จักรใด ขับดันยุคไอที

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา

ต่อไปเรื่องที่สอง ก็คือการทำบุญวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นตัววันจริงที่ตรงในวันนี้ อันมีพิธีสำคัญอยู่ที่การเวียนเทียน ญาติโยมจำนวนมากมุ่งมาเวียนเทียน

เวียนเทียนนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าพรรษา แต่เป็นเรื่องของอาสาฬหบูชา และเรื่องวันอาสาฬหบูชามีความหมายว่าอย่างไร ก็แทบจะไม่ต้องอธิบาย เพราะถือว่ารู้กันอยู่แล้ว อาจจะพูดพาดพิงเพียงนิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม อาสาฬหบูชาครั้งนี้มีข้อที่ควรจะเอ่ยถึงเป็นพิเศษหน่อยหนึ่ง คือว่า วันนี้ต้องถือว่าเป็นวันฉลองครบ ๕๐ ปีของการเกิดขึ้นแห่งพิธีอาสาฬหบูชา หลายท่านลืมหมดแล้ว

วันอาสาฬหบูชาเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ ๕๐ ปี ครบครึ่งศตวรรษวันนี้ จะถือเป็นวันฉลองก็ได้ แต่ไม่มีใครคิดฉลองเลย เรื่องเป็นอย่างไร

แต่ก่อนนี้เคยเล่าให้ฟัง ดูเหมือนจะเล่าหลายครั้งแล้วว่าประเพณีทำบุญบูชานี่ปกติแต่เดิมมาเรามีวันเดียว คือวันวิสาขบูชา คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

แล้วเนื่องกันกับวันวิสาขบูชา พอปรินิพพานแล้ว ก็เลยมีอีกวันหนึ่งพ่วงมา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่เรียกว่า“วันอัฏฐมีบูชา” คือวันแรม ๘ ค่ำ ต่อจากวันวิสาขบูชา

โบราณมีแค่ ๒ วันเท่านี้ แต่ปัจจุบันวันอัฏฐมีบูชาแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว เพราะแทบไม่ได้จัดกัน ก็เหลือเพียงวันวิสาขบูชาเป็นหลักมาตลอด

วิสาขบูชานี้ ในประเทศพุทธศาสนาก็มีทุกประเทศ แม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้ถือจันทรคติ อย่างญี่ปุ่นเขานับวันวิสาขบูชาตามแบบปฏิทินสุริยคติ คือแบบเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ฯลฯพฤษภาคม เขาไม่ได้นับเดือนหกอย่างเรา

ทีนี้ของเราก็มีวิสาขบูชามาตลอด ในสมัยอยุธยาจัดเป็นงานใหญ่ แต่พอมารัตนโกสินทร์หลังกรุงแตกแล้ว ชาวพุทธไทยแตกกระสานซ่านเซ็น ประเพณีก็เลยเสื่อมหาย จนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชมี ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงเสนอฟื้นฟูขึ้นมา ให้ทำกันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

เราต้องยอมรับว่า วิสาขบูชาของเราไม่เข้มแข็งมั่นคงเหมือนในศรีลังกา ที่เขาสืบทอดมาแต่โบราณจนปัจจุบัน เขามี ๗ วัน ๗ คืน ทำกันเป็นการใหญ่มาก

เอาละ เป็นอันว่า ของไทยเราก็มีวิสาขบูชาเป็นแกนมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเป็นผู้นำจัดให้มีพิธีบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ ขึ้น ที่เรียกว่า “มาฆบูชา”

เวลาผ่านมาๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลไทยได้จัดงานบุญใหญ่เรียกว่า “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า ฉลองกึ่งพุทธกาล

พอทำบุญฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษเสร็จ ทางคณะสงฆ์ตอนนั้นมีการปกครองแบบเก่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งมีคณะสังฆมนตรี

ตอนนั้นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ชื่อว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ อยู่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ แต่เป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ท่านก็เสนอขึ้นมาว่า วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนานี้ น่าจะถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรฉลองหรือทำบุญบูชาด้วย

คณะสังฆมนตรีก็เสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็เห็นด้วย และได้ประกาศให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันบูชาเนื่องในการแสดงปฐมเทศนาประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

นั่นคือ ปีถัดจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ก็เป็น พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อนับมาถึงวันนี้ก็จึงครบ ๕๐ ปี

เพราะฉะนั้น วันนี้จึงเป็นวันครบ ๕๐ ปีของการมีพิธีอาสาฬหบูชา นี่ก็เลยเล่าเป็นความรู้ให้ญาติโยมฟัง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง