ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมด้านไหน ตัวแกนของกรรมก็อยู่ที่เจตจำนง เจตจำนงนี้เป็นตัวมุ่งหน้าหรือวิ่งแล่นไป หรืออย่างน้อยก็เป็นตัวกำหนดหรือเลือกว่าจะเอาอันไหนอย่างไร แต่มันจะดำเนินไปอย่างไรก็ต้องมีคุณสมบัติประกอบ ต้องอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ที่เข้ามาร่วม เช่นว่า เจตจำนงนี้มีความโลภเข้ามาเป็นตัวประกอบหรือเป็นตัวบงการ เจตนาหรือความตั้งจิตคิดหมายก็ออกไปในทางที่จะเอาจะเข้าไปหา หรือถ้าเกิดมีโทสะเข้ามาเป็นตัวประกอบเข้ามาควบคุมวิถี เจตจำนงนี้ก็จะคิดหมายออกไปในทางที่จะทิ้งหรือทำลาย แต่ถ้ามีปัญญามาเป็นตัวประกอบ เจตจำนงก็จะปรับพฤติกรรมใหม่ทำให้ตั้งจิตคิดหมายไปในทางของเหตุผล ให้ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจ เช่น มองเห็นว่า ถ้าทำไปด้วยความโลภมุ่งจะเอาให้แก่ตัว หรือถ้าคิดไปในทางโกรธจะทำลายกัน จะมีผลไม่ดีมีโทษอย่างนั้นๆ ก็เกิดการปรับพฤติกรรมใหม่ ไม่ทำตามความโลภ และโทสะ แต่ทำไปตามเหตุผลที่มองเห็นด้วยปัญญา
คุณสมบัติที่จะมาประกอบเจตนาหรือเจตจำนงนี้มีมากมาย เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เป็นเรื่องกระบวนการของกรรม ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของจิตมาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติทั้งหลายที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเป็นไปของชีวิตและสังคมมนุษย์นั้นเป็นไปตามกรรมนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่กฎแห่งกรรมหรือกรรมนิยามนั้นก็สัมพันธ์กันกับกฎธรรมชาติอื่นทั้ง ๔ กฎ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องแยกแยะให้ถูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกฎข้อใด หรือมาจากการผสมผสานโยงกันของกฎต่างๆ ข้อไหนบ้าง อย่างไรก็ตามขอเน้นว่า พุทธศาสนาถือว่ากฎข้อที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ กรรมนิยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมนิยามในส่วนที่เกี่ยวกับมโนกรรม