กรรม เป็นกระบวนการปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ แต่คำว่ากรรมนั้น เมื่อจะพูดให้คนทั่วไปที่เป็นชาวบ้านเข้าใจ ก็ต้องพยายามพูดให้มองเห็นเป็นรูปธรรม และเมื่อไม่มีการศึกษาต่อไปให้ชัดเจนบางทีความหมายก็เขวหรือเพี้ยนไปจนกลายเป็นมองว่า กรรมเหมือนกับเป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นของที่อยู่นอกตัวลอยมา แต่อันที่จริงแล้ว กรรม ก็คือการกระทำ แต่คำว่าการกระทำในที่นี้มีความหมายในทางวิชาการ ไม่ใช่แค่เป็นคำศัพท์สามัญคำหนึ่งเท่านั้น
เริ่มด้วยความหมายง่ายๆ ในระดับที่กว้างที่สุด กรรม หรือการกระทำนั้น หมายถึง การงานอาชีพ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนจะเป็นชาวนาก็เพราะกรรม คนจะเป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม” แล้วก็มีคำขยายความว่า ใครทำนา ไถนา หว่านข้าว เพาะปลูกข้าว คนนั้นก็เป็นชาวนา ใครปกครองบ้านเมือง คนนั้นก็เป็นกษัตริย์ ใครเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน คนนั้นก็เป็นปุโรหิต ใครลักขโมยของผู้อื่นก็เป็นโจร [วาเสฏฐสูตร, ๒๕/๓๘๒] ที่ว่าเป็นโจรเพราะกรรม หรือเป็นอะไรๆ เพราะกรรม มีความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสแท้ๆ อย่างนี้ นี่คือกรรมตามความหมายของคำศัพท์ในระดับ ที่ง่ายๆ กว้างๆ มองเห็นในสังคมทั่วๆ ไป
ส่วน กรรม ในความหมายที่ละเอียดลึกลงไปก็คือ พฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลที่เรียกว่าอาชีพการงานนั้นด้วย และเมื่อเจาะลงไปให้ถึงตัวจริงก็จะเห็นว่าพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ มาจากเจตจำนง ความคิดนึก ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถ้าพฤติกรรมเป็นไปโดยไม่มีเจตจำนง ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้น ในทางหลักวิชาแท้ๆ จึงถือว่า กรรม หมายถึง เจตจำนง หรือเจตนา ซึ่งเป็นทั้งที่มาและเป็นแกนของพฤติกรรมทุกอย่าง แต่ทว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลจะปรากฏออกมาที่อาชีพการงาน
ดังนั้นโดยสรุป กรรมในความหมายง่ายๆ ก็คือ การงานอาชีพ แต่อันที่จริงแล้ว กรรม จะต้องครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมการกระทำทั้งหมด และไม่ใช่เฉพาะที่แสดงออกมาทางกายเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางวาจา และการคิดนึก การคิดปรุงแต่งในใจด้วย ซึ่งเป็นไปด้วยเจตจำนง หรือเจตนา นี้เป็นความหมายของกรรมที่พร้อมสมบูรณ์ในทางพุทธศาสนา