การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มนุษย์: เพื่อเป็นทรัพยากรที่ดี
หรือเพื่อมีชีวิตที่สมบูรณ์

ต่อไปก็เป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือเวลานี้ เราพูดกันมากว่าคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ และเราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่บางทีเราอาจจะเพลินลืมไปว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ มีอายุไม่นานเท่าไร และเกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดในการพัฒนาแบบที่เรากำลังติเตียนกันอยู่ว่าผิดพลาด มีโทษร้ายและจะต้องละเลิก

เรื่องมีว่า เมื่อไม่นานนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) มีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนหนึ่งชื่อ Gary Becker ได้แต่งหนังสือ ชื่อ Human Capital แสดงความคิดว่า มนุษย์ก็เป็นทุนอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ แล้วในระยะใกล้ๆ นั้นเอง คือในช่วงปี ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓) ก็มีการใช้ศัพท์ว่า human resources ที่แปลว่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแสดงความหมายว่าเรามองมนุษย์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นทุนที่จะใช้สนองวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเพื่อพัฒนาสังคม

แต่ความจริงมนุษย์คงไม่ใช่มีความหมายเพียงเท่านั้น เราควรจะมองมนุษย์ในฐานะที่เป็นคนเพื่อตัวของเขาเองด้วย ซึ่งเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมายในตัวของเขาเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกความหมายที่เป็นทรัพยากรไปเสียเลย เพียงแต่ไม่ให้เราจบแค่นั้น คือจะต้องให้มีความหมายทั้งสองอย่าง ทั้งในแง่ที่มนุษย์เป็นทรัพยากร และในแง่ของความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามีความหมายในตัวเอง และความหมายในแง่หลังนี้ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการศึกษาจะต้องพัฒนาคนโดยมีจุดหมาย ให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าในตัวของเขาเอง ให้เป็นชีวิตที่ดีงาม และสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้คำว่าเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.