หลักที่ ๒ สิกขา ในภาษาไทยเราใช้คำว่า ศึกษา สิกขา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นเรื่องการฝึกฝน อบรมตน พัฒนาตนเหมือนกัน และเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนาทีเดียว
สมัยโบราณแปล สิกขา ว่า สำเหนียก คำนี้เป็นคำเก่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ยิน ที่จริงเป็นคำที่ดีคำหนึ่ง มีความหมายลึกซึ้ง
สำเหนียก หมายความว่าอย่างไร เท่าที่พอทราบ สำเหนียก หมายความว่ารู้จักจับ รู้จักเลือก เอามาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ฝึกฝนปรับปรุงตน หมายความว่า เราไปได้ยินได้ฟังใครพูด เช่นมาฟังปาฐกถา ก็รู้จักสำเหนียก รู้จักจับ รู้จักเลือกสิ่งที่ดีมีสาระ สิ่งเป็นประโยชน์ ที่จะเอามาใช้ในการปรับปรุงตนเอง ใช้ประโยชน์เข้ากับตัวเองได้ แล้วหยิบมาใช้ในการปรับปรุงตนเอง นี้เรียกว่าสำเหนียก
ไม่เฉพาะในการฟังเท่านั้น ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร ถ้ารู้จักสำเหนียก ก็จับเลือกได้ เลือกสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเอง เอามาใช้ประโยชน์ได้ สำเหนียกนี้มีความสำคัญมากทีเดียว เป็นหลักปฏิบัติที่ดี เหมาะกับความหมายของคำว่าศึกษา เพราะฉะนั้น ศึกษา คือ สำเหนียก
ในเมื่อ ศึกษา แปลว่า สำเหนียก แล้ว เราจะเห็นแง่ของการศึกษาเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. ตอนที่เราสำเหนียก เราจะเลือกเอามาใช้ประโยชน์ เราต้องรู้ต้องเข้าใจความมุ่งหมายว่าเราต้องการเอาไปใช้ทำอะไรให้เป็นอะไร
๒. เราจะได้อะไร จะเอาอะไรมา ถ้าเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ จะเรียนรู้อะไร
ข้อหนึ่ง คือ เพื่อจะให้เป็นอะไร และข้อสอง คือเพื่อจะให้เป็นอย่างนั้น จะต้องเอาอะไรมาใช้
โดยนัยนี้ เรื่องสำเหนียกหรือศึกษาจึงมีส่วนสำคัญ ๒ ขั้น
๑. ต้องตระหนักชัดมั่นอยู่ในเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมาย
๒. จับเอาสิ่งนั้นๆ ที่จะใช้ประโยชน์มาให้ได้ จับให้ได้ตัวสาระสำคัญ
ฉะนั้น ในเรื่องการศึกษานี้ จึงมีข้อที่สร้างเป็นแนวปฏิบัติได้ ๒ อย่าง ๒ ด้าน หรือ ๒ ขั้นตอน คือ คนที่เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ฝึกฝนตนเองนี้ ควรมีลักษณะนิสัยหรือจิตสำนึกอยู่ในใจ ๒ ประการเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นอย่างสำคัญ หรือเป็นหลักทีเดียว คือ
๑. ความคิดหรือความรู้สึกของจิตใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย
๒. ขอผูกเป็นคำคล้องจองว่า มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ทั้งหมด
แง่ที่หนึ่ง จิตมุ่งสู่เป้าหมาย จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การมุ่งสู่เป้าหมายนั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ที่ตระหนัก ไม่ใช่เป็นเรื่องของความอยากความปรารถนา เช่นในการปฏิบัติธรรมนี้ท่านบอกว่าอย่าปฏิบัติโดยคิดอยากได้อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ก็ผิด เพราะเวลาเราอยากเราไม่ปฏิบัติ พอเวลาปฏิบัติเราไม่ได้อยาก
เวลาเราอยาก จิตหยุดจากการปฏิบัติมาอยู่กับความอยาก เวลาเราปฏิบัติจิตอยู่กับการปฏิบัติ ไม่ว่างที่จะอยาก อันนี้สำคัญมาก ฉะนั้นท่านก็เลยให้ระวังไว้ว่าอย่าไปอยาก
ที่ว่ามีวัตถุประสงค์มีเป้าหมาย ไม่ใช่ให้อยาก แต่ให้รู้ คือ คนเราจะปฏิบัติต้องรู้เป้าหมาย รู้ตระหนักก่อน รู้อยู่แล้วจึงทำ ในเวลาที่ทำด้วยความรู้ตระหนัก มันก็ไปเอง เช่นในเวลาเดินทาง ถ้าเราไม่รู้จุดหมายเราก็เดินทางไม่ถูก ได้แต่สับสนวุ่นวาย
ทีนี้เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว ถ้าเราอยากในเป้าหมายแต่เราไม่ได้เดิน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้น เมื่อรู้ตระหนักในเป้าหมาย ต่อจากนั้นเราก็ทำ เมื่อทำด้วยความตระหนักรู้ในเป้าหมาย ก็ทำอย่างเดียว เดินดิ่งไปสู่เป้าหมายนั้นจนสำเร็จผล
ฉะนั้น ที่ว่ามุ่งสู่เป้าหมายจึงเป็นเรื่องของความรู้ตระหนัก ไม่ใช่ความอยากความปรารถนา เอาละ เป็นอันว่าข้อที่หนึ่งมุ่งสู่เป้าหมาย
การมุ่งสู่เป้าหมายเป็นลักษณะของการฝึกฝนตนเองที่ดียิ่ง ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติธรรมสูงส่งอะไร แม้แต่ในชีวิตประจำวัน คนที่จะเจริญก้าวหน้าจะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การกระทำที่มุ่งสู่เป้าหมาย เช่น คนขายของ ถ้าขายสินค้าของตนโดยมีใจอยู่กับเป้าหมาย เป้าหมายก็คือขายของได้เงินมา แกจะไม่ใส่ใจ ไม่ถือเป็นอารมณ์กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่ง
อย่างในสมัยก่อน เราพูดถึงคนจีนที่ขายของ แกขายของไป มีเด็กบ้างผู้ใหญ่บ้างมาล้อเลียนด่าลามปามถึงพ่อถึงแม่ แกก็เฉย หัวเราะได้ ยิ้มได้ตลอดเวลา เพราะใจแกอยู่กับเป้าหมาย คือขายของได้ ก็คนเขามาซื้อของเรา เอาเงินมาให้เรา เราได้เงิน เราขายของได้ก็ใช้ได้ ดีใจแล้ว บรรลุเป้าหมาย แกจึงไม่ถือสาอารมณ์กับเรื่องถ้อยคำนอกเรื่องที่มากระทบกระทั่ง
ฉะนั้น คนที่มีลักษณะฝึกตนหรือพัฒนาตนจะต้องมีลักษณะนี้ด้วย คือมีใจมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อทำได้อย่างนี้มันจะตัดอะไรต่างๆ เรื่องจุกจิกหยุมหยิมกระทบกระเทือนผ่านไปได้สบายๆ รวมแล้วจะมีผลดีหลายอย่าง
อย่างที่หนึ่ง จะมีผลดี คือ ไม่มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งใจ ใครจะว่าอะไรก็ช่าง มันไม่กระทบมาถึงใจ เมื่อไม่มีอะไรกวนใจก็ตั้งใจทำสิ่งที่ตนปฏิบัติได้เต็มที่ ใจแน่วแน่เป็นสมาธิ เหมือนอย่างคนที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ใจมุ่งสู่เป้าหมาย ใจตระหนักชัดแล้ว แม้จะมีเสียงอะไรต่างๆ เอะอะตึงตัง บางทีไม่ได้ยินไม่รู้ด้วย นี้ก็คือลักษณะที่เป็นสมาธิ เพราะใจแน่วดิ่งลงได้ง่าย มีจุดมุ่งหมายแล้วก็ทำงานไปจนสำเร็จ
ตอนนี้ก็จะเกิดผลดีข้อต่อไปคือ มีนิสัยทำจริง คนที่มีเป้าหมายแน่นอนแล้ว ทำอะไรก็ทำจริง ทำให้สำเร็จ จะเอาใจใส่ และคอยคิดวิเคราะห์พิจารณาหาทางว่าเรื่องนี้จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร จะต้องใช้ความคิด ทำให้เป็นคนรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์พินิจพิจารณา และมีความรับผิดชอบเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียรไม่อยู่นิ่งเฉย คนพวกนี้เฉยไม่เป็นในเมื่อมีหน้าที่จะต้องทำ
และในเมื่อเป็นคนขยันทำจริงอย่างนี้แล้ว ก็จะมีนิสัยดีตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นคนที่บังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้ เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อตั้งใจจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ก็จะเกียจคร้านอยู่นิ่งไม่ได้ ก็ต้องทำก็ต้องบังคับตัวเอง ถึงเวลานั้น ถึงแม้ขี้เกียจไม่อยากทำ ก็จะมีแรงบังคับตัวเองให้ทำ กลายเป็นคนขยันไป เป็นคนเอาชนะตนเองได้ บังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้
นอกจากนั้นก็จะเป็นคนอดทนรอผลได้ ใจที่มุ่งเป้าหมายรู้ว่าการกระทำนี้จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น รู้ว่าเราได้ทำเหตุไปแล้ว ขั้นนั้นๆ ผลจะมาเมื่อนั้น รู้อย่างนี้แล้วก็รอผลได้
แล้วนิสัยที่เข้าจุดโดยตรงก็คือ จะเป็นคนที่แก้ไขปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย คอยคิด คอยพิจารณาเอาใจใส่เรื่องที่ต้องทำนี้ พอเห็นว่าอะไรที่จะต้องทำเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ก็จะต้องปรับปรุงตัวให้เป็นให้ทำได้อย่างนั้น ต้องคอยปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามเหตุผล ก็เลยมีนิสัยแก้ไขปรับปรุงตนเอง เข้าลักษณะเป็นเรื่องของ ทมะ นี้เป็นแง่ที่หนึ่งคือมีจิตมุ่งสู่เป้าหมาย
แง่ที่สอง มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ การมองอะไรเป็นการเรียนรู้นี้ เป็นลักษณะที่มีผลดี ไม่เฉพาะต่อการฝึกตนเท่านั้น แต่มีผลต่อด้านจิตใจของตนเองด้วย คนที่มองอย่างนี้มีแต่ได้ตลอดเวลา ไม่มีเสีย
การมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้นี้ มีผลดีคล้ายๆ กับการมุ่งเป้าหมายที่ว่าเมื่อกี้ คนที่มุ่งสู่เป้าหมาย ใครจะทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เข้ากับเป้าหมายของเขาแล้ว เขาไม่เก็บเป็นอารมณ์ และก็ไม่เกิดความทุกข์
ทีนี้เมื่อมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ เขาก็มองแต่ว่าประสบการณ์ที่พบที่เห็นที่ได้ยินนั้น เขาจะได้อะไรหรือมีอะไรที่เขาจะได้บ้าง เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง เมื่อเขามองอย่างนี้สิ่งที่มากระทบกระทั่งใจก็ไม่เกิดขึ้น
เมื่อคนอื่นพูดมา พูดดีก็ตาม พูดร้ายก็ตาม คนที่มีนิสัยมองอะไรเป็นการเรียนรู้หมด ก็มองหาแต่ว่า เอ! ในคำพูดของเขาเราจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง อะไรเป็นประโยชน์เอามาใช้เอามาปรับปรุงตัวเองทำให้เกิดความดีงามความเจริญ เขาก็คอยสำเหนียกเลือกจับเอามา ใจแกมุ่งไปที่นั่น
ฉะนั้น คำที่ถือว่ากล่าวร้าย คำหยาบคาย คำไม่สุภาพ เขาจึงไม่สนใจ เห็นว่านอกเรื่อง มันก็เลยไม่กระทบ ก็เลยสบายใจ แถมยังมองหาประโยชน์ได้จากคำกล่าวร้ายหรือคำหยาบคายนั้นด้วย คนพวกนี้จึงมีแต่ได้ตลอดเวลา
อย่าว่าแต่คนที่พูดธรรมดาๆ หรือแนะนำโดยสุภาพเลย แม้แต่ถ้าคนพวกนี้ไปเจอะคนที่รุนแรงกล่าวร้าย พูดด้วยเจตนาไม่ดีอย่างไรๆ คนพวกนี้ก็ไม่รู้สึกกระทบใจ มีแต่สบายตลอดเวลา เพราะมองแต่ว่า เออนะ คราวนี้เราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น จึงได้ประโยชน์ทุกครั้งทุกกรณี
ฉะนั้น คนพวกนี้จะเป็นอย่างไร คนพวกนี้ก็จะมีลักษณะที่เกิดปีติปราโมทย์อยู่เรื่อยไป
ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปราโมทย์ คือ ความแช่มชื่นใจ ความร่าเริงเบิกบานใจ เขาจะอิ่มใจ แช่มชื่นใจตลอดเวลา เพราะไม่ว่าไปพบอะไรแกได้เรื่อย แกบอกว่า เออ คราวนี้เราได้ความรู้นี้ ได้แง่คิดหรือข้อคิดนี้ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เดี๋ยวเราจะเอามาปรับปรุงตัวเอง แกก็เลยเจริญก้าวหน้าตลอดเวลา คนพวกนี้เขาเรียกว่า ไม่มีทางที่จะไม่เจริญ
แล้วผลดีข้อต่อไปก็ต่อเนื่องมาอีก คือพอมีความรู้สึกว่าได้ ก็เลยมีปีติ มีปราโมทย์ มีความสุข ใจสบาย ก็ทำให้มีสุขภาพจิตดี คนพวกนี้ไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีตัวตนออกรับกระทบ ข้อนี้สำคัญมาก
ทีนี้ พอแกมองอะไรด้วยความสบายใจ มีปีติ แกก็ไม่กระทบกระทั่ง ไม่โกรธไม่เคืองใคร ฉะนั้นจึงเพลิดเพลินด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในสังคม เพราะว่าเมื่อสบาย ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน การโกรธเคืองมีน้อย ปัญหาก็น้อย ก็เลยเป็นประโยชน์ทางสังคมไปด้วย
นี้แหละเป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า สำเหนียก นิสัยอย่างนี้เราเรียกว่านิสัยของผู้ใฝ่ศึกษาหรือ “นิสัยนักศึกษา”
ถ้าเราจะสร้างนักศึกษา ก็ควรสร้างให้เขามีนิสัยอย่างนี้ ต้องให้คนที่เรียนอะไรต่างๆ มีนิสัยอย่างนี้ มีนิสัยในการพัฒนาตนหรือนิสัยในการศึกษา เป็นคนใฝ่ศึกษาตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ขอแทรกนิดหนึ่ง คือ ลักษณะ ๒ อย่างนี้ต้องมีให้ครบ ถ้ามีไม่ครบอาจจะมีผลร้ายได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่ว่ามีใจมุ่งสู่เป้าหมาย ถ้ามีข้อนั้นข้อเดียวอาจจะมีผลเสียได้ ผลเสียอะไร
คนที่มีจิตใจมุ่งสู่เป้าหมาย ใจตัวเองเห็นอย่างไรก็จะทำอันนั้นให้ได้ ดื้อรั้นจะเอาอย่างนั้นให้สำเร็จ ไม่ยอมฟังใคร
ต่อไปประการที่สอง ก็จะเอาแต่ความสำเร็จของตัวเอง ไม่คำนึงถึงใครๆ ใครเป็นอย่างไรก็ช่าง ฉันไม่เอาใจใส่หรอก ฉันจะทำเรื่องของฉันให้สำเร็จบรรลุเป้าหมาย เอาเรื่องของฉันคนเดียว ใครเป็นอย่างไร ฉันไม่เกี่ยว
หรือยิ่งร้ายกว่านั้น อาจจะเกิดโทษในการเบียดเบียนด้วยซ้ำ คือเมื่อต้องการผลสำเร็จของตัวเอง ก็จะทำให้สำเร็จ และเพื่อผลสำเร็จของฉันนั้น ฉันอาจจะทำร้าย หรือทำสิ่งที่เป็นโทษ เกิดความเสียหายแก่คนอื่น หรือจะต้องเบียดเบียนใครก็ทำได้ ขอให้เป้าหมายของฉันสำเร็จก็แล้วกัน
ฉะนั้น การมุ่งสู่เป้าหมายอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีข้อที่สองคุมไว้ด้วย คือการมองอะไรเป็นการเรียนรู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้น จะทำให้การดำเนินสู่เป้าหมายของเราเป็นไปในลักษณะที่ตรงข้ามกับการเอาใจตัวเองหรือเอาแต่ตัวเอง
ทั้งนี้เพราะว่า การมองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ทำให้การมุ่งสู่เป้าหมายเป็นไปพร้อมกับการรับฟังผู้อื่น การแสวงหาความรู้ และเน้นที่การแก้ไขปรับปรุงตนเอง ทำให้มีคุณสมบัติสำคัญเกิดขึ้นอีกสองอย่าง คือ ความเป็นผู้ใคร่ธรรม รักธรรม (ธรรมกามตา หรือธรรมฉันทะ) และความเป็นคนที่พูดกันง่าย (โสวจัสสตา) พร้อมทั้งนิสัยตักเตือนและตรวจสอบตนเอง (พึงอ้างพุทธพจน์ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ ปฏิมํเสตมตฺตนา) ถ้าอย่างนี้ ก็จะทำให้กระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนเกิดความสมบูรณ์ขึ้น
ฉะนั้น ก็เป็นอันเสนอว่า ในหลักเรื่อง ไตรสิกขา นี้ ไม่ใช่จะรู้แต่ตัวไตรสิกขาว่ามีอะไรบ้าง แต่จะต้องรู้ด้วยว่าวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สิกขา หรือ การสำเหนียก หรือการศึกษานี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะที่เรียกว่า จิตสำนึก หรือ นิสัยศึกษา
นิสัยศึกษานี้ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ เป็นนิสัยในการพัฒนาตน ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ ถึงจะรู้หลักหัวข้อของการศึกษา เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา บางทีมันก็สร้างไม่ขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะสร้างอย่างไร
ถ้าเรายังมีตัวตนอยู่อย่างเต็มที่ ไม่มีสองข้อนั้นมาช่วย เราก็เอากิเลสปุถุชนออกมาเสริมตัวตน ก็ออกรับเรื่อย มีอะไรก็เอาตัวตนออกรับการกระทบเรื่อยไป บางทีตัวตนนั้นมันพองขยายโตใหญ่ออกไป ก็ยิ่งมีโอกาสกระทบมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บปวดมีความทุกข์มาก คนที่ไม่พัฒนาตนก็จะมีตัวตนขยายใหญ่ และยิ่งมีทุกข์มาก
ที่จริง การพัฒนาคือการทำตนให้เบาบาง ไม่ใช่ว่าทำให้ตัวใหญ่ขึ้น หมายความว่า ยึดมั่นพะวงกับตัวตนน้อยลง เพราะการพัฒนาตนหมายถึงการพัฒนาปัญญาด้วย
เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจชีวิต รู้เข้าใจตัวตนแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง คือพัฒนาตนแล้วก็บั่นทอนความยึดมั่นในตัวตนลงไป ทำให้มีความทุกข์น้อยลง
เหมือนนักฟันดาบที่รู้เข้าใจเพลงอาวุธอย่างแคล่วคล่องจัดเจน มั่นใจในความสามารถของตน ก็ฟันดาบทำกิจของตนไปโดยไม่มัวหวาดพะวงกับตัวตน ตรงข้ามกับคนไม่รู้วิธีต่อสู้ ซึ่งได้แต่คอยหวาดพะวงปกป้องตัวตน
ถ้าไม่ได้พัฒนาตน ก็มีความยึดมั่นในตัวตนมาก ตัวตนก็ออกรับการกระทบเรื่อยไป ก็มีแต่ทุกข์มาก มากขึ้น พอกพูนขึ้นเสมอ ทีนี้ พอได้ลักษณะนิสัยจิตสำนึกในการพัฒนาตนขึ้นแล้ว ก็จะเข้ามาสู่ขั้นของการศึกษาอย่างที่ทราบกันดีแล้วที่เรียกว่าไตรสิกขา
ไตรสิกขา มี ๓ ข้อ เราเรียกกันเป็นภาษาง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ความจริงในภาษาของทางวิชาการ ทางธรรมแท้ๆ ท่านใช้ศัพท์ว่า
๑. อธิศีลสิกขา
๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
เรียกเต็มต้องเรียกอย่างนี้ แต่บางทีเราเรียกง่ายๆ ว่า มี ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งไม่ถูกหลักวิชา
ถ้าจะเรียกให้สั้น ต้องเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นศัพท์สำหรับเรียกเป็นหมวดธรรม หรือเป็นการแบ่งประเภทเป็นจำพวก แต่ถ้าเรียกเป็นตัวการฝึกฝนเป็นสิกขา ต้องเรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
๑. อธิศีลสิกขา การฝึกฝนในศีลอันยิ่ง หรือฝึกฝนให้มีศีลยิ่งๆ ขึ้นไป
๒. อธิจิตตสิกขา การฝึกฝนในเรื่องจิตที่ยิ่ง หรือฝึกในเรื่องจิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๓. อธิปัญญาสิกขา การฝึกฝนในปัญญาอันยิ่ง หรือการฝึกฝนให้มีปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป
ในขั้นนี้จะอธิบายไว้พอเป็นแนว
๑. อธิศีลสิกขา ที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล เป็นเรื่องชั้นนอก ชั้นกาย วาจา ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และกับสิ่งแวดล้อมทั่วไป การไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม และปฏิบัติต่อวัตถุอุปกรณ์ทั้งหลายในทางที่ไม่เกิดโทษ
๒. อธิจิตตสิกขา เป็นการฝึกลึกเข้าไป มาสู่ขั้นจิตใจ คือการพัฒนาในเรื่องจิตใจของตนเอง ถ้าจะแจกแจงด้วยภาษาสมัยใหม่ อธิจิตตสิกขา ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพจิตดี สมรรถภาพจิตดี และสุขภาพจิตดี
๑) คุณภาพจิตดี หมายความว่า จิตใจมีคุณธรรม เช่นมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีศรัทธา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเคารพ มีความกตัญญู เป็นต้น
๒) สมรรถภาพจิตดี เช่น มีขันติ ความอดทน สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น อธิษฐาน ความเด็ดเดี่ยว วิริยะ ความเพียร สติความระลึกเท่าทัน เป็นต้น เป็นจิตที่เข้มแข็ง มีความสามารถ มีความพร้อมที่จะทำงานได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อฝึกให้มีสมาธิแล้ว ก็จะใช้งานได้ดี เป็นบาทฐานของปัญญาต่อไป ใช้งานได้ดี เรียกว่า กัมมนียัง แปลว่า จิตที่ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่งาน
๓) สุขภาพจิตดี จิตที่มีสุขภาพดี ก็สบาย มีปีติ มีปราโมทย์ มีความเอิบอิ่ม แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส สบายใจ และทำใจให้สบายได้เรื่อยๆ
การฝึกตนในอธิจิตตสิกขา ก็อยู่ในเรื่อง ๓ อย่างนี้ คือมีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิตที่ดี
๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา ปัญญาก็คือความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของกิเลส หรืออยู่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพากิเลส พ้นทุกข์พ้นปัญหา ปัญญาเป็นตัวคุมท้าย ครบกระบวนการฝึก
นี้เป็นการกล่าวโดยย่อ ที่เราปฏิบัติกันในทางพระพุทธศาสนาก็อยู่ในหลักเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ๓ ข้อนี้เท่านั้นเอง
มีเกร็ดที่ควรทราบเพิ่มอีกว่า ตามปกติพระพุทธเจ้ามักจะทรงสอนเรื่องสิกขา ๓ หรือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แก่พระสงฆ์ ไม่พบที่ทรงสอนแก่คฤหัสถ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ความจริงนั้นสอนเหมือนกัน แต่ท่านมีถ้อยคำใหม่มาใช้เพื่อให้เหมาะกับคฤหัสถ์
จะเห็นว่ามีสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ ๓ อย่างเหมือนกัน แต่ใช้ศัพท์ใหม่เรียกว่า ทาน ศีล และภาวนา ได้ยินกันมาแต่โบราณว่า ทาน ศีล และภาวนา รวมเป็นชุดเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือ บุญกิริยา ๓ อย่าง แปลว่าการทำบุญ โดยมากใช้กับญาติโยมคฤหัสถ์ ความจริงก็คือ ไตรสิกขานั้นเอง แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่การเน้นย้ำขยายให้หนักแน่นคนละด้าน
ของพระให้สังเกตดู จะเห็นว่าท่านเน้นด้านในมาก คือตัวเองภายในนี้เน้นหนัก ส่วนของคฤหัสถ์เน้นด้านนอก ของพระมีอธิศีลเป็นด้านภายนอกอยู่ข้อเดียว พอถึงข้อที่ ๒-๓ เน้นเรื่องภายใน คือ จิตกับปัญญา แต่ของคฤหัสถ์จะเห็นว่า
๑. ทาน เป็นเรื่องภายนอก การอยู่กับผู้อื่น ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน
๒. ศีล คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความเกี่ยวข้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ก็เป็นด้านนอกเหมือนกัน
คฤหัสถ์ท่านเน้นด้านนอก เพราะคฤหัสถ์มีชีวิตเกี่ยวข้องกับภายนอก อยู่ในสังคมวงกว้างทั่วไปของชาวโลกและยังเกี่ยวข้องกับวัตถุมาก ฉะนั้น จึงขยายความขั้นต้นกระจายออกไปมาก เป็นทานกับศีล แต่สำหรับพระเน้นเรื่องนามธรรมด้านใน เน้นเรื่องจิตใจ คฤหัสถ์มีด้านในข้อเดียว คือ
๓. ภาวนา สำหรับคฤหัสถ์ ภาวนาในที่นี้ ก็คือรวมข้อ ๒ กับ ๓ ของพระ ได้แก่ จิตตภาวนาและปัญญาภาวนา ทั้งฝึกอบรมจิตและพัฒนาปัญญาเข้ามาอยู่ในข้อ ๓ เป็นภาวนาตัวเดียว ทั้ง สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ก็อยู่ในภาวนาข้อเดียวหมด
จึงเห็นชัดว่า สำหรับคฤหัสถ์นั้น ท่านเน้นด้านนอกมาก กระจายข้อต้นออกไป เพราะว่าทานกับศีลนั้นในทางหลักวิชาบางแห่งถือว่าเป็นศัพท์แทนกันได้ด้วย ทานก็เป็นศีลอย่างหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของศีล การแบ่งเป็นทานกับศีล ก็เป็นการขยายเรื่องศีลนั้นให้ชัดเจนออกไปอีก เป็นรูปธรรม เน้นวัตถุมากขึ้น เน้นภายนอกมากขึ้น
แม้แต่ด้านในสำหรับคฤหัสถ์คือข้อภาวนา ท่านก็เน้นการเจริญเมตตา ซึ่งก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น การที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ตนเองก็มีจิตใจสุขสบายและก็อยู่กับผู้อื่นได้ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย
เป็นอันว่า แม้แต่เรื่องภาวนา ซึ่งเป็นด้านจิตและปัญญา สำหรับคฤหัสถ์ท่านก็ไปเน้นข้อเมตตาที่เกี่ยวข้องกับข้างนอกมาก
บุญกิริยาวัตถุ ๓ ที่เรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา นี้ บางแห่งท่านใช้อีกชื่อหนึ่งว่า ทาน สัญญมะ และ ทมะ เป็นไวพจน์กัน
ทานก็ทาน ศีลตรงกับสัญญมะ ที่ว่าเมื่อกี้ คือการควบคุมตนเองในการแสดงออกเพื่อไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคม และทมะ ก็ตรงกับคำว่าภาวนาอยู่แล้ว
ตัวแท้จริงตัวหลักใหญ่ก็อยู่ที่ทมะนั้นเอง สองข้อแรกเป็นการขยายหลักเบื้องต้นให้ชัดเจน ซอยละเอียดออกไป
นอกจากเรียกบุญกิริยาวัตถุแล้ว ในคัมภีร์อิติวุตตกะแห่งหนึ่ง ท่านบรรยายเป็นภาษาบาลีว่า ปุญฺญํ สิกฺขติ1 เรียกเป็นศัพท์ ก็คือบุญญสิกขา นั่นเอง ก็สิกขานั้นแหละแต่เป็นสิกขาที่มุ่งคฤหัสถ์ คือเน้นการฝึกในการสร้างเสริมคุณสมบัติที่ดี ที่เรียกว่า “บุญ” ให้เจริญงอกงามขึ้นในชีวิต หรือให้ชีวิตเจริญขึ้นในบุญเรียกว่า บุญญสิกขา มี ๓ ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ทาน สัญญมะ ทมะ
นี้เป็นความรู้ด้านหลักวิชา อาจไม่ค่อยพบกัน โดยเฉพาะ สัญญมะ ทมะ แทบจะไม่เคยพูดถึงกันเลย แต่ความจริงชุดนี้ก็ว่าตามหลักวิชาเหมือนกัน เป็นไวพจน์ของทาน ศีล ภาวนา
พูดถึงเรื่องสิกขามาก็พอสมควร คงจะผ่านได้ แต่ก่อนจะไปถึงภาวนาขอแทรกอีกนิดหนึ่ง
สำหรับคำว่า พัฒนา นั้น ในภาษาบาลีมีศัพท์คล้ายกันอยู่คำหนึ่งเรียกว่า วุฒิ หรือ วัฒิ
วุฒิ แปลว่าความเจริญ มีรากศัพท์ (ธาตุ) เดียวกับพัฒนา วุฒิหรือวัฒินี้เป็นหลักธรรมสำหรับเอามาใช้ประกอบในการสร้างความเจริญหรือพัฒนา
ยกตัวอย่าง วุฒิธรรม ที่เป็นหลักธรรมเบื้องต้น ท่านสอนไว้มี ๔ ประการ เรียกเต็มว่า ปัญญาวุฒิธรรม แปลว่าธรรมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา สำหรับช่วยในการพัฒนาตนด้านปัญญา คือ
๑. สัปปุริสูปัสสยะ แปลว่า คบหาสัตบุรุษ คบคนดีมีปัญญา มีคุณธรรม มีความรู้ความเข้าใจในธรรม ซึ่งเป็นหลักความจริงความดีงาม
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนที่แสดงความจริงความดีงามนั้น
๓. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย รู้จักพิจารณาสิ่งที่ได้เล่าได้เรียน สามารถจับสำเหนียกเอามาด้วยดี โยนิโสมนสิการเป็นตัวแกนของการสร้างปัญญา ที่เรียกว่าสำเหนียกนั่นแหละ คือ รู้จักจับ รู้จักเลือกเอามาใช้ประโยชน์
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้ถูกหลัก ที่ท่านเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายความว่า ปฏิบัติธรรมสอดคล้องกันตามระบบความสัมพันธ์ที่ว่า ธรรมข้อนี้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร และไปสัมพันธ์กับธรรมข้อไหน ปฏิบัติด้วยความตระหนักชัด และปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวตามความมุ่งหมายนั้น
ธรรมชุดนี้เป็นหลักประกอบที่สำคัญ เป็นหลักช่วยในการพัฒนานั่นเอง
นอกจากนั้น ยังมีหลักที่เรียกว่า วัฒิธรรม สำหรับวัดความเจริญของอริยสาวก โดยเฉพาะอุบาสกอุบาสิกา ว่ามีความเจริญในการพัฒนาตนแค่ไหน วัดด้วย วัฒิธรรม ๕ ข้อ คือ
๑. ศรัทธา มีความเชื่อถูกหลัก เชื่อมีเหตุมีผลหรือไม่เพียงไร
๒. ศีล มีความประพฤติดีงาม ถูกต้องตามหลักพระศาสนาแค่ไหน
๓. สุตะ มีความรู้หลักธรรมคำสอนที่จะไปช่วยตนเองและแนะนำผู้อื่นได้พอสมควรไหม
๔. จาคะ มีความเสียสละ มีน้ำใจช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นอย่างไร
๕. ปัญญา รู้เข้าใจความจริงต่างๆ รู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต พอทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระโปร่งโล่งได้แค่ไหน
การพัฒนาตนนี้ เป็นหลักการแห่งการเจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นเรื่อยไป ผู้ที่ดำเนินตามหลักการพัฒนาตน จะคิดเพียงว่า เราจะรักษาความดีงามที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว หรือพอใจว่าเราได้ทำดีมามากแล้ว พัฒนาตนมาดีแล้ว ไม่ได้ คนที่พอใจอย่างนั้น หรือทรงๆ อยู่แค่นั้น คือ หยุดอยู่ หรือ คงอยู่เท่าเดิม ท่านเรียกว่า เป็นคนประมาท ผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้พิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้ เป็นเครื่องเตือนใจ
"ภิกษุทั้งหลาย จะกล่าวไปใยถึงความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญแต่ความก้าวหน้าในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สรรเสริญความคงอยู่กับที่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมถอย
"อย่างไรเป็นความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอไม่คงอยู่ ไม่เจริญขึ้น นี้เราเรียกว่าความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย...;
“อย่างไรเป็นความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอไม่ลด ไม่เพิ่ม...;
“อย่างไรเป็นความก้าวหน้าในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอ ไม่หยุดอยู่ ไม่ลดลง..."2
"นันทิยะ! อย่างไร อริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท? คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในธรรม...เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในธรรมนั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในสงฆ์ เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในสงฆ์นั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยศีลนั้น ไม่เพียรพยายามยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อสงัดในทิวา เร้นในราตรี เมื่อเธอเป็นอยู่ประมาทอย่างนี้...ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ"3
"ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจเสีย เพียงด้วยศีลและวัตร หรือด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ หรือด้วยการอยู่ได้ในที่สงัด หรือด้วยการตระหนักว่า เราได้สัมผัสเนกขัมมสุขที่ปุถุชนไม่เคยได้ลิ้ม"4