัฏะประนิบัดแลปัติญานตัวว่าเปนกิจวัด มิได้ร่ำเรียนธุระทังสองฝ่าย อย่าให้มีได้เปนอันขาดทีเดียว” ว่า “ฝ่ายพระพุทธจักรพระราชอาณาจักรยอ่มพร้อมกันทั้งสองฝ่ายชวนกันชำระพระสาศนา (มิให้มีปาปะภิกษุทำลายพระสาศนาได้ เปนประเวณีสืบมาทังนี้)... ถ้าแลฝ่ายพระสงฆสมณทังปวงมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ แลละเมินเสียให้มีโจรปล้นพระสาศนาขึ้น... จะเอาโทษแก่พระราชาคะณะลงมา... ฝ่ายฆะราวาษทังปวง ถ้าแลผู้ใดมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ ละเมินเสีย... จะเอาโทษแต่มูลนายลงมาจนบิดามานดาญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน... จะได้พร้อมกันช่วยกันรักษาพระสาศนาทังสองฝ่ายฉนี้ พระพุทธศาสนาจึ่งจะบริสุทธิเปนที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพามนุษยทังปวงสืบไปกว่าจะถ้วนห้าพันพระวะษา” และว่า “อนึ่งถ้าผู้ใดล้มตาย ห้ามอย่าให้เจ้าภาพนิมนพระสงฆสวดพระมาไลย ให้นิมนสวดแต่พระอะภิธรรม แลสวดให้สำรวดไปปรกติ อย่าให้ร้องเปนลำนำ... ประการหนึ่งห้ามอย่าให้อนาประชาราษฎรลูกค้าร้านแพแขกจีนไทยขายผ้าแพรพรรณแก่พระสงฆสามเณรเปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟัง...จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก” (กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๓. --กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๘, หน้า ๓๕๑, ๓๕๗, ๓๗๕-๓๘๕ และ ๓๙๐)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง