ด้วยเหตุที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาตามคติพุทธ กับคติทางตะวันตก1 แตกต่างกันไกลอย่างนี้ เมื่อสองระบบที่ต่างกันนั้นเข้ามาปะทะหรือครอบงำกัน จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา
ขอยกตัวอย่าง เช่น ในประเทศศรีลังกา แต่เดิมมา ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธจักรกับอาณาจักร ก็เหมือนกับที่ชาวพุทธในเมืองไทยเข้าใจกันสืบๆ มา
ดังที่เมื่อ พ.ศ.๔๒๕ ในศรีลังกานั้น เกิดสงคราม พระเถระองค์หนึ่งได้ให้ความช่วยเหลือแก่กษัตริย์ที่แพ้และหนีภัย ต่อมาพระเถระนั้นได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ซึ่งได้อำนาจคืนมา ก็ถูกพระสงฆ์อื่นรังเกียจว่าคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ถึงกับเป็นเหตุให้พระสงฆ์แตกแยกกัน
(เหมือนอย่างคนไทยในปัจจุบันยังมีความรู้สึกไม่ค่อยดี เมื่อพบเห็นหรือได้ยินข่าวพระสงฆ์ไปชุมนุมต่อต้านหรือสนับสนุนเหตุการณ์ต่างๆ ทางบ้านเมือง แม้แต่ที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับพระศาสนาเอง)
แต่เมื่อศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมและฝรั่งเข้ามาปกครอง พร้อมทั้งนำระบบที่ศาสนจักรในศาสนาคริสต์มีอำนาจในกิจการของรัฐเข้ามาด้วย ทำให้พระสงฆ์และวัดวาอารามถูกบีบคั้นเบียดเบียนข่มเหงต่างๆ
จากการถูกกดดันบีบคั้นนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ทำให้ชาวพุทธและพระสงฆ์ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของรัฐเป็นต้น ตลอดจนท่าทีของประชาชนก็เปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันว่า พระสงฆ์ในศรีลังกาชุมนุมประท้วงต่างๆ บ้าง หาเสียงช่วยนักการเมืองบ้าง ตลอดกระทั่งเป็น ส.ส. เองก็ได้
(ในประเทศเมียนม่า ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันนี้)
นี่ก็คือการที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามากดดันและผันแปรคติโบราณของชาวพุทธ
เรื่องอย่างนี้ ควรศึกษากันให้เข้าใจชัดเจน แต่ในที่นี้ขอปิดท้ายว่า
ถ้าพูดว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” สำหรับชาวพุทธไทย ที่เข้าใจกันมาแบบเดิม (ซึ่งต่างกันไกลกับความหมายของชาวตะวันตก) จะมีความหมายว่าอย่างไร?
ก็ต้องเริ่มต้นด้วยข้อปรารภว่า ประชาชาติไทยนี้ ได้ตระหนักในคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่พวกตนได้รับเข้ามานับถือประพฤติปฏิบัติ จนเข้าสู่ชีวิตจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของตนงดงามมีคุณความดียั่งยืนสืบมาคู่กับประวัติศาสตร์ของชาติ
ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าพระพุทธศาสนาจะอำนวยคุณค่าดังกล่าวนั้นแก่ประชาชาติไทยได้จริงจังและยั่งยืนต่อไป (ตอนนี้ก็มาถึงความหมายละ) บ้านเมืองไทยนี้จึงประกาศยอมรับเป็นทางการที่จะถือเป็นธุระในการช่วยดำรงรักษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักเป็นแกนและเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนานั้น ให้คงอยู่เป็นหลักอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ต่อไป
พร้อมนั้น รัฐจะเอาใจใส่จริงจังในการสนับสนุนให้พระสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจ โดยไม่ต้องห่วงกังวลกับกิจการบ้านเมือง ทั้งนี้ ด้วยการจัดการอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ผู้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย และส่งเสริมอย่างเต็มที่ให้มีการเผยแผ่สั่งสอนธรรม และดำเนินกิจกรรมที่จะให้พระธรรมวินัยอำนวยผล เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน สังคม ประเทศชาติ เอื้อให้ศาสนิกชนทั้งมวลโดยไม่จำกัดศาสนา อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นมีสันติสุข
ที่ว่านี้ รวมทั้งการที่รัฐจะช่วยคุ้มครอง (เช่นด้วยกฎหมาย) และอำนวยโอกาส ให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย (เช่นในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างบรรพชิตของท่าน ที่ต่างจากความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วไป) ได้โดยสะดวกบริบูรณ์
พูดให้สั้นว่า รัฐประกาศถือเป็นภาระที่จะรับสนองงานช่วยดูแลรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่บริสุทธิ์บริบูรณ์ และ เอื้ออำนวยในการที่พระพุทธศาสนาจะออกผลให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน
(เวลานี้จะเห็นว่า รัฐมักละเลยหรือบางทีก็ทำการที่ตรงข้ามกับภาระที่ว่านั้น ทำให้พูดไม่ขึ้นว่าประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว)
ถ้ารัฐหรือสังคมไทยหลงลืมเพี้ยนไป ไม่เข้าใจความหมายอย่างนี้ ก็จะเกิดการกีดกั้น บีบคั้น ซึ่งจะทำให้พระสงฆ์ โดยความสนับสนุนของชาวพุทธเองนั่นแหละ จำนวนมากขึ้นๆ หันมาดิ้นรนเพื่อรักษาสถาบัน กิจการ และหลักการของตนในรูปแบบต่างๆ อย่างที่ได้เริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นมาบ้างแล้ว ในช่วง ๓-๔ ปีนี้
มองดูให้ดีจะเห็นว่า เรื่องนี้เหมือนจะกลับตรงข้ามกับความเข้าใจของคนสมัยนี้ คือ
ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาวพุทธก็ได้โอกาสที่จะปฏิบัติศาสนกิจศาสนธรรมของตนไปโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง (พระสงฆ์ปลีกตัวแยกพ้นจากกิจการของรัฐได้)
แต่ถ้าพุทธศาสนาถูกกั้นออกไปจากความเป็นศาสนาประจำชาติแบบคติไทย (โดยนิตินัยหรือโดยพฤตินัยก็แล้วแต่) พระสงฆ์และชาวพุทธก็จะถูกบีบคั้นให้มีบทบาทในทางดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจรัฐ (พระสงฆ์ถูกดึงให้เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมือง)
ทั้งหมดนี้ จะเป็นจริงอย่างที่ว่าหรือหาไม่ ก็ลองไปศึกษาดูบนฐานแห่งข้อมูลความรู้ของจริง ซึ่งคิดว่ามีให้เห็นแล้วอย่างเพียงพอ
ในด้านชาวพุทธเอง เมื่อรู้เข้าใจเรื่องศาสนาไปตามหลักการแห่งพระศาสนาของตน และตามวัฒนธรรมไทยที่สอดคล้องกับหลักการนั้น ก็มองเรื่องศาสนาเหมือนกับแยกต่างหากออกไปจากสังคมและกิจการบ้านเมือง
แต่ขณะเดียวกันนั้น พวกชนชาติที่ต่อสู้กันมาในสังคมอื่น ที่ถือศาสนาแบบอื่น เขามองกิจการบ้านเมือง การปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ เป็นต้น โดยรวมอยู่ในกิจการของศาสนาด้วย
เมื่อเกิดมีเหตุการณ์ทางศาสนาแบบอื่น ที่นอกวัฒนธรรมและนอกความเคยชินทางสังคมของตน ชาวพุทธไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ จึงมักมองสถานการณ์ไม่ออก และวางท่าที่ไม่ถูก กลายเป็นคนไม่ทันเขา ทั้งรักษาตัวเองก็ไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร
อย่างน้อยชาวพุทธก็กระจัดกระจายแตกแยกกันเอง พวกชาวพุทธแบบชาวบ้านก็ไม่ไหวทัน ไม่ตระหนักว่า พวกคนสมัยใหม่ แม้แต่พวกที่บอกว่าตัวเป็นชาวพุทธนั้น เขาไม่ได้มองความหมายและมิได้คิด เข้าใจอะไรๆ อย่างตน
(เป็นความอ่อนแอที่เกิดจากความขาดการศึกษา ที่จะให้เข้าถึงรากเหง้าของตน กับทั้งมีความรู้ในเรื่องของสังคมอื่นข้างนอกเพียงผิวเผิน หรือไม่รู้ไม่เข้าใจเลย)