ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สภาพของมนุษย์ที่เป็นนักเสพเทคโนโลยี

ผลอะไรที่จะตามมาจากฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีในด้านการเสพบริโภค หรือใช้บำรุงบำเรอความสุขก็ขอลองสรุปดู

๑. คนมักง่ายยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีแบบนี้ทำให้คนสะดวก จะทำอะไรก็เพียงแค่กดปุ่มเอา ไม่ต้องเพียรพยายาม จะใช้อะไรจะทำอะไรก็ง่ายไปหมดเพราะเทคโนโลยีช่วย ในเมื่อไม่มีนิสัยเก่าในการสู้สิ่งยาก ที่อยากจะทำการสร้างสรรค์ต่อไปด้วยความเพียรพยายาม ฐานเดิมไม่ดีอยู่แล้ว ความสะดวกสบายไม่มีอะไรบีบคั้นและความรู้สึกอยากได้รับการบำรุงบำเรอจะได้สบายไม่ต้องทำอะไร ตัวนี้ก็จะมาซ้ำ ทำให้ยิ่งเห็นแก่ง่ายหนักขึ้น เทคโนโลยีกลายเป็นมาซ้ำนิสัยเสียคือเห็นแก่ง่ายหรือมักง่ายยิ่งขึ้น

๒. คนกลายเป็นคนทุกข์ง่าย เพราะการที่ทำอะไรโดยไม่ต้องเพียรพยายาม หาความสุขสะดวกสบายได้ง่าย ถ้าไม่มีความใฝ่สร้างสรรค์ มีแต่ความใฝ่เสพ คนไม่มีภูมิต้านทาน ก็จะอ่อนแอเปราะบาง พอขาดสิ่งบำรุงบำเรอนิดหน่อยก็ทุกข์ทันที หันไปเจออะไรที่จะต้องทำ ก็ทุกข์ทันที คนในยุคนี้จะทุกข์ง่าย

หันไปดูในยุคก่อนๆ ที่คนในยุคนี้เห็นว่าเขามีความลำบากยากแค้น เมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าคนยุคนั้นเป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก แต่คนปัจจุบันนี้ ทุกข์ง่ายเพราะว่าเคยสบาย อะไรๆ ก็ง่ายไปหมด มีสิ่งบำรุงบำเรอเหลือล้น คนจะเปราะบางอ่อนแอ ขาดอะไรนิดก็ทุกข์ ไม่ได้อะไรอย่างใจนิดก็ทุกข์ เจออะไรจะต้องทำหน่อยก็ทุกข์ ไปๆ มาๆ เลยฆ่าตัวตายง่าย สภาพนี้กำลังเป็นมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นสังคมยิ่งสบายคนยิ่งฆ่าตัวตาย สถิติชัดมากในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในญี่ปุ่นก็มาก แถมคนที่ไม่น่าฆ่าตัวตายคือเด็กวัยรุ่นกลับมาฆ่าตัวตายมาก อเมริกากำลังหวั่นวิตกว่าทำไมวัยรุ่นจึงฆ่าตัวตายกันมาก คนวัยสนุกมีความสุขสบายเหลือล้นทำไมจึงคิดฆ่าตัวตาย แต่คนในสังคมที่ยากแค้นไม่คิดฆ่าตัวตาย ให้ท่านดูเถอะ ยิ่งยากแค้นยิ่งรักชีวิต อันนี้เป็นข้อสังเกต เป็นอันว่าคนที่อยู่ในสังคมแบบนี้เมื่อใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ผลร้ายจะเกิดคือเป็นคนทุกข์ง่ายแล้วก็จะฆ่าตัวตายง่าย สังคมไทยก็ชักจะมีแนวโน้มในลักษณะนี้แล้ว

๓. อินทรีย์เสื่อมความเฉียบคม เพราะมนุษย์เราอยู่ในโลกนี้ใช้อินทรีย์ คือ ตาดู หูฟัง สมองคิด มือใช้งานต่างๆ เราจึงต้องฝึกฝนอินทรีย์ทำให้มีความถนัดชำนาญจัดเจนยิ่งขึ้น แต่พอนำเทคโนโลยีมาขยายวิสัยของอินทรีย์และมาทำหน้าที่แทน เราก็ไม่ต้องใช้อินทรีย์ เราก็เลยลืมฝึกอินทรีย์ของเรา ต่อมาจะทำอะไรก็ใช้เทคโนโลยีทำให้หมด เมื่อก่อนต้องคิดเลขในใจ มีวิชาเลขคิดในใจ หลายคนเก่งขนาดเลขทศนิยมหลายตำแหน่งก็คิดได้ ฝึกสมองมาดี แต่พอมีเครื่องคิดเลข มีคอมพิวเตอร์ คนไม่คิดเอง ต่อมากลายเป็นคนสมองนิ่ม คิดเลขไม่ออก พอไม่มีเครื่องคิดเลขแล้วคิดไม่ได้เลย อันนี้เป็นเพราะไม่ฝึกฝนอินทรีย์ อินทรีย์นี่ยิ่งฝึกยิ่งได้ผล อย่างช่างบางคนฟังเสียงเครื่องยนต์ปั๊บก็บอกได้เลยว่าเสียที่จุดไหน แก้ได้ตรงจุด ตาก็เหมือนกันเมื่อฝึกก็เฉียบคมขึ้น หมอบางคนเห็นคนไข้ก็พอจะบอกได้เลยว่าเป็นโรคที่ส่วนนั้น พอถามอีก ๒ - ๓ คำก็รู้เลยว่าเป็นโรคนี้ เวลานี้คนไข้มาหมอก็ส่งเข้าเครื่อง เอาไปเข้าโน่นเข้านั่น ใช้เครื่องแทนหมด ถ้าไม่ฝึกอินทรีย์ไว้ ต่อไปความเสื่อมของอินทรีย์ก็เกิดขึ้น ดังนั้นถึงแม้เทคโนโลยีเจริญแต่ตัวมนุษย์เองจะเสื่อม แล้วก็จะมีผลอีกอย่างหนึ่งตามมา เดี๋ยวค่อยพูด

พอเกิดความเสื่อมของอินทรีย์สิ่งที่ตามมาก็คือ การพึ่งพาเทคโนโลยีโดยไม่เป็นตัวของตัวเอง มนุษย์หมดอิสรภาพ เวลานี้อเมริกันกำลังวิตกเหมือนกันว่ามนุษย์ยุคต่อไปอาจจะมีสภาพที่เรียกว่า technological dependence คือ การพึ่งพาเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็หุงข้าวไม่เป็น ถ้าไม่มีเครื่องซักผ้าต่อไปก็ซักผ้าไม่เป็น ไม่มีเครื่องคิดเลขก็คิดเลขไม่ได้ ไม่มีเครื่องยนต์กลไก ก็ทำอะไรไม่เป็นหมดเลย ชีวิตต้องพึ่งพาเทคโนโลยี อยู่ด้วยตนเองไม่ได้ คราวนี้จะเกิดปัญหาใหญ่

การพึ่งพาเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ ๒ ด้าน คือ

๑. การพึ่งพาในแง่การดำเนินชีวิตและการทำงาน ดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว

๒. การพึ่งพาในด้านความสุข เมื่อคนลืมตัว มุ่งหาความสุขสบายจากเทคโนโลยี ความสุขก็จะไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีหมด ถ้าขาดเทคโนโลยีประเภทบริโภคจำพวกสิ่งฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอต่างๆ คนจะไม่สามารถมีความสุข จะมีความทุกข์มาก ชีวิตหมดอิสรภาพ ความสุขต้องขึ้นกับเทคโนโลยี ก็คือต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกหรือขึ้นต่อวัตถุ คนไม่มีความสุขเป็นของตนเอง

ที่ว่ามานี้คือปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข ถ้าปล่อยอย่างนี้เทคโนโลยีจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ จะมีสภาพที่เป็นทั้ง indolence คือการขาดความเพียร เฉื่อยแฉะเกียจคร้าน indulgence เป็นคนหมกมุ่นหลงอยู่ในความสุขสำราญ แล้วก็ dependence คือพึ่งพามาก เป็นอันว่าเราจะต้องหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดผลร้าย

นอกจากจะเกิดความเสียหายต่อคุณภาพของแต่ละคนแล้ว เทคโนโลยีที่ปฏิบัติหรือใช้ไม่ถูก จะเกิดผลร้ายที่เป็นการพึ่งพาในระดับสังคมด้วย เมื่อกี้นี้เสียคุณภาพบุคคล ที่นี้ในระดับสังคม นอกจากคนเป็นทาสของเทคโนโลยีแล้ว สังคมหรือประเทศชาติก็จะเป็นทาสของสังคมอื่นทางเทคโนโลยีด้วย คนเป็นทาสของเทคโนโลยีคือต้องอาศัยเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับมัน ทีนี้สังคมเป็นทาสในทางเทคโนโลยีคืออย่างไร คือจะถูกครอบงำโดยประเทศเจริญกว่าที่เป็นผู้ผลิต เนื่องจากตัวเองผลิตเทคโนโลยีไม่เป็น ได้แต่บริโภคก็ต้องพึ่งพาประเทศอื่น ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยี เป็นการพึ่งพาในระดับสังคมหรือประเทศชาติ นอกจากนั้นเทคโนโลยีก็จะนำค่านิยมแบบ “วัตถุนิยม” เข้ามา ทำให้เกิดความหลงใหลมัวเมายิ่งขึ้น แล้ววัฒนธรรมต่างชาติอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็จะหลั่งไหลเข้ามา และเราก็จะต้องถูกครอบงำในทางวัฒนธรรมอีกด้วย อันนี้เป็นเรื่องในระดับสังคมที่มีผลกว้างไกล

ทีนี้ในแง่สังคมเดียวกัน ต่อไปสังคมอาจมีการแยกชนชั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ชนชั้นพวกหนึ่งคือชนชั้นของคนที่มีความถนัดจัดเจนหรือเป็นผู้ใช้ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้ที่มีความสามารถเชิงเทคโนโลยีจะมีอำนาจครอบงำสังคม ส่วนคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ฝึกฝนอินทรีย์เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีจนเกินไป ในที่สุดก็จะกลายเป็นทาส เป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจ ถ้าคนที่เป็นผู้สามารถทางเทคโนโลยีไม่ทำอะไรให้ คนพวกนี้จะอยู่ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดปัญหา นี่คือเรื่องซึ่งเป็นข้อที่ควรจะสังเกตไว้ ซึ่งเราจะต้องเตรียมตัวแก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ประเทศชาติให้ถูกต้อง ที่นี้ในเวลาที่เหลือน้อยนี้จะขอพูดในแง่การแก้ไขบ้างว่าเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.