จักรใด ขับดันยุคไอที

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เข้าพรรษา มาถวายสังฆทานใหญ่ ทีเดียวได้ ๓ เดือน

ทีนี้จะเล่าให้ฟังทั้งสองวันนิดหน่อย ก็ต้องพูดเรื่องวันเข้าพรรษาก่อน ทั้งๆ ที่วันเข้าพรรษาที่จริงเป็นวันพรุ่งนี้

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระวินัย เป็นเรื่องของพระสงฆ์ที่จะต้องอยู่ประจำที่ตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน ซึ่งเริ่มต้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘

เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัย ญาติโยมพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็มาสนับสนุน ก็เลยเกิดประเพณีทำบุญขึ้นมา เป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์เพื่อให้ท่านมีกำลังที่จะปฏิบัติศาสนกิจ

สาระของการทำบุญในวันสำคัญทางพระวินัย พูดง่ายๆ ก็คือมาอุปถัมภ์พระสงฆ์ เช่นว่า พระสงฆ์อยู่จำพรรษาจะต้องมีผ้าอาบน้ำฝน โยมก็พากันนำผ้าอาบน้ำฝนมาถวาย พระสงฆ์จำพรรษาต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ทำวัตรสวดมนต์ ซึ่งบางทีก็เป็นเวลาค่ำคืน ต้องอาศัยแสงสว่าง ญาติโยมก็เอาเทียนพรรษามาถวาย

อย่างนี้แหละ การทำบุญเข้าพรรษาด้วยการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนก็เลยเกิดขึ้นมา แล้วก็ขยายเป็นประเพณีใหญ่โต มีการหล่อเทียน มีการแห่เทียน เป็นเรื่องสืบกันมาแต่โบราณ

การเข้าพรรษา การจำพรรษา ที่จริงเป็นเรื่องของพระ แต่โยมมาสนับสนุนให้พระมีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ

การทำบุญวันเข้าพรรษานี้ เห็นชัดๆ ว่าเป็นการมาบำรุงสงฆ์ โยมมาถวายเครื่องสนับสนุนช่วยความเป็นอยู่และการทำกิจของท่านในระยะยาว จึงเป็นการถวายสังฆทาน ครั้งใหญ่ หรือครั้งพิเศษเลยทีเดียว

ในฤดูเข้าพรรษาจะมีพระมากเป็นพิเศษ เพราะเรามีประเพณีบวชเรียน ทำให้มีพระใหม่เพิ่มเข้ามา แล้วก็จะมีการศึกษาเล่าเรียนเป็นพิเศษ

แต่เดี๋ยวนี้ ประเพณีนี้ได้เสื่อมถอยลงไป ผู้บวชที่จะอยู่จำพรรษาเหลือน้อยลง หลวงพ่อจังหวัดหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ที่จังหวัดของท่านในเขตเทศบาลทั้งจังหวัด พรรษานั้นไม่มีผู้บวชอยู่จำพรรษาเลยแม้แต่รูปเดียว

นี่ก็คือประเพณีนี้ได้เสื่อมถอยลงไป กลายเป็นว่าบวชนอกพรรษากันแค่ประมาณ ๑ เดือน บางทีก็สั้นกว่านั้น เหลือ ๑๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ประเพณีบอกว่าบวชเรียน แต่บวชแค่ ๗ วันนี่ยังไม่ทันได้เรียนอะไร

เวลานี้ โยมมีศรัทธามาก พากันมาถวายสังฆทานเป็นอันดับ ๑ เลย ที่จริงนั้น อย่างที่พูดเมื่อกี้ โยมทำบุญวันนี้แหละคือสังฆทานที่แท้จริง และเป็นครั้งใหญ่พิเศษด้วย โยมได้ทำไปแล้วสบายใจได้เลย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง