ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจกลายเป็นโทษ

เวลาจะหมด ยังเหลืออีก ๒ หัวข้อใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในตัวมันโดยตรง เรื่องแรกคือ เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที นี่คือเพิ่งมาเข้าเรื่องโดยตรงก็พอดีเวลาหมด เอากันง่ายๆ ว่า เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลหรือสารสนเทศนี้ ในเมื่อมันเป็นเทคโนโลยีก็มีทั้งคุณและโทษ ข้อสำคัญอยู่ที่ปฏิบัติต่อมันถูกหรือผิด ขอถามว่าขณะนี้เราปฏิบัติต่อมันถูกหรือผิด เราได้คุณหรือได้โทษจากมันมากกว่ากัน

ขอพูดรวบรัดว่า มนุษย์เราในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมไทย มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลหรือตัวข่าวสารข้อมูลนั้นแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท

๑. พวกตื่นเต้น คิดว่าเรานี้ทันสมัย ได้เสพข่าวสารที่ใหม่ๆ แปลกๆ มีของใหม่ๆ เข้ามาเราก็ได้บริโภค แต่สัมผัสกับข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ อย่างผิวเผิน เพียงแค่เอามาลือเอามาเล่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ให้สนุกปาก ตื่นเต้นกัน คร้านที่จะสืบค้นหาความจริงด้วยใจเป็นกลาง จึงไม่รู้ความเป็นไปที่แท้จริง และไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย นอกจากถูกชักจูงไป เรียกว่าตกอยู่ในกระแส ถูกกระแสพัดพาไหลไปเรื่อยๆ ไม่เป็นตัวของตัวเอง

๒. พวกตามทัน พวกนี้ดีกว่าพวกตื่นเต้น คือมีข่าวสารข้อมูลอะไรเกิดขึ้นก็ตามทันหมด เอาใจใส่ติดตาม พวกนี้ก็ภูมิใจว่าเรานี่เก่ง ข่าวเกิดที่ไหนๆ รู้หมด การเมืองที่นั่นเป็นอย่างไร เหตุการณ์แผ่นดินถล่มแผ่นดินไหว เกิดอีโบล่าอะไรที่ไหนรู้ทันหมด ตามทันแต่ไม่รู้ทัน พวกนี้เป็นเยอะ รู้ตามข่าว แต่ไม่เข้าถึงความจริงของมัน เช่น รู้ไม่ทันว่ามันมีคุณมีโทษอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร เบื้องหลังมันเป็นอย่างไร

๓. พวกรู้ทัน นอกจากตามทันแล้ว ยังรู้เข้าใจเท่าทันมันด้วยว่า มันเป็นมาอย่างไร มีคุณมีโทษมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร ให้ได้ประโยชน์โดยไม่ถูกครอบงำ

๔. พวกอยู่เหนือมัน พวกนี้ยิ่งกว่ารู้ทันอีก คือขึ้นไปอยู่เหนือกระแส เป็นผู้ที่สามารถจัดการกับกระแสได้ คนไหนอยู่ในกระแสก็จะจัดการกับกระแสได้ยาก คนที่อยู่เหนือกระแสจึงจะสามารถจัดการกับกระแสได้ เป็นผู้สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลแบบเป็นนาย เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ใช้มันอย่างแท้จริง

เวลานี้คนในสังคมไทยเราอยู่ในประเภทไหนมาก ขอให้วิเคราะห์สังคมไทยดูว่า เป็นพวกตื่นเต้นแค่ไหน เป็นพวกที่ตามทันแค่ไหน รู้ทันแค่ไหน อยู่เหนือมันแค่ไหน

ที่นี้โทษของข้อมูลข่าวสารนั้นขอพูดสั้นๆ กราดไปเลยว่า ยังมีภาวะตื่นตูมเหมือนกับอยู่ในยุคข่าวลือ ทั้งที่อยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล คนก็ยังหลงงมงายมาก กลายเป็นว่าข้อมูลยิ่งมากยิ่งเพิ่มโมหะ คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ โดยถูกเขาใช้ข้อมูลมาหลอกล่อ เช่นตกเป็นทาสของการโฆษณา มี promotion มีการใช้หน้าม้ากันดาษดื่นในเรื่องต่างๆ และคนก็ตามไม่ทัน อย่างอ่อนๆ ก็เป็นพวกที่ได้ยินได้ฟังข่าวสารข้อมูลมาก แต่ถูกข้อมูลท่วมทับเอา หรือได้รับแต่ขยะข้อมูล กลั่นกรองไม่เป็น เลือกสิ่งที่เป็นสาระไม่ได้ จมอยู่ใต้กองขยะข้อมูล ยิ่งมากยิ่งพร่ายิ่งมืดมัวสับสน อีกพวกหนึ่งก็เกิด information anxiety มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า Information Anxiety แปลว่า ภาวะจิตกระวนกระวายต่อข่าวสารข้อมูล เช่นกังวลกลัวไม่ทันข่าวสารข้อมูล เป็นการล้อศัพท์ที่เรียกสังคมยุคนี้ว่า information society ยกตัวอย่างเช่นนักธุรกิจจะทำอะไรในยุคปัจจุบันต้องแข่งขัน ต้องทำการให้ทันเขา จึงต้องรู้ข่าวสารข้อมูลให้ทันหรือให้มากกว่าเหนือกว่าเขา ก็เลยเกิดความวิตกกังวลว่าเรารู้ทันเขาหรือเปล่า ข่าวสารเรื่องนี้ตอนนี้เคลื่อนไหวไปอย่างไร ก็เกิด information anxiety ซึ่งตอนนี้เป็นทุกข์อย่างใหม่ในปัจจุบัน

อีกเรื่องหนึ่งคือสังคมยิ่งเจริญไวชีวิตและสังคมยิ่งมีปัญหาใหม่ แม้ว่าสังคมที่พัฒนาแล้วจะแก้ปัญหา material scarcity คือ แก้ปัญหาความขาดแคลนทางด้านวัตถุได้ แต่กลับมาเกิดปัญหา time scarcity คือความขาดแคลนเวลา ปัจจุบันนี้สังคมมีปัญหาหนักเกี่ยวกับความยากจนในเรื่องเวลา คนปัจจุบันนี้จนเวลามาก ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ข่าวสารข้อมูลเข้ามามากก็เกิดภาวะสมองเมื่อย ซึ่งตอนนี้เป็นกันเยอะขึ้นแล้ว ภาวะสมองเมื่อยสมองล้าเพราะข่าวสารข้อมูลมากมายเหลือเกิน รับไม่ทัน ที่นี้สองปัญหาก็มาบวกกัน คือเวลาก็ขาดแคลน สมองก็ล้า เลยรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่พินิจเรื่อยเปื่อยไป ก็ยิ่งถูกชักจูงง่าย ไหลตามกระแสง่าย ไปกันใหญ่ เอาเฉพาะทีวี เวลานี้เป็นปัญหามาก ในเมื่อใช้ไม่เป็น เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ละทิ้งงานการ เด็กๆ ไม่อ่านหนังสือ มาดูแต่ทีวี และเมื่อดูทีวีก็ดูไม่เป็น ไม่รู้จักดู ได้แต่หลงเพลิดเพลินสิ่งบันเทิงต่างๆ แล้วก็ได้ค่านิยมที่ไม่ดีจากทีวี ได้แบบอย่างที่ไม่ดีจากทีวี

ยิ่งกว่านั้น คนในครอบครัวเดียวกันต่างคนต่างก็หลงดูทีวีเรื่องที่ตัวชอบ ต่างคนต่างดู ต่างคนอยู่กับทีวี ไม่เอาใจใส่กันเอง เวลาที่มีจะอยู่บ้างในยุคนี้ก็น้อยอยู่แล้ว เพราะว่าเวลาหมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและการเล่าเรียนหาความรู้ ซึ่งเอาเวลาในชีวิตเราไปเกือบหมด แล้วเวลาที่เหลืออยู่นิดหน่อยนั้นทีวีก็มาเอาไปอีก พ่อบ้านก็ดูรายการหนึ่ง แม่บ้านก็ดูรายการหนึ่ง ลูกบ้านก็ดูรายการหนึ่ง ต่างคนก็ต่างจ้องดูแต่ทีวี บางบ้านมีตั้ง ๒ - ๓ เครื่อง เสร็จแล้วเวลาที่จะมาสังสรรค์กันในบ้านที่จะให้ได้รับความอบอุ่นในครอบครัวก็ไม่มี ทีวีก็เลยทำให้คนไม่เอาใจใส่กันแม้แต่ในครอบครัว การเสียความสัมพันธ์อบอุ่นในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก นี่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐาน แล้วต่อไปก็ไม่มีเวลาเอาใจใส่เพื่อนมนุษย์ คิดจะดูแต่รายการนั้นรายการนี้ซึ่งเขาคิดขึ้นมาล่อให้ดูอยู่เรื่อย คนก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขของตนเองมากยิ่งขึ้น

ทีนี้การที่เทคโนโลยีเพื่อการบริโภคพัฒนามากขึ้น ก็มีสิ่งบริโภคเพิ่มขึ้น คนแต่ก่อนนี้มีสิ่งที่จะบำรุงบำเรอหาความสุขน้อย มีเงินมากก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เอาไปฝังเป็นขุมทรัพย์ ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเรื่อย ก็ต้องหาเงินมาซื้อ หาเงินมาซื้อให้มาก ตามไม่ทัน ที่นี้ก็ต้องแข่งขันหาเงินแย่งชิงหาผลประโยชน์ให้มาก ในการแข่งขันแย่งชิงกันหาเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ๆ นั้น มนุษย์ก็ยิ่งต้องหมกมุ่นวุ่นวายกับเรื่องของตัวเองและเห็นแก่ตัวมากขึ้น เบียดเบียน แย่งชิงกันยิ่งขึ้น นอกจากนั้นดูทีวีไปก็บั่นทอนสุขภาพของตนไปด้วย เพราะว่ามัวหลงเพลินอยู่ ตาจ้องมากสายตาก็เสีย ไม่ได้ออกกำลังนั่งงอก่อขาดการบริหาร ในที่สุดสุขภาพทั่วไปก็เสียอีก เลยยุ่งกันใหญ่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.