ทีนี้ มองดูทางด้านสังคม มีพุทธพจน์ตรัสไว้โดยมีสาระว่า สังคมควรจะเน้นหรือมีค่านิยมในการยกย่องบุคคลที่พัฒนาตน เพราะค่านิยมเป็นเรื่องสำคัญมากในทางสังคม เป็นเครื่องบิดผันนำทางสังคมให้ไปทางดีทางร้าย
ถ้าสังคมมีค่านิยมที่ไม่ดี เช่นในเรื่องนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันยกย่องบูชาผู้พัฒนาตน แต่ไปยกย่องบูชาคนด้วยเหตุอื่นๆ เช่น ความมั่งมีเงินทองหรืออิทธิพลอำนาจ เมื่อสังคมเกิดค่านิยมในทางอย่างนั้น แล้วผลร้ายก็เกิดแก่สังคมนั้นเอง แล้วจะไปโทษใคร เพราะมนุษย์สร้างค่านิยมขึ้นมาเอง ค่านิยมนี้เป็นมโนกรรม แล้วมนุษย์ก็ได้รับผลของมโนกรรมที่เป็นอกุศลของตนเอง
ตรงข้าม ถ้าเราพัฒนาค่านิยมที่ดี ช่วยกันเชิดชูคนที่พัฒนาตน คนที่มีการศึกษาที่ถูกต้อง สังคมก็จะดีงามขึ้น มนุษย์ที่เกิดมาภายหลังก็จะถือตามเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่เชิดชูนิยมกันในสังคม แล้วก็จะพยายามทำตาม
มีคาถาในพระธรรมบทอีกคาถาหนึ่ง ที่น่าจะนำมาใช้ในกรณีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนา และมีคำว่า ภาวิตัตตะ (ผู้มีตนที่พัฒนาแล้ว) อยู่ด้วย ท่านสอนว่า
มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ
แปลว่า ถึงแม้บุคคลจะไปประกอบพิธีบูชาสม่ำเสมอทุกเดือน ด้วยทรัพย์เดือนละ ๑,๐๐๐ ตลอด ๑๐๐ ปี ก็ไม่ประเสริฐอะไร สู้บูชาคนที่พัฒนาตนแล้วแม้เพียงขณะหนึ่งก็ไม่ได้
นอกจากนั้น ที่บอกให้บูชาคนที่ควรบูชานี้ คำว่า “บูชา” นั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าเอาไปตั้งไว้บนแท่น หรือให้ท่านนั่งบนอะไรสักแห่ง แล้วก็เอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้หรอก แต่หมายความว่ายกย่อง
อย่างเรื่องในภาษาบาลีว่า มีคนยากจนคนหนึ่ง เป็นคนขยันหมั่นเพียร ตั้งตัวได้ดีมีทรัพย์ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรง “บูชาเขาด้วยตำแหน่งเศรษฐี” (สมัยนั้น ตำแหน่งเศรษฐีมีการแต่งตั้ง)
ในข้อความนี้ก็คือให้ยกย่องคนที่พัฒนาตนแล้ว ซึ่งพระศาสนานี้สรรเสริญ จะเป็นแนวทางที่ดีของสังคม และเข้ากับหลักมงคล ๓๘ ประการ ในคาถาที่ ๑ ข้อ ๓ ที่ว่า
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แปลว่า การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลสูงสุดที่จะนำชีวิตและสังคมให้เจริญก้าวหน้า ฉะนั้นในแง่สังคม เรื่องการพัฒนาตนก็สำคัญ
สุดท้ายก็เข้ามาในตัวเองภายใน เมื่อพัฒนาตนแล้ว พัฒนาไปๆ กายก็พัฒนา ศีลก็พัฒนา จิตก็พัฒนา ปัญญาก็พัฒนาดีแล้ว ก็เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของโลกและชีวิต รู้เข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญญาพัฒนาแล้วก็เลยรู้ว่าตัวตนนี้ไม่มี
ตกลงพัฒนาตน พัฒนาไปพัฒนามาก็หมดตัวตน เป็นสุดท้ายจบเลย
ความจริง ไม่ใช่ว่าหมดหรอก โดยสมมุติก็ยังมีอยู่ เป็นเรื่องของภาษา
ที่ว่าพัฒนาตนนั้นก็ต้องรู้เท่าทัน เราพูดตามภาษาสำหรับสื่อความหมายกัน เรียกว่าตัวตนโดยสมมุติ
เมื่อพัฒนาปัญญาก็ทำให้รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับตัวตนว่ามันเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ว่าหมดตัวตนหรอก แต่รู้ทันว่าตัวตนที่ยึดถือกันนั้น ที่แท้มันไม่มี เมื่อรู้ว่าเป็นอนัตตาแล้วก็หมดความยึดมั่น (คือ เมื่อที่จริงตัวตนมันไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องหมดตัวตน แต่คนมีความยึดมั่นในตัวตนที่ไม่มี จึงต้องทำให้หมดความยึดมั่นนั้น แล้วปัญหาก็หมดไปเอง)
เมื่อไม่มีความยึดติดถือมั่นในตัวตน ก็ไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีตัวตนที่คอยรับกระทบให้เกิดความทุกข์
แต่ก่อนนี้ คนโน้นว่ามาก็กระทบ ไปทำโน้น ไปมองเห็นรู้อะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กระทบเรื่อย เพราะมีตัวตนที่ยึดไว้ พะวงปกป้องไว้คอยรับกระทบอยู่เรื่อย แต่พอเข้าใจ มีปัญญารู้แจ่มแจ้ง หมดความยึดมั่นนั้น ก็ไม่มีตัวไว้รับกระทบ ก็หมดทุกข์ เรียกว่าพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ก็ถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ต่อแต่นั้น จะทำอะไรจะแก้อะไรก็ตรงไปตรงมาตามเหตุปัจจัย ไม่ทำไปตามกิเลส เป็นอิสระแท้จริง
ถ้าไม่พัฒนาตนก็เป็นไปในทางตรงข้าม คือ ไม่รู้เข้าใจตัวตนว่าเป็นอนัตตา ก็ยิ่งพัฒนาความยึดมั่นในตัวตน ตัวตนมันก็ขยายพอกพูนออกไป พองออกไปพองออกไป อยู่นานวันเข้าตัวตนของเราก็ยิ่งพองขยายใหญ่ พอขยายใหญ่ก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะตัวตนแค่นี้ มันรับกระทบแค่นี้มันก็ทุกข์แค่นี้ พอนานๆ เข้ามันขยายออกไป ขยายออกไปอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็มีตัวตนที่รับกระทบมากขึ้นๆ ก็ทุกข์หนักเข้าทุกที
ถ้าเราอยู่ในโลกไม่เป็น ก็ติดโลก แล้วก็ยึดทุกอย่างในโลก เช่น ของที่เรามี ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็ยึดทุกอย่าง เรายึดอะไร ตัวตนของเราก็ขยายไปอยู่กับมัน สิ่งนั้นก็ผนวกเข้าเป็นตัวตนของเรา
เรามีแก้วใบหนึ่ง แก้วใบนั้นก็เป็นตัวตนของเราด้วย ตัวเราขยายไปอยู่กับแก้ว เรามีบ้านหลังหนึ่ง ตัวตนของเราก็แผ่ขยายไปครอบคลุมบ้าน เรามีอะไร ตัวตนของเราก็ขยายไปผนวกเข้า ตัวตนก็ใหญ่ออกไปๆ จนในที่สุด สิ่งกระทบก็เข้ามากระทบมากมายจนรับไม่ไหวเลย วันหนึ่งไม่รู้กระทบเท่าไร
ยิ่งตัวตนใหญ่ก็ยิ่งมีโอกาสมีขอบเขตมีแดนที่จะรับกระทบมาก ก็เลยทุกข์มาก จะทำอะไรจะแก้ไขอะไรก็ทำด้วยกิเลสที่เห็นแก่ตน ทำไปตามแรงความรู้สึกที่ถูกบีบ ไม่ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย ก็เลยยิ่งเกิดปัญหามาก
ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาตน เพื่อจะรู้เท่าทัน เข้าใจอนัตตา มองเห็นความไม่มีตัวตน จะได้หมดความยึดมั่นในตัวตน แล้วก็จะหมดความทุกข์ พ้นจากกิเลส มีจิตใจเป็นอิสระ เป็นอันว่าเรื่องการพัฒนาตนก็น่าจะจบเพียงนี้
เรื่องที่กล่าวมาก็เหมือนดังที่พูดไว้ข้างต้น คือเน้นการพูดตามหลักวิชาหรือตามคัมภีร์ตามตำรา ความรู้ในคัมภีร์หรือในตำรานั้นจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อรู้จักเอามาใช้ประโยชน์ เอามาปฏิบัติ ถ้าไม่มีผลในการปฏิบัติแล้วความรู้ในตำราก็ไร้ความหมาย
ข้อนี้ก็มาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือโครงการที่ว่า จุดมุ่งหมายในการตั้งโครงการนั้นมุ่งเน้นที่การปฏิบัติ เรามาพัฒนาตนในแง่การปฏิบัติ คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทำให้ดับทุกข์ได้ ให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสมีความสุข มีความร่มเย็นทั้งตัวเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี สังคมนี้ก็จะมีความสุขความเจริญ
ฉะนั้น ถ้าหากว่าได้นำความรู้ทางตำรานี้มาโยงใช้ในทางปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ ก็จะเข้ากับวัตถุประสงค์ของโครงการ และทั้งเป็นการถูกต้องตามธรรมด้วย
ในที่สุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนา อ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อำนวยพรแด่ท่านผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน ขอจงเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติ บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สำเร็จสมตามมุ่งหมาย มีความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ