แต่ตอนแรกนี้ จะต้องขอทำความเข้าใจกับที่ประชุมก่อนว่า ตัวอาตมภาพเองนั้นไม่ได้มาเพื่อจะร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ และว่าที่จริง ในการรณรงค์นี้ อาตมภาพก็ไม่ได้สนใจ ทำไมจึงพูดอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
อาตมภาพไม่สนใจในแง่ของการรณรงค์ แต่สนใจในแง่เป็นห่วง คือเป็นห่วงการรณรงค์นั้นอีกทีหนึ่ง ความสนใจในแง่ที่เป็นห่วงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องมาพูดกันด้วย
เมื่อทางผู้จัดไปนิมนต์มาพูด อาตมภาพก็บอกว่า ในเรื่องนี้อาตมภาพเป็นกลางนะ ทั้งๆ ที่บอกว่าเป็นกลาง ก็ยังจะให้มาพูดอีก เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้กันก่อนว่าตัวอาตมภาพเองไม่ได้ร่วมรณรงค์ด้วย
อาตมภาพคิดว่า พระก็ทำหน้าที่สอนธรรมะไป จะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของประชาชน พระทำหน้าที่สอนพุทธศาสนา ถ้าประชาชนเห็นคุณค่า ประชาชนก็ใช้ปัญญาพิจารณาทำกันไปตามเหตุตามผล ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ว่าเราจะเห็นคุณค่าอย่างไร
ฉะนั้น จะต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ทำนองเป็นจุดยืนไว้เสียก่อน
อาตมภาพบอกว่า ไม่ได้สนใจในตัวการรณรงค์ แต่สนใจในแง่ที่เป็นห่วง
ทำไมจึงเป็นห่วง ก็เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถือ แล้วก็เกี่ยวกับประโยชน์สุขของส่วนรวม ถ้าทำดีก็ดีไป ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะเกิดผลเสียได้มาก ฉะนั้น เราจึงต้องระวังทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
โดยเฉพาะ ถ้าทำแล้วเกิดผลเสียหายก็เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องทำ หรือเมื่อมีการกระทำ ก็ต้องทำให้ได้ผลดี อันนี้เป็นจุดที่จะต้องระลึกตระหนักไว้ตั้งแต่ต้น
ที่อาตมภาพเป็นห่วงเบื้องต้นก็คือว่า เวลานี้มีความรู้สึกว่า ชาวพุทธไม่ค่อยมีความเข้มแข็ง รวมตัวกันไม่ค่อยติด คือ ไม่มีการรวมตัวกันอย่างจริงจังเท่าที่ควร ความมีใจร่วมกัน และร่วมมือร่วมงานกัน รู้สึกว่ามีความย่อหย่อนมาก
เพราะฉะนั้น ถ้าทำไม่ดี ก็จะกลายเป็นการแสดงความอ่อนแอให้ปรากฏ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญขึ้น แทนที่จะมีความเข้มแข็ง กลับแสดงความอ่อนแอ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการเสียหาย
อีกประการหนึ่ง เมื่อกี้นี้พูดในแง่ที่ว่า อาจจะไม่สำเร็จ เพราะอ่อนแอ แต่ทีนี้ ถ้าสำเร็จ แต่ไม่พร้อมจริง ก็อาจจะทำให้เกิดความอ่อนแอได้อีก ความอ่อนแอนี้จะมาในรูปลักษณะ ๒ อย่าง
ประการแรก เมื่อสำเร็จขึ้นมา คือมีการบัญญัติขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ ก็จะมีชาวพุทธด้วยกันเองที่เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วย แล้วทีนี้ ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ชาวพุทธก็กลับมีความไม่พร้อมเพรียงกัน เพราะมีความไม่ร่วมใจกันในทิฏฐิความคิดเห็น คือไปกังขาข้องใจกันและกันในเรื่องที่ไปกำหนดในรัฐธรรมนูญอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็จะเกิดความอ่อนแอประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง หนทางที่จะอ่อนแอก็คือ จะเกิดความดีใจแล้วเหลิง แล้วก็ทำให้เกิดความประมาท คือมัวแต่ดีใจหรือเพลินไปว่าพระพุทธศาสนาของเรานี้ได้เป็นศาสนาประจำชาติแล้ว มีชื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อจากนี้ก็เลยสบาย ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ก็เป็นทางของความประมาท
เวลานี้ก็ประมาทอย่างหนักกันอยู่แล้ว ถ้าทำไม่ดี พอสำเร็จขึ้นมา ก็จะยิ่งประมาทกันใหญ่
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะต้องคิดให้รอบคอบ และถ้าจะทำ ก็ต้องทำให้ได้ผลดี อย่าให้เกิดผลเสีย
อย่างน้อย ถ้าทำสำเร็จ ก็อย่ามัวมาเถียงกันย้อนหลัง ไหนๆ ก็เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ให้ยอมรับความจริงทั่วกัน แล้วคิดต่อไปข้างหน้าว่าจะใช้สิ่งที่มีที่เป็นนั้น ให้เป็นทางทำสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อไปอย่างไร
ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องไปเสียใจ แต่เอามันเป็นข้อเตือนใจและปลุกใจให้มีความเข้มแข็ง เช่น จะได้รู้ตระหนักว่าชาวพุทธนี้อ่อนแอและกระจัดกระจายกันขนาดไหน แล้วเอามันเป็นข้อปรารภที่จะทำให้ชาวพุทธร่วมแรงร่วมใจ และร่วมมือร่วมงานกันให้แข็งขันจริงจังยิ่งขึ้น
รวมความว่า จะเป็นอย่างไร หรือจะมาท่าไหน ก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ให้ได้
นอกจากนั้น ผู้ที่จะทำ ก็อย่าคิดแค่ให้สำเร็จ จะไปคิดแค่ว่า จะได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และถ้าได้สำเร็จอย่างนั้นแล้ว ก็จะสมใจที่คิดมา ถ้าคิดเพียงแค่นี้ ก็แทบไม่มีความหมายอะไร
ถ้าทำก็ต้องมีความชัดเจนอย่างน้อย ๒ อย่าง คือ
หนึ่ง มองเห็นชัดเจนว่า ประโยชน์อะไรบ้างที่พระพุทธศาสนาจะได้จากการมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
สอง เมื่อได้กำหนดหรือบัญญัติอย่างนั้นแล้ว เราจะใช้มันเป็นฐานที่จะทำอะไรต่อไป
ต้องเห็นว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนั่นแหละ สำคัญยิ่งกว่าการได้บัญญัติอย่างนั้นเสียอีก และเป็นตัวที่จะทำให้การบัญญัตินั้นเกิดมีคุณค่าและมีความหมายอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือ ตามหลักการของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธศาสนามิใช่มีเพื่อตัวมันเอง คือ พระพุทธศาสนามิใช่มีเพื่อตัวพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนานั้นมีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อันนี้เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาตั้งแต่รุ่นที่ ๑ พระองค์ก็ได้ประกาศหลักการนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ให้พระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนา ไปประกาศพรหมจริยะ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เมื่อพระอรหันตเถระทั้งหลายจะทำการสังคายนา ก็ได้แสดงวัตถุประสงค์ตามหลักการนี้ไว้ว่า สังคายนาเพื่อให้พรหมจริยะ คือพระศาสนานี้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เป็นอันว่า พระพุทธศาสนามีอยู่มิใช่เพื่อตัวเอง แต่มีเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน หรือเพื่อมวลมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ประโยชน์สุขของสังคมจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ
ถ้าเราจะให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เราจะต้องมีความคิดที่ชัดว่า เมื่อบัญญัติแล้ว การบัญญัตินี้จะมีประโยชน์ในการช่วยแก้ปัญหาสังคม และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
ไม่ใช่แค่ดีใจว่า ให้พระพุทธศาสนาได้มีชื่อเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ต้องมองว่า การบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น จะช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ดียิ่งขึ้น
ถ้าอย่างนี้ จึงจะสมกับหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว สังคมไทยจะได้อะไรบ้าง หรือว่าประเทศไทยจะได้อะไรจากบัญญัตินี้
มิใช่เท่านั้น อาตมาไม่อยากให้มองแคบแค่นี้ เราควรจะมองกว้างยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากว่าจะช่วยให้สังคมไทยแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างไร หรือจะได้ประโยชน์อะไรแล้ว พระพุทธศาสนาจะช่วยอำนวยประโยชน์สุขอะไรแก่ชาวโลกได้บ้าง ชาวโลกจะได้อะไรจากการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
ถ้าคิดได้ และมองเห็นชัดเจนถึงขั้นนี้ ก็น่าพึงพอใจ