ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สภาพโลกาภิวัตน์

ว่าถึงสภาพโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้ก็มีมากมาย อย่างแรก ที่เราใช้เป็นชื่อของยุคสมัยเลย ก็คือข่าวสารข้อมูล หรือสารสนเทศ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ เวลานี้เราเรียกโลกยุคปัจจุบันว่ายุคข่าวสารข้อมูล หรือที่ฝรั่งผู้ริเริ่มเรียกว่า Information Age และสังคม ก็เป็นสังคมข่าวสารข้อมูลที่เรียกว่า Information Society เรื่องข่าวสารข้อมูลเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่มีอิทธิพลกว้างขวางอย่างยิ่ง เป็นอันดับแรก จนกระทั่งเป็นชื่อของยุคสมัย

อย่างที่สอง วิทยาศาสตร์และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างยิ่ง การที่ข่าวสารข้อมูลจะเป็นโลกาภิวัตน์ได้ ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งมีความสำคัญมาก อย่างที่จัดขึ้นเป็นงานครั้งนี้ พูดได้ว่า ตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้ข่าวสารข้อมูลได้กลายเป็นโลกาภิวัตน์ก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศนี่เอง

สภาพโลกาภิวัตน์อย่างอื่นก็เช่น ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าขาย เวลานี้ในทางเศรษฐกิจระบบแข่งขันกำลังขยายตัวแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับทั้งโดยตรงคือนิยมแล้วรับเข้ามาเองและจำใจยอมรับ เพราะถูกครอบงำอย่างที่ว่าแล้ว เวลานี้ระบบการแข่งขันในทางเศรษฐกิจแบบธุรกิจได้ครอบงำเศรษฐกิจของโลกแล้วเป็นอย่างมาก

ในด้านระบบการเมืองการปกครองเวลานี้ที่เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ก็คือ ประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเมื่อโซเวียตรัสเซียล่มสลายไป ระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยก็ยิ่งแพร่หลายไปในโลกมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ในด้านความเป็นไปในสังคม เช่น การที่มนุษย์จะอยู่กันอย่างมีสันติภาพได้อย่างไร เวลานี้สิ่งที่เป็นปัญหาน่าหวาดวิตกมากก็คือปัญหาความขัดแย้งและเบียดเบียนกัน ทั้งๆ ที่ว่าโลกนี้แคบเข้า ชุมชนโลกกลายเป็นชุมชนอันหนึ่งอันเดียวกันจนใช้คำว่า “Global Village” คือเป็นหมู่บ้านโลก แต่มนุษย์ที่อยู่ในโลกกลับมีปัญหาขัดแย้งกัน แบ่งแยกกันเป็นกลุ่มเป็นพวก รบราฆ่าฟันกัน เป็นการสวนทางกับสภาพของโลกที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางเทคโนโลยี หรือทางวัตถุ และสภาพแวดล้อม กลายเป็นว่าในยุคที่โลกแห่งสภาพแวดล้อมรวมกัน โลกมนุษย์กลับยิ่งแบ่งแยกกัน จนฝรั่งใช้คำว่า เป็นยุคที่มี tribalism คือเป็นยุคแห่งลัทธิแบ่งพวกแบ่งเผ่า โดยที่ tribalism นี้กลับเป็น globalization มันกลับกัน เป็นความจริงที่ดูย้อนแย้งในตัวของมันเอง เป็นที่น่าหวาดวิตกมาก จึงเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่ก่อปัญหาอย่างยิ่ง แล้วก็อาจจะเป็นจุดติดตันของมนุษยชาติเพราะยังหาทางแก้ไม่ได้

ในขณะที่มนุษย์ในสังคมมีความแบ่งแยกขัดแย้งกันและเกิดภัยสงครามเป็นต้นนั้น อีกด้านหนึ่งที่คู่กันซึ่งร้ายแรงไม่น้อยกว่าก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งแต่เป็นด้านร้าย ซึ่งเวลานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งที่คุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ และยังไม่เห็นทางปลอดโปร่งว่าจะแก้ไขได้

ปัญหาสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ติดตันที่สุด ซึ่งยังไม่มองเห็นและไม่มีความมั่นใจว่าจะมีทางแก้ไขได้ เป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่สองอย่างคู่กันที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด คือ สังคมมนุษย์ที่แบ่งแยกรบรากัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หรือพูดให้ชัดขึ้นอีกเป็นภาพของตัวมนุษย์ผู้อยู่ในท่ามกลางสภาพที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ขณะที่ในสังคมคนอยู่ด้วยกันแบ่งแยกทะเลาะวิวาท ไม่ไว้วางใจกัน สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยกลับรวมตัวพากันเสื่อมโทรมเป็นอันเดียวกันไปทั่ว

นอกจากนั้นยังมีความแปลกแยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกธรรมชาติ เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น โลกมนุษย์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ก็ปรากฏว่ามนุษย์ได้สร้างโลกของตัวเองให้เจริญมาก และโลกมนุษย์ที่เจริญนี้ก็เริ่มมีความแปลกแยกกับโลกธรรมชาติ ทำให้มนุษย์จำนวนไม่น้อยอยู่ในโลกของมนุษย์โดยแทบจะไม่รู้จักธรรมชาติ และไม่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในโลกของธรรมชาติ หรือโลกธรรมชาติมันซ้อนมันรองรับโลกมนุษย์นี้อยู่ ถ้าโลกมนุษย์จะแยกกับโลกของธรรมชาตินั้น เป็นไปได้ไหมว่ามนุษย์จะอยู่ตามลำพังได้โดยไม่ต้องอาศัยโลกธรรมชาติ ถ้าสองโลกนี้แปลกแยกและขัดแย้งกัน โลกมนุษย์จะอยู่โดยสวัสดีได้หรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องพิจารณา

ที่ว่ามานี้เป็นการยกมาให้เห็นว่า เรื่องของโลกาภิวัตน์ต่างๆ มีมากมายหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม งานนี้เป็นงานไอที เป็นเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือข่าวสารข้อมูล ดังนั้น การพูดในวันนี้ก็คงเน้นโลกาภิวัตน์ด้านไอที แต่กระนั้นก็ตามจะพูดให้กว้างถึงเทคโนโลยีทั่วไปด้วย เพราะเทคโนโลยีแต่ละแบบมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกาภิวัตน์ข้ออื่นทั้งหมดเป็นไปได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.