จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กระบวนการของการศึกษา หรือระบบการพัฒนาบุคคล

กระบวนการที่จะพัฒนาบุคคลนั้นแยกได้เป็น ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการพัฒนา และขั้นตอนในกระบวนการพัฒนา แต่ละขั้นตอนมีหลักการสำคัญดังนี้

๑. ขั้นนำสู่สิกขา คือขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขั้นก่อนมรรค เพราะมรรคหรือเรียกให้เต็มว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือ ไตรสิกขาที่มองในแง่เป็นวิถีชีวิตนั่นเอง หมายความว่า สิกขา คือการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนา มรรค คือวิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตที่ดี ไตรสิกขา เป็นการศึกษาที่ฝึกฝนพัฒนาคน พัฒนาอย่างไร ก็เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างนั้นนั่นเอง

เมื่อมองในแง่ของมรรค ก็เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ปัญญาในขั้นนี้เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นความเชื่อถือที่เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้ ในทางตรงข้าม ถ้ามีความเชื่อมีทิฏฐิที่ผิด ก็จะตัดหนทางการพัฒนาไปเลย เช่น ถ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค หรือเป็นเพราะการดลบันดาล ความเชื่ออย่างนี้ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ และถ้าเชื่ออย่างนี้แล้วก็ทำให้พัฒนาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปทำไม ดังนั้น ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาบุคคลเมื่อเริ่มต้นจึงต้องมีปัญญาอยู่บ้าง นั่นคือปัญญาในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง

คราวนี้สิ่งที่น่าพิจารณาต่อไป ก็คือว่า สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานหรือเป็นจุดเริ่มให้คนมีการฝึกฝนพัฒนาต่อไปได้นี้ จะเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้อย่างไร คือมีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ [๑๒/๔๙๗]

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ

๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

หลักการนี้หมายความว่า การมีสัมมาทิฏฐิอาจจะเริ่มจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากความเชื่อ ความคิดนึก ความเข้าใจ ภูมิธรรมภูมิปัญญา และพฤติกรรมที่ถ่ายทอดต่อกันมา ถ้าสิ่งที่ได้รับจากการแนะนำสั่งสอนถ่ายทอดมานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง อยู่ในแนวทางของเหตุผล ก็เป็นจุดเริ่มของสัมมาทิฏฐิ ที่จะนำเข้าสู่กระแสการพัฒนาหรือกระบวนการฝึก ในกรณีอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ

ถ้าไม่เช่นนั้น บุคคลอาจจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาโดยเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินั้นด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาด้วยปรโตโฆสะ เพราะคนที่มีโยนิโสมนสิการแต่แรกเริ่มนั้นหาได้ยาก

คำว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ คืออาจจะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าปรโตโฆสะนั้นเป็นบุคคลที่ดี เราเรียกว่า กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปรโตโฆสะชนิดที่กลั่นกรองแล้ว และเราได้เลือกสรรที่จะนำมาใช้งานจริงๆ ในการศึกษา ปรโตโฆสะโดยทั่วๆ ไป ก็ได้แก่พ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ สื่อมวลชน และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในสังคม ถ้าบุคคลและสถาบันเหล่านี้เป็นปรโตโฆสะที่ดี ก็จะนำเด็กไปสู่สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนที่พัฒนาดีแล้วจะมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ พึ่งตนเองได้โดยมีอิสรภาพ แต่คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขารู้จักใช้ปัจจัยภายใน เพราะถ้าเขายังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็คือ การที่ยังต้องพึ่งพา ยังไม่มีอิสรภาพ จึงยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่ปัจจัยภายใน แต่เรานำเอาปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวสื่อในเบื้องต้น เพื่อช่วยชักนำให้คนสามารถใช้โยนิโสมนสิการ จนมีปัจจัยภายในของตัวเขาเอง เมื่อเรารู้หลักนี้แล้ว เราก็นำเอากัลยาณมิตรมาช่วยสร้างโยนิโสมนสิการให้คน นั่นคือเป็นการอาศัยปรโตโฆสะ โดยเฉพาะกัลยาณมิตรเป็นตัวนำให้เข้าถึง โยนิโสมนสิการ

นอกจากปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการแล้ว อันที่จริงยังมีองค์ประกอบแทรกที่มาช่วยหนุนอีก ๕ ตัว ซึ่งอยู่ในกระบวนการฝึกขั้นก่อนที่จะเข้าสู่มรรคด้วย จึงรวมกันมีทั้งหมด ๗ ตัว คือ [๑๙/๑๒๙-๑๓๗]

๑. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร) ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่ได้กล่าวไปแล้ว

๒. ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) คือ ความเป็นผู้มีวินัย หรือชีวิตที่มีระเบียบ หรือมีพฤติกรรมเคยชินที่ดี ซึ่งเกิดจากการใช้วินัยมาฝึกให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี ด้วยการจัดระเบียบชีวิต และจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้มีสภาพซึ่งเอื้อโอกาสต่อการที่จะดำเนินการพัฒนาต่อๆ ไป

๓. ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ) คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามเป็นเลิศ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทนตัณหา

๔. อัตตสัมปทา (ความทำตนให้ถึงพร้อม) คือการทำตนให้ถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

๕. ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยหลักการแห่งความเชื่อถือ) คือเชื่อถือในหลักการแห่งเหตุผลหรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมองอะไรก็มองตามเหตุปัจจัย ซึ่งทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ที่คิดหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลา

๖. อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) คือ ความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา มีสติ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่พลาดโอกาส โดยเฉพาะความมีจิตสำนึกตระหนักในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นคุณค่าของกาลเวลา และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนทำงานและพัฒนาชีวิตแข่งกับเวลา

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ) การรู้จักมนสิการ หรือรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง ไม่มองอะไรข้ามๆ พร่าๆ คลุมๆ แต่รู้จักคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย แยกแยะให้เห็นองค์ประกอบ จับแง่ดีมาใช้ประโยชน์ได้ และรู้จักโยงให้เห็นองค์รวมหรือสร้างองค์ความรู้ความคิดใหม่ได้ ทำให้เกิดปัญญาที่เข้าถึงความจริง ได้ประโยชน์ และทำการสำเร็จ สนองความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ได้โดยสมบูรณ์

องค์ประกอบหรือปัจจัยฝึกทั้ง ๗ ตัว ที่กล่าวมานั้น รวมเรียกว่าบุพนิมิตของมรรค เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าถึงการมาของมรรค เป็นจุดเริ่มที่จะนำเข้าสู่มรรค คือวิถีชีวิตที่ดีงามของผู้มีการศึกษา ในการศึกษานั้นเราเอาปัจจัยตัวแรกคือ กัลยาณมิตร มาช่วยชักนำ หรือกระตุ้นให้เกิดปัจจัยตัวอื่น ตั้งแต่ตัวที่ ๒ จนถึงตัวที่ ๗

การที่จะมีกัลยาณมิตรนั้น จัดแยกได้เป็นการพัฒนา ๒ ขั้นตอน ขั้นแรก กัลยาณมิตรนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือสังคมจัดให้ ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่เป็นผู้รับและยังมีการพึ่งพามาก แต่เมื่อเด็กพัฒนามากขึ้น ก็จะเข้าสู่ขั้นที่สอง คือเด็กเกิดมีโยนิโสมนสิการ แล้วเขารู้จักเลือกหากัลยาณมิตรเอง โดยที่เขามองเห็นคุณค่าของแบบอย่างหรือแหล่งความรู้ที่ดี เขาจะนิยมแบบอย่างที่ดี รู้จักปรึกษาไต่ถาม เขาจะเลือกสรรหาคนที่จะเข้าไปปรึกษา รู้จักหาแหล่งความรู้ รู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดี รู้จักเลือกชมรายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ พัฒนาการในขั้นที่เขาเป็นฝ่ายเลือกหาและเข้าหากัลยาณมิตรเองนี้ เป็นความหมายของความมีกัลยาณมิตรที่ต้องการในที่นี้ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว เขาจะสามารถทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งเป็นจุดต่อสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามและการพัฒนาสังคม

ถ้าบุคคลมีปัจจัย ๗ ข้อนี้แล้วก็เชื่อมั่นได้เลยว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีงามและกระบวนการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนขยายของมรรค หรือของไตรสิกขานั้นเอง ที่ยื่นออกมาเชื่อมต่อเพื่อรับหรือดึงเอาคนเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนพัฒนา มันเป็นตัวเร่ง เป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ ที่จะนำเข้าสู่ไตรสิกขา และคอยเสริมให้การฝึกในไตรสิกขาได้ผลดี

ในการศึกษา ที่จัดทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นกิจการของสังคมนั้น ปัจจัยข้อที่ ๑ คือความมีกัลยาณมิตร เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญมาก รัฐหรือสังคมมีหน้าที่จัดสรรและจัดเตรียมบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร เช่น ครูอาจารย์ ถึงกับต้องจัดเป็นองค์กรใหญ่โต ใช้จ่ายงบประมาณมากมาย ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดีมีคุณสมบัติมีความรู้เข้าใจชัดเจนในกระบวนการของการศึกษา และสามารถทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรได้ดี กิจการการศึกษาของสังคมก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี ดังนั้นการสร้างหรือจัดเตรียมกัลยาณมิตรจึงมีความสำคัญยิ่ง และควรจัดเตรียมอย่างถูกต้อง

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขอย้ำไว้ ก็คือ ในการที่จะเข้าไปช่วยบุคคลอื่นเพื่อนำเขาเข้าสู่ไตรสิกขานั้น กัลยาณมิตรจะต้องรู้จักบุคคลเสียก่อนว่า มีลักษณะอย่างไร นั่นก็คือต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เรื่องบุคคล ๔ และ จริต ๖ เป็นต้น เพื่อจะได้ประยุกต์กระบวนการสิกขาให้เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ในการปฏิบัติเฉพาะกรณี แม้แต่ในการพัฒนาทางจิตขั้นลึก ที่เรียกว่าการบำเพ็ญกรรมฐาน ก็ยังต้องมีการเรียนรู้เรื่อง จริต ๖ เพื่อการจัดข้อปฏิบัติในการศึกษาให้เหมาะกับตัวบุคคล

ในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกเป็น ๒ แบบคือ ความแตกต่างแนวตั้ง กับความแตกต่างแนวนอน ความแตกต่างแนวตั้งจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ (อินทริยปโรปริยัตตญาณ) ซึ่งดูที่ระดับการพัฒนาว่าไปได้แค่ไหนแล้ว เช่น ในเรื่องบุคคล ๔ ประเภท ส่วนความแตกต่างแนวนอนจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความโน้มเอียงความถนัดอัธยาศัย (นานาธิมุตติกญาณ) ซึ่งแม้แต่บุคคลที่พัฒนาแล้วในระดับเดียวกันก็เป็นไปต่างๆ กัน ดังเช่นในเรื่องจริต ๖ เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงรู้ความแตกต่างของบุคคลทั้ง ๒ แบบนั้นแล้วพระองค์จึงทรงสามารถจัดวิธีการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นและสอนอย่างได้ผลดี

๒. ขั้นไตรสิกขา เป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคล โดยใช้หลักไตรสิกขาเต็มระบบ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาบุคคล เราควรมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง