ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การพัฒนามนุษย์เพื่อแก้ปัญหาจากเทคโนโลยี

การแก้ไขระยะยาวที่สำคัญที่จะเว้นไม่ได้คือเรื่องของการศึกษา การศึกษาที่เตรียมคนให้มีทุนขั้นพื้นฐาน คือคุณภาพของคน เริ่มจากจิตใจหรือนิสัยอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว ซึ่งขอนำมาทวนว่าจะต้อง

๑. สร้างความใฝ่รู้ ทำให้คนมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เข้ามาเมืองไทยนานมากแล้ว นับแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ที่เราบอกว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ก็ร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่เมืองไทยเรายังไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิถีชีวิตวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจะต้องสร้างคุณสมบัตินี้ โดยเฉพาะความใฝ่รู้ให้ได้ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ จะต้องเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่ปรับตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ถูกต้อง

๒. สร้างความสู้สิ่งยาก คือความเพียรพยายามในการกระทำการให้สำเร็จ หรือการที่จะต้องทำการให้สำเร็จให้ได้ด้วยความเพียรพยายามของตน ซึ่งสร้างได้ด้วยวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่เป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ปรับปรุงใหม่ ต้องเน้นตรงนี้ไว้ด้วย เพราะวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเราก็ไม่ควรยอมรับ จริงอยู่ฝรั่งใช้วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของเขาสร้างสังคมของเขามาให้เจริญรุ่งเรืองพรั่งพร้อมได้ แต่วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งก็มีจุดด้อยคือความคับแคบ นำมาสู่ปัญหาปัจจุบันคือ ความขัดแย้งในโลก ในสังคม และการทำลายธรรมชาติแวดล้อม

จากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งนั้น ผลร้ายก็ตามมาด้วย สิ่งที่ดีเราก็ยอมรับ ส่วนชั่วเราก็ต้องรู้ เราต้องแก้ไขปรับวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเสียใหม่ วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของตัวเอง มุ่งไปในทางความต้องการส่วนตัว เน้นความเห็นแก่ตัว สนองสิ่งที่เรียกว่าตัณหาหรือโลภะและมุ่งอำนาจ ต้องอาศัยระบบแข่งขัน ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจและการเอาชนะ ยิ่งในเวทีโลกก็ยิ่งต้องการอำนาจมากขึ้นอีก และตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ผิดคือความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ที่พูดว่ามีมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว และได้เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งจึงตั้งอยู่บนฐานของความคิดอันนี้ คือการคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันฝรั่งก็ยอมรับแล้วว่าผิด พร้อมทั้งแนวความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นฐานของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของฝรั่งคือ ความเชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุด ทั้งสองอย่างนี้ เป็นฐานทางความคิดของอุตสาหกรรมที่พัฒนามา ซึ่งตอนนี้จะต้องปรับใหม่

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมจะต้องปรับใหม่ด้วยการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือจะต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมพุทธศาสนาขึ้นมาประสานหรือมาปรับปรุงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น วัฒนธรรมพุทธนี้จะต้องระวังว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมไสยศาสตร์ ต้องแยกกันให้ได้

วัฒนธรรมไสยศาสตร์ไม่ส่งเสริมความใฝ่รู้และไม่หนุนไม่เกื้อการแสวงปัญญา ไสยศาสตร์ เป็นเรื่องลึกลับก็คือไม่ต้องรู้ นอกจากไม่ต้องรู้แล้วยังไม่ต้องทำด้วย มีแต่ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลผลสำเร็จให้ สิ่งที่เราต้องทำคืออะไร คืออ้อนวอนและนอนรอ อ้อนวอนไปนอนรอไป การกระทำของไสยศาสตร์ก็คือ ไม่ต้องทำ หรือการไม่ต้องทำคือการกระทำของไสยศาสตร์โดยขอให้อำนาจลึกลับทำให้

ว่าโดยสาระ วัฒนธรรมไสยศาสตร์คือวัฒนธรรมที่ขัดขวางความใฝ่รู้และการสู้สิ่งยาก เพราะว่าใช้ระบบพึ่งพา ฝากความหวังไว้ในศรัทธาที่เชื่ออำนาจดลบันดาลจากสิ่งลึกลับภายนอก ซึ่งมนุษย์เข้าไปสัมพันธ์ด้วยการอ้อนวอนและนอนรอคอยผล ส่วนวัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องรู้ ต้องรู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เพราะพุทธศาสนาสอนว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะเป็นอยู่ด้วยดีและทำการต่างๆ อย่างได้ผลจะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น จึงต้องส่งเสริมปัญญา เป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญาความใฝ่รู้ และเป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องทำ เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์จะต้องพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ การที่มนุษย์จะพึ่งตนได้ต้องทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีความเพียร เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงมีชื่อว่ากรรมวาท และวิริยวาท พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์เองว่าเป็น “กรรมวาที” ผู้ประกาศหลักการแห่งการกระทำ และ “วิริยวาที” ผู้ประกาศหลักการแห่งความเพียรพยายาม นี่คือพุทธศาสนา ฉะนั้นจะต้องเพียรพยายามทำการให้สำเร็จโดยใช้สติปัญญา ต้องพึ่งตนให้ได้ พุทธศาสนาเน้นอิสรภาพเริ่มด้วยการที่ต้องพึ่งตนให้ได้ เราจะต้องทำความสำเร็จที่ชอบธรรมให้ได้ด้วยตนเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.