การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญญา พาพ้นวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อม

การที่มนุษย์พัฒนาขึ้นไปนั้น เมื่อกี้บอกครั้งหนึ่งแล้วว่า เราพัฒนาจากการอยู่รอดด้วยกิเลส ไปสู่การอยู่ดีด้วยปัญญา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมา ก็สามารถใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตมากขึ้น อาศัยกิเลสน้อยลง เช่น อาศัยตัณหาน้อยลง อาศัยมานะ อาศัยความกลัวน้อยลง การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูงสุด จึงเรียกว่า “ปัญญาชีวิต” หรือ ปัญญาชีวะ คือชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา เมื่อพูดถึงสังคมมนุษย์ ก็คือ ทำอย่างไรจะให้สังคมมนุษย์นี้ เป็นสังคมของคนที่อยู่ดีด้วยปัญญา เพราะการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ อาศัยการพัฒนาคนให้สามารถอยู่ดีด้วยปัญญา

การอยู่ด้วยปัญญามีลักษณะแสดงออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพัฒนาสูงขึ้นไปจากธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนที่มีกิเลส จะเห็นว่า มนุษย์นั้นตามปกติจะมีความเป็นไปอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความเสื่อมและความเจริญ ถ้าเรามองไปที่สังคมมนุษย์ จะเห็นว่ามีความเจริญแล้วก็มีความเสื่อม หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมองตามหลักสัจธรรม เราบอกว่าเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยงจึงเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ในทางธรรมนั้น ท่านไม่ได้ยอมแพ้ ไม่ได้บอกให้ปลงว่า เออ สิ่งทั้งหลาย มันเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา จะทำอย่างไรได้ ก็ต้องปล่อยมันไป การปลงอย่างนี้ท่านไม่ยอมรับ ถ้าใครทำอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นคนประมาท

ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อยังมีกิเลส ยังไม่ศึกษา ยังไม่พัฒนา เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เช่น ยากจน ไม่มีจะกิน หรือ คนอื่นจะรุกรานเบียดเบียน ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาหาทางแก้ไข แต่พอแก้ปัญหาสำเร็จ มีความสุขสบาย อะไรต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะปล่อยตัว เสวยความสุข เฉื่อยชา นอน พอเฉื่อยชา นอนเสวยความสุข ทีนี้ก็เสื่อม ต่อเมื่อไรมีทุกข์เดือดร้อนขึ้นมาอีก ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายใหม่ มนุษย์ก็เลยตกอยู่ใต้วงจรของความเสื่อมและความเจริญแบบนี้

นี้คือวิสัยของมนุษย์ปุถุชน ท่านเรียกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา หรือไม่พัฒนา ไม่ได้ฝึกอบรมตน จะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของความเสื่อมและความเจริญแบบนี้ ซึ่งเกิดจากการที่ตนเองปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เวลาประสบความสุขความสำเร็จดีงามแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะหยุดนอนเสวยสุข แม้แต่พระอริยบุคคลก็ยังได้รับคำตักเตือนจากพระพุทธเจ้าว่า ตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญนี้

การที่ว่าเมื่อได้ดีมีความสุขประสบความสำเร็จแล้วมีความโน้มเอียงที่จะอยู่นิ่งเฉยเฉื่อยชานี้ ท่านเรียกว่าความประมาท ขนาดพระอริยบุคคล เช่นพระโสดาบัน ถ้ามีความภูมิใจ เกิดความชื่นชมยินดีว่า แหม เราได้บรรลุคุณธรรมวิเศษอย่างสูง เราก้าวหน้ามามากแล้ว พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีความสันโดษในกุศลธรรม ถ้ามีความสันโดษอย่างนี้ ท่านถือว่าเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ปมาทวิหารี แปลว่า “ผู้อยู่ด้วยความประมาท”

สันโดษนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง มันอยู่ที่ว่าสันโดษในอะไร ถ้าสันโดษในกุศลธรรม คือพอใจในสิ่งที่ดีงาม ไม่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป ท่านเรียกว่าเป็นผู้ประมาท ไม่ถูกต้อง ความสันโดษในสิ่งบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว หรือสันโดษในสิ่งเสพ จึงจะถูก แต่ในกุศลธรรมต้องไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า ที่พระองค์ตรัสรู้ก็เพราะไม่สันโดษ ความไม่สันโดษ(ในกุศลธรรม)นี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ท่านยกขึ้นตั้งเป็นหลักทั้งในพระสูตร และพระอภิธรรม เป็นธรรมข้อสำคัญยิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เราจึงต้องก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในการสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข

เมื่อเราไปสันโดษในกุศลธรรม คือในความดีงาม ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ พระท่านติเตียนว่าเป็นความประมาท ทำให้เกิดความเสื่อม ตามปกติเราก็สอนกันว่า จงตั้งใจทำความดีต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่แค่นั้นไม่พอ พระพุทธเจ้าทรงเน้นความไม่ประมาทในความดีนั้นด้วย คือไม่ให้หยุด ไม่ให้พอ ไม่ให้เฉื่อย ไม่ให้รอ ในการทำความดีนั้นๆ เพราะความประมาทเป็นหลุมพราง ที่คอยดักคนที่เจริญก้าวหน้าประสบความดีงามมีความสุขและความสำเร็จ

เพื่อจะไม่ให้ตกหลุมพรางและวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญ พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความไม่ประมาท ในทางพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องนี้เป็นอย่างสูง แม้กระทั่งเป็นปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าคือพระดำรัสสุดท้ายก่อนปรินิพพาน

เราจะต้องมีความไม่ประมาทอยู่เสมอ คือหยุดไม่ได้ เราจะต้องหนีให้พ้นวงจรของความเสื่อมความเจริญอย่างที่ว่ามานี้ นอกจากเมื่อมีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอประสบความดีงาม ความสุข ความสำเร็จ ก็หยุดนิ่ง อยู่เฉย เพลิดเพลินเสพสุข แล้วก็เสื่อม แม้แต่เมื่อประสบทุกข์ หรือพบความเสื่อมแล้วปลงใจได้ สบายใจหายทุกข์ เพราะจัดการภายในได้แล้ว มีความโน้มเอียงที่จะปล่อยตัว แล้วก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่แก้ปัญหาภายนอก อย่างนี้ก็ตกอยู่ใต้ลัทธิความประมาทเหมือนกัน ฉะนั้น ความประมาทจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวังมาก

ในโลกมนุษย์นี้ เมื่อยังเป็นปุถุชนมีกิเลสอยู่ ยังไม่พัฒนา ไปๆ มาๆ บางสังคมก็สร้างระบบหรือวิถีชีวิตอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อจะใช้เป็นเครื่องบีบรัดคน ให้มีทุกข์มีภัยอยู่เรื่อยๆ จะได้นอนนิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมากระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย ระบบนี้เรียกว่าระบบแข่งขัน

ระบบแข่งขันก็คือการสร้างทุกข์และภัยให้กรุ่นตลอดเวลา ทุกข์จะได้บีบคั้น ภัยจะได้คุกคามให้คนหยุดนิ่งไม่ได้ ถ้าแกไม่แข่ง ไม่เอาชนะ ไม่ไปให้เหนือเขา แกจะอยู่ไม่รอด แกจะแย่ แกจะตายนะ ระบบแข่งขันนี้เป็นตัวบีบเร่ง โดยใช้กิเลสของมนุษย์นั่นแหละมาเป็นเครื่องมือ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ที่ขอเรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้ช่วยให้คนไม่ประมาท แต่ท่านไม่ยอมรับ เพราะเป็นความไม่ประมาทเทียม คนที่อยู่ใต้ระบบนี้ต้องกระตือรืนร้นขวนขวายดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เกิดความเจริญในแง่หนึ่ง แต่มันไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเป็นการแข่งขันดิ้นรนเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อเอาตัวรอด และเพื่อเอาให้แก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ตลอดจนความเสียหายเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่ใครๆ จึงไม่ใช่ความไม่ประมาทที่ต้องการ

ทำอย่างไรจะให้คนมีความไม่ประมาทที่แท้ ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือการอยู่ด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติว่ามนุษย์จะสามารถอยู่ด้วยปัญญาได้หรือไม่ คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ต้องใช้ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ของการแข่งขันมาบีบคั้น แต่ให้ไม่ประมาทได้ด้วยสติปัญญา

สติปัญญา เป็นอย่างไร สติ คือการคอยระลึกคอยนึกอยู่เสมอ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทันต่อเหตุการณ์ หมายความว่า อะไรเกิดขึ้นเป็นไปรอบตัวเรานี้ มันจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อความเสื่อมความเจริญ ต่อความดีงาม ต่อครอบครัว ต่อสังคมของเรา ก็จับเอามานึกเอามาระลึก เอามาดู เอามาสำรวจทั้งหมด แล้วใช้ ปัญญา พิจารณาว่าอันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ เหตุปัจจัยนั้นๆ เป็นอย่างไร จะป้องกันแก้ไขหรือทำให้มีให้เป็นขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามีสติตื่นตัว ทันต่อเหตุการณ์ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตรวจสอบเหตุปัจจัยอยู่เสมอ เราก็สามารถสร้างสรรค์เหตุปัจจัยของความเจริญ และป้องกันเหตุปัจจัยของความเสื่อมได้ เราก็สามารถที่จะไม่เสื่อมและมีความเจริญได้เสมอ นี้คือ การอยู่ด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าความไม่ประมาทที่แท้ พระพุทธศาสนาสอนให้เราอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างนี้ เมื่ออยู่ด้วยสติปัญญา ก็ไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม เพราะใช้สติปัญญาเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ มนุษย์จะสามารถมีความเจริญได้ โดยไม่เสื่อม ในพระพุทธศาสนาจึงมีหลักการที่สอนว่า ถ้ามนุษย์ไม่ประมาท ก็จะมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม

หลักการสองอย่างนี้ เหมือนกับค้านกัน คือ หลักสัจธรรม สอนว่า อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชวนให้เราโน้มเอียงที่จะเข้าใจไปว่า เออ สิ่งทั้งหลายเจริญได้ก็เสื่อมได้เป็นธรรมดา การพูดอย่างนี้ระวังจะผิดหลักพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาบอกว่า ถ้าเธอไม่ประมาทจะมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม อันนี้เหมือนตรงกันข้าม แต่ที่จริงคือประสานกลมกลืนกัน เพราะไม่ว่าจะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเจริญต่อไปหรือยิ่งขึ้นไป หรือเสื่อมแล้วเสื่อมต่อไป ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงตามหลักอนิจจังทั้งนั้น แต่จะเป็นอย่างไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น หรือที่เราจะทำเอา

เวลานี้พระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพที่ประชาชนมีความเข้าใจเว้าแหว่งมาก จะต้องประสานให้ได้ว่า ทั้งสองอย่างนั้น ที่จริงเป็นหลักการเดียวกัน หลักอนิจจังว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดา หลักความไม่ประมาทก็มาบอกต่อไปว่า ถ้าเธอไม่ประมาท เธอก็จะมีแต่อนิจจังในทางที่เจริญ ไม่มีเสื่อม โดยเฉพาะความไม่ประมาทนี้ จะเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษย์อย่างที่ว่าแล้ว

เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้ด้วยปัญญาถึงขนาดนี้ ที่จะไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม แต่สามารถที่จะแก้ไขป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยสติปัญญา อันนี้แหละเป็นบทพิสูจน์ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนามนุษย์ถึงขั้นนี้ มนุษย์ก็ต้องตกอยู่ใต้วงจรของความเสื่อมและความเจริญต่อไป แล้วก็ต้องอาศัยระบบแข่งขันมาช่วยบีบให้ดิ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มนุษย์ไม่พัฒนาตัวให้มีความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา ถ้าไม่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะเฉื่อยชาเกียจคร้าน ถ้าเป็นอย่างนั้นเราให้มีการแข่งขันดีกว่า แต่เอาแค่ให้มีบ้าง และจะต้องทำด้วยความรู้เท่าทัน ในบางสังคมคนมีความโน้มเอียงที่จะเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน รอโชคช่วย ถ้าอย่างนี้ก็ต้องใช้อุบาย คือเอาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี่แหละมาใช้งาน จะได้บีบบังคับเขาให้ขวนขวายขึ้นมาบ้าง นี่ก็คือระบบแข่งขัน

ฉะนั้น ถ้าคิดจะใช้ระบบแข่งขันซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคปัจจุบัน เราจะต้องมองด้วยความรู้เท่าทัน ว่ามนุษย์จำพวกหนึ่ง ถ้าไม่ถูกบีบคั้นด้วยการแข่งขันก็จะไม่สร้างสรรค์ เราจึงต้องไปสู่ขั้นที่สองคือ ทำให้เขาถูกการแข่งขันบีบคั้น เพื่อจะได้ทำการสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นการใช้ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์มาช่วย แต่จะหยุดแค่นั้นไม่ได้ เราจะต้องพัฒนามนุษย์ต่อไปให้ถึงขั้นที่สาม คือ ให้เขาสามารถสร้างสรรค์ได้ โดยไม่ต้องถูกบีบคั้น เพราะถ้ายังอยู่ในขั้นแข่งขัน มนุษยชาติไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากแต่ละคนมุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้ใช้ปัญญาที่แท้

เวลานี้เรายังไม่พ้นจากสภาพที่ว่ามานี้ ในเวทีโลกยังเต็มไปด้วยการแข่งขัน สังคมแต่ละสังคมมุ่งแต่เรื่องของการแข่งขันกัน อย่างสังคมอเมริกันเวลานี้ ที่ร้องทุกข์โอดครวญว่าตัวเองกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ ก็ยังหลงเข้าใจไปว่า ที่ตัวเองสูญเสียความยิ่งใหญ่ไปนั้น เป็นเพราะคนอเมริกันยุคปัจจุบันนี้สูญเสีย competitiveness ไม่ค่อยมีความพร้อม ไม่ค่อยมีความสามารถในการแข่งขัน ฉะนั้น ในการที่จะฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำของอเมริกา เขาจึงพากันไปเน้นอยู่ที่ตรงนี้แหละ ว่าจะทำอย่างไรให้คนอเมริกันมี competitiveness เวลานี้ก็เน้นกันใหญ่ ไม่รู้จะปลุกขึ้นไหวหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม การทำอย่างนั้นไม่ใช่วิธีการที่จะสร้างสรรค์มนุษยชาติ ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่เป็นเรื่องของการแข่งขันแย่งชิงความยิ่งใหญ่เหนือกัน ที่มองกันเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ และต่างก็เห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมของตนๆ เป็นการเบียดเบียนก่อปัญหา ไม่ใช่การที่จะแก้ปัญหาให้ทางรอดแก่มนุษยชาติ

ตกลงว่า บทพิสูจน์มนุษยชาติ คือการพัฒนาคนให้อยู่ดี มีความไม่ประมาทอยู่เสมอด้วยสติปัญญา

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.