จากความหมายของคำว่า กรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว ในพุทธศาสนาจึงแบ่งกรรมออกเป็น ๓ ด้าน คือ [๑๓/๖๔]
๑. กายกรรม ได้แก่การกระทำทางกาย ดังเช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ร่างกายทำกิจกรรมต่างๆ
๒. วจีกรรม ได้แก่การกระทำทางวาจา ดังเช่น การพูด การสื่อสาร การเขียนหนังสือ
๓. มโนกรรม ได้แก่ การกระทำทางใจ ดังเช่น ความคิด ความเชื่อ ความเห็น การยึดถือ
มโนกรรม นี้ในพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมโนกรรมหรือการกระทำทางใจนี้หมายถึง กระบวนการคิดทั้งหมด ตั้งแต่ความคิดนึก การคิดปรุงแต่ง รวมทั้งความเชื่อถือ ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม แนวความคิด ทฤษฎี ลัทธิ อุดมการณ์ทั้งหลาย ซึ่งทางพระใช้คำรวมคำเดียวว่า “ทิฏฐิ” เช่น สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น มโนกรรม คือ ทิฏฐินี้เป็นตัวกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคม ตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด ดังเช่นแนวความคิดที่มุ่งจะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวบันดาลอยู่เบื้องหลังพัฒนาการของอารยธรรมตะวันตกที่เป็นมาจนถึงปัจจุบัน
แต่สิ่งที่เป็นแกนกลางร่วมกันของกรรมทั้ง ๓ ประการนี้ก็คือเจตจำนง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” [๒๒/๓๓๔] แปลความได้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม เจตนาในความหมายว่า เจตจำนง ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจ ว่าจะเอาอย่างไร
ในการกระทำ ในการพูดจาสื่อสารและในความคิดทุกกรณีมีเจตจำนงอยู่ ที่แท้กรรมก็คือตัวเจตจำนงนี้เอง และโลกมนุษย์นั้นถือว่าเป็นโลกแห่งเจตจำนง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นไปในโลกมนุษย์ คือ ในสังคมนั้น เกิดจากและเป็นไปตามเจตจำนงของมนุษย์ทั้งสิ้น เจตจำนงเป็นปัจจัยในระบบของธรรมชาติส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นผู้รับผิดชอบ