หลักแม่บทของการพัฒนาตน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

หลักแม่บท ของ การพัฒนาตน1

— ๑ —
ความเข้าใจเบื้องต้น

เป็นอันว่าจะพูดเรื่องการพัฒนาตน ตามหลักวิชา หรือตามเนื้อหาในคัมภีร์

ทีนี้ พอตั้งชื่อเรื่องการพัฒนาตน ซึ่งเป็นชื่อของโครงการ หรือเป็นชื่อของกลุ่มที่มาประชุมนี้ อย่างน้อยก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่า

คำว่า พัฒนาตน นี้ ตรงกับหลักธรรมข้อไหน หรือหัวข้อธรรมว่าอย่างไร

ที่มาของคำว่า "พัฒนา"

คำว่า พัฒนา นี้ ในวงการของนักตำราทางธรรมหรือนักคัมภีร์ไม่ค่อยคุ้นกัน รู้สึกว่าเป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ ในวงการศึกษาธรรมแต่เดิมมาไม่ได้นิยมใช้คำนี้ และในเมืองไทยโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันถอยหลังไปสัก ๓๐-๔๐ ปี ก็ไม่ค่อยได้ยินคำว่าพัฒนา จะได้ยินบ้างแต่คำว่า วัฒนา ซึ่งโดยมากจะใช้ในคำอวยชัยให้พร เช่นว่า ขอให้วัฒนาสถาพร อะไรทำนองนี้

คำว่า “พัฒนา” นี้ อาตมภาพเข้าใจว่ามาได้ยินกันมากขึ้นในสมัยหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือหลังปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ คือหลังจากการปฏิวัติคราวนั้นแล้ว ก็ปรากฏว่าทางบ้านเมืองได้มีนโยบายเร่งรัดการสร้างความเจริญของประเทศชาติ และได้นำเอาคำว่าพัฒนามาใช้กันมาก แม้กระทั่งเป็นชื่อหน่วยราชการใหญ่ๆ เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ บางหน่วยก็ยังมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน อะไรทำนองนี้ ก็เลยนิยมใช้คำว่าพัฒนากันมากขึ้น จนกระทั่งถึงกับเรียกชื่อยุคสมัยต่อแต่นั้นว่าเป็น ยุคพัฒนา

นับแต่นั้นก็ได้พัฒนากันมาจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ความรู้สึกที่เน้นกันมากในสมัยก่อน ที่ประชาชนมองเห็นชัดก็คือ การสร้างถนนหนทาง ตลอดจนอาคารตึกรามสมัยใหม่ต่างๆ อันนี้เด่นมาก และคำว่าพัฒนานี้ก็ได้เข้าไปแม้กระทั่งในวัด ในวัดก็รู้สึกกันว่าจะต้องพัฒนา

คำว่าพัฒนาในสมัยนั้น พ่วงความรู้สึกผูกพันกับความเจริญแบบใหม่ๆ เช่น อาคารแบบสมัยใหม่เป็นต้น อย่างน้อยถ้าจะพัฒนาก็ต้องมีอาคาร สิ่งก่อสร้าง มีตึกที่สวยงามใหญ่โต แล้วก็มีความรู้สึกต่อไปในทางตรงข้ามว่า ถ้ามีป่ามีต้นไม้ก็ไม่พัฒนา

ฉะนั้น วัดต่างๆ ก็มีการตัดต้นไม้กันเป็นการใหญ่ วัดไหนมีต้นไม้มากก็แสดงว่าวัดนั้นยังไม่ได้มีการพัฒนา ที่ใดพัฒนาที่นั้นต้องพ้นจากความเป็นป่า ต้นไม้เป็นเครื่องหมายของป่า ป่าก็แสดงว่าอาจจะเถื่อน เมื่อเถื่อนก็แสดงว่าล้าหลังไม่พัฒนา ดังนั้นจึงมีการตัดไม้ นิยมสร้างเป็นคอนกรีตกันขึ้นแพร่หลายทั่วไป

จากพัฒนาวัตถุ หันมาเน้นพัฒนาจิตใจ

ความรู้สึกนี้ได้สืบกันนานพอสมควร จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ก็เริ่มบ่นกันขึ้นมาว่า ประเทศเรานี้พัฒนากันไป พัฒนากันมา ดูเหมือนจะมีปัญหามากขึ้น มีสิ่งชั่วร้ายไม่ดีไม่งามมากมาย เป็นต้นว่าอาชญากรรม ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ความเสื่อมโทรมทางจิตใจอะไรต่างๆ ก็เลยพูดกันว่า เราเห็นจะพัฒนาวัตถุกันมากเกินไปแล้ว พัฒนาผิดพลาดแล้ว จะต้องหันมาพัฒนาคนกันให้มากๆ ตอนนี้ก็พูดกันเกร่อ มีการเน้นการย้ำว่าจะต้องมาพัฒนาคนให้มาก

คำว่า การพัฒนาคน ในที่นี้ ก็ไม่ใช่ไปเน้นด้านการพัฒนาความสามารถหรือความรู้ในวิชาการวิชาชีพอะไรต่างๆ แต่หมายถึงพัฒนาคุณสมบัติที่อยู่ภายในตัวบุคคล เช่นศีลธรรม หรือพูดลึกลงไปก็คือ พัฒนาจิตใจนั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็เลยมาพูดย้ำว่า เราจะต้องพัฒนาจิตใจให้เจริญควบคู่กันไปกับการพัฒนาวัตถุ และในเมื่อยุคหรือช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว ได้เน้นการพัฒนาวัตถุมาก ช่วงนี้ก็เลยหันมาเน้นการพัฒนาจิตใจมากขึ้น

เมื่อพูดถึง “การพัฒนาจิตใจ” ก็เป็นเรื่องภายในส่วนลึก บุคคลแต่ละคนต้องทำด้วยตนเอง คนอื่นจะไปพัฒนาให้ไม่ได้ แต่ก็ช่วยได้บ้าง เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล หรือช่วยแนะนำอะไรต่างๆ ให้ แต่ว่าถึงตัวแท้จริงแล้ว ทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเอง ดังนั้นการพัฒนาจิตใจก็จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาตน เมื่อพัฒนาตนก็ตรงกันเข้ากับชื่อโครงการนี้ เป็นอันว่าที่เรียกว่าการพัฒนาตนนั้น ก็ตรงกับเรื่องสำคัญ ที่จะต้องใช้ต้องเน้นต้องย้ำกันในยุคสมัยนี้เป็นอย่างดีทีเดียว

ทีนี้ก็ต้องมาดูว่า การพัฒนาตนตรงกับศัพท์ธรรมหรือหลักธรรมข้อไหน

พัฒนาจริง ต้องให้ถึงภาวนา

พัฒนา ก็แปลว่าเจริญหรือทำให้เจริญนั่นเอง ทีนี้มาดูทางธรรมก็ปรากฏว่า คำว่า เจริญ เราใช้กันมานานแล้วในวงการธรรม ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ถ้าปฏิบัติวิปัสสนา เราก็เรียกว่าเจริญวิปัสสนา หรือถ้าไปปฏิบัติในทางเมตตา สร้างเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นในใจ เราก็เรียกว่าเจริญเมตตา มาทำอานาปานสติกัมมัฏฐาน กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ทำให้จิตเป็นสมาธิสงบ เราก็เรียกว่าเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน หรือเจริญอานาปานสติสมาธิ ตลอดกระทั่งว่า สร้างกุศลให้มากเราก็เรียกว่าเจริญกุศล

คำว่าเจริญจึงเป็นศัพท์ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเราใช้กันมานานแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีไว้โดยสืบต่อมาจากโบราณนั้นเอง

ในเมื่อคำว่า พัฒนา แปลว่า เจริญ เราก็โยงได้ว่าที่จริงเราใช้ พัฒนา กันมานานแล้ว คือ คำว่า เจริญนั่นเอง ซึ่งใช้กับศัพท์ธรรมต่างๆ มากมาย

พอได้ศัพท์นี้แล้วก็ไปดูอีกทีว่า คำว่า เจริญ ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาไทยนั้น ถ้าไปเทียบกับคำบาลีเดิมที่เป็นต้นตอ จะได้แก่หลักธรรมอะไร ก็เห็นได้ง่ายเลยทันที

อย่างคำเมื่อกี้ว่า เจริญวิปัสสนา ทางพระเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา เจริญสมถะก็เรียกว่า สมถภาวนา เจริญเมตตาท่านก็เรียกว่า เมตตาภาวนา เจริญอานาปานสติท่านก็เรียกว่า อานาปานสติภาวนา เจริญสมาธิเป็น สมาธิภาวนา เจริญกุศลเป็น กุศลภาวนา ก็ชัดเลยทุกคำ ลงภาวนาหมด

เป็นอันว่าตัวจริงของเจริญ ก็คือศัพท์ว่า “ภาวนา” นี่เอง

คำว่า ภาวนา แปลว่าการเจริญ เป็นอันว่าได้ศัพท์แล้ว ตอนนี้เมื่อจับศัพท์ได้ เรามาดูความหมายกันอีก อาตมภาพลองค้นดู เวลาท่านใช้คำว่าภาวนา หนังสืออรรถกถาจะอธิบาย (เขาเรียกว่าไขความ) ไขความว่า ภาวนาแปลว่าอะไร แทบทุกแห่งแปลภาวนาว่าพัฒนา ก็เลยไปตรงกันเข้าอีก

ยกตัวอย่าง เช่น บาลีในพระไตรปิฎกพูดว่า ภาเวติ ซึ่งเป็นรูปกริยาศัพท์ของภาวนา อรรถกถาก็อธิบายว่า ภาเวติ ได้แก่ วฑฺเฒติ วฑฺเฒติ ก็คือ วัฒนา หรือ พัฒนา ก็เป็นอย่างนี้ หรือ ภาเวตฺวา ก็อธิบายว่าได้แก่ วฑฺเฒตฺวา ซึ่งเป็นอีกรูปหนึ่งของภาวนา ภาวนาเป็นตัวศัพท์ วัฒนา เป็นคำไขความ

ตกลงว่า ที่เราใช้พัฒนาก็ไม่ไปไหน ก็ตรงกับคำว่า วัฒนา ซึ่งเป็นคำอธิบายของคำว่าภาวนานั้นเอง

เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้นิยมใช้คำว่า พัฒนา ก็ใช้ได้ไม่ผิด เพราะเป็นอีกรูปหนึ่งของคำว่า ภาวนา นั่นเอง และอาจจะเหมาะกับสมัยปัจจุบัน เพราะว่า เดี๋ยวนี้คำว่า ภาวนา มีความหมายในภาษาไทยที่ออกจะคลาดเคลื่อนและก็แคบไปเสียแล้ว

เวลาพูดถึงคำว่า ภาวนา คนสมัยปัจจุบันไม่ค่อยจะเข้าใจว่าเป็นการพัฒนา หรือทำให้เจริญเสียแล้ว แต่มักจะมองเป็นว่าภาวนาก็คือการสวดมนต์บ่นคาถา หรืออาจจะไปถึงว่าเป็นสวดมนต์ พ่นคาถาไปก็ได้ เพราะฉะนั้น คำว่า ภาวนา ในภาษาไทยจึงมีความหมายแคบ และบางทีคลาดเคลื่อนไม่ค่อยตรงเท่าไรเลย

แท้ที่จริงในบาลี ภาวนา ก็มีความหมายเท่ากับพัฒนา แต่ในภาษาไทยไม่ได้เข้าใจอย่างนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นถ้าเราใช้คำว่าพัฒนาก็จะสื่อความหมายได้ง่ายขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันต้องจับโยงไว้ให้ได้ด้วยว่า ตัวแท้ตัวจริงของมันในทางธรรมนั้น พัฒนาก็คือภาวนานั้นเอง

เป็นอันว่า วันนี้อาตมภาพมาโยงศัพท์พัฒนาเข้าไปหาตัวหลักเดิม คือ ภาวนา ได้แล้ว ทีนี้ก็มาพิจารณาความหมายของคำว่า ภาวนา กันต่อไป

ถ้อยคำสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาตน

ภาวนา ที่เราแปลว่าเจริญนั้น ถ้าแปลออกศัพท์หรือแปลโดยพยัญชนะ ก็แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือทำให้มีให้เป็นขึ้น หมายความว่า อะไรที่ยังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้น อะไรที่ยังไม่เป็น ก็ทำให้เป็นขึ้น หรือว่าโดยเฉพาะท่านหมายถึงกุศลธรรม กุศลธรรมอันใดยังไม่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าภาวนา ความหมายนี้เรียกว่า ความหมายตามตัวอักษร ส่วนความหมายที่แปลออกไปทางเนื้อความจับเอาสาระ ท่านมักแปลกันว่า การฝึกอบรม

ภาวนา แปลว่าการฝึกอบรม นี้เป็นการแปลเอาใจความ และแปลต่อไปได้อีกว่า ทำให้เจริญ ทำให้เพิ่มพูนขึ้น

พออธิบายความหมายของภาวนาว่าเป็นการทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือทำให้มีให้เป็นขึ้น ตลอดจนการฝึกอบรม ทำให้เจริญเพิ่มพูนมากมายงอกงามขึ้นมา ก็เลยไปโยงกับศัพท์ธรรมอื่นๆ เข้าด้วยอีก ที่อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งทางพระเรียกว่า ไวพจน์ คือคำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใช้แทนกันได้ ก็เลยต้องจับศัพท์ที่อยู่ในกลุ่มนี้มาพูดด้วยกันหมด

จะขอจับโยงศัพท์สำคัญเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องการพัฒนาตนด้วยกันทั้งสิ้น

มีศัพท์สำคัญอยู่ ๓ ศัพท์ ซึ่งนักศึกษาธรรมควรจะรู้เป็นอย่างยิ่ง คือ

๑. ภาวนา ที่พูดมาแล้ว

๒. ทมะ ซึ่งมีอยู่ด้วยในหลักธรรมที่เรารู้จักกันมาก คือหลักการครองเรือน ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ๔ (ข้อ ๒) อันได้แก่ สัจจะ (ซื่อสัตย์จริงใจ) ทมะ (ฝึกตัวปรับใจ) ขันติ (เข้มแข็งทนได้) จาคะ (รู้สละมีน้ำใจ)

ทมะ แปลว่า การฝึก เป็นข้อสำคัญมาก บางทีเราพูดถึงน้อยไป เดี๋ยวจะพูดถึงว่ามันสำคัญอย่างไร

๓. สิกขา สิกขาเป็นคำภาษาบาลี ถ้าใช้อย่างภาษาสันสกฤต ก็เรียกว่า ศึกษา สิกขา หรือ ศึกษา มีความสำคัญมาก ทางพระพุทธศาสนา มาในคำว่า “ไตรสิกขา” การฝึกอบรมทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนา กระบวนการทางปฏิบัติทั้งหมด เรียกว่า ไตรสิกขา

สิกขา แปลว่า การศึกษา การเรียนรู้ การสำเหนียก การฝึกฝนอบรม

ทุกศัพท์มีความหมายว่าเป็นการฝึกทั้งนั้น ภาวนา ก็คือการฝึกอบรม ทมะ ก็แปลว่า การฝึกฝน สิกขา ก็แปลว่า การฝึกฝนเรียนรู้ ก็อยู่ในพวกเดียวกัน แล้วก็มีความหมายอื่นๆ แยกกระจายออกไป ตกลงว่ามีศัพท์สำคัญ ๓ อย่างที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจอยู่ในชุดเดียวกัน

คนจะประเสริฐ ก็เพราะพัฒนาตน

พระพุทธศาสนานี้เรียกได้ว่าเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน หรือจะเรียกว่าเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน หรือศาสนาแห่งการศึกษาก็ได้ แต่ถ้าจะให้ตรงกับที่เป็นหัวข้อในที่นี้ ก็เรียกว่าเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน ที่เรียกอย่างนี้ก็มีเหตุผลรองรับอย่างดี

ประการที่ ๑ หลักธรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นแกนกลาง เป็นทั้งหมดของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา คำว่า ภาวนา ก็อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ เราใช้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง จะเจริญเมตตาก็เป็นเมตตาภาวนา เจริญกุศล ทำกุศลให้เกิดมีก็เป็นกุศลภาวนา เจริญอานาปานสติก็อานาปานสติภาวนา เป็นเรื่องการพัฒนาตนหรือฝึกฝนตนทั้งนั้น เพื่อให้เกิดมีกุศลธรรมเหล่านั้น คำว่า ภาวนา จึงเป็นการปฏิบัติที่ครอบคลุมทั่วไปทั้งหมด

ทีนี้เรื่องสิกขาก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า ไตรสิกขาครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ส่วนทมะนั้นปรากฏว่าท่านใช้มากในรูปที่แสดงคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งจะพูดในเหตุผลข้อที่ ๒

ประการที่ ๒ บุคคลที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา หรือผู้ได้บรรลุเป้าหมายในทางพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า บุคคลที่พัฒนาตนแล้ว หรือมีตนอันพัฒนาแล้ว หรือมีตนอันฝึกแล้ว

ถ้าหากไปดูความในภาษาบาลี ไม่เอาศัพท์ภาษาไทย เพราะไปดูพระไตรปิฎกภาษาไทยอาจจะสังเกตไม่ชัด พระไตรปิฎกบาลีมีศัพท์เรียกคนที่บรรลุจุดมุ่งหมายในทางพระพุทธศาสนาว่า เป็นบุคคลที่มีตนอันพัฒนาแล้ว มีตนอันเจริญแล้ว มี ๒ ศัพท์ โดยเอาศัพท์ว่า ภาวนา กับ ทมะ มาใช้

คำที่เอาภาวนามาใช้ ท่านเรียกว่า ภาวิตัตตะ แปลว่า บุคคลผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว ภาวิตะเป็นรูปคุณนาม หรืออย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่ากริยาช่อง ๓ ของภาวนา แปลง่ายๆ ว่าผู้ที่ได้ภาวนาแล้ว รวม ภาวิตะ กับ อัตตะ (ตน) เป็น ภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว ทำให้เจริญแล้ว

พระพุทธเจ้า เวลาคนมาถามปัญหา บางทีเขาทักพระองค์ว่า ท่านภาวิตัตตะ ท่านผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว

ส่วนคำว่า ทมะ ก็ใช้อย่างเดียวกัน เป็นรูปกริยาช่อง ๓ ได้แก่ ทันตะ ใช้ในรูปว่า อัตตทันตะ อัตตทันตะ แปลว่า ผู้มีตนอันฝึกฝนแล้ว อัตตะ ตน + ทันตะ ฝึกฝนแล้ว

สองศัพท์คือ ภาวิตัตตะ กับ อัตตทันตะ นี้เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้ามากที่สุด และเรียกพระอรหันต์ด้วย บางแห่งก็ใช้กับพระอริยบุคคลทั่วไปลงมาถึงพระโสดาบันก็พอได้ แต่ตามปกตินิยมใช้กับพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

ในคาถาหนึ่ง ท่านกล่าวว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ ไปเรื่อยจนถึงคำว่า เทวาปิ นํ นมสฺสนฺติ บอกว่า พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่ทรงเป็นมนุษย์นี้แหละ แต่เป็นผู้ได้ฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น แม้แต่เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ นี้เป็นการแสดงถึงความเคารพยกย่องเชิดชูท่านที่ได้พัฒนาตนแล้ว ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด

ในอีกคาถาหนึ่ง พระพุทธศาสนาสรรเสริญคนที่พัฒนาตนแล้วว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนแล้วประเสริฐสุด ไม่ใช่ประเสริฐเฉพาะในหมู่มนุษย์เท่านั้น วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏโฐ เทวมานุเส ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ เทวดาทั้งหลายแม้แต่พรหมก็เคารพบูชา

เป็นอันว่า หลักในพระพุทธศาสนา เทิดทูนการพัฒนาตนมาก ผู้พัฒนาตนแล้วเป็นสุดยอดของบุคคลที่ได้รับการสรรเสริญในพระพุทธศาสนา การพัฒนาตนเป็นแกนของการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา นี่ก็คือได้เข้ามาสู่จุดที่เป็นเป้าหมายแล้ว

1หนังสือเล่มเล็กนี้แสดงหลักการทั่วไปพอเป็นพื้นฐาน ผู้ต้องการ
เข้าใจความสัมพันธ์ภายในระบบให้ชัดเจนขึ้น พึงดูหนังสือ จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร หรือ “บทเพิ่มเติม: ชีวิตที่เป็นอยู่ดี ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำ ให้พัฒนาครบ ๔“ ในหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับเดิม), พ.ศ. ๒๕๔๔, หน้า ๓๔๒–๓๗๔
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.