ขอพูดในประเด็นที่สำคัญว่า วิชาที่จัดให้ศึกษากันอยู่นี้สามารถแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. วิชาศึกษาทั่วไป
๒. วิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ
แต่ก่อนนั้นเราเรียกวิชาศึกษาทั่วไปว่าวิชาพื้นฐาน คล้ายกับว่าก่อนจะไปศึกษาวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพทั้งหลาย เราก็ให้ศึกษาวิชาประเภทพื้นฐานก่อน เป็นการเตรียมตัวบุคคลให้พร้อมที่จะไปศึกษาวิชาเฉพาะที่เจาะลึก วิชาชีพทั้งหลายโดยมากจะเป็นประเภทเฉพาะอย่างนั้น และอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเตรียมพื้นฐานตัวบุคคลเพื่อให้เป็นคนที่ดี
ถ้าจะพูดให้สั้น เราอาจจะเปรียบเทียบระหว่างวิชา ๒ ฝ่าย คือ วิชาศึกษาทั่วไปนี้ฝ่ายหนึ่ง และวิชาเฉพาะวิชาชีพอีกฝ่ายหนึ่งว่า วิชาศึกษาทั่วไป มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างคน คำว่าสร้างคน ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็คือสร้างบัณฑิตนั่นเอง หมายความว่า
วิชาศึกษาทั่วไปมีจุดหมายอยู่ที่การสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพ เป็นเหมือนการสร้างเครื่องมือให้บัณฑิต
ทั้งนี้เพราะว่าคนที่จะไปทำงานทำการ ไปดำเนินชีวิตให้ได้ผลดีก็จะต้องมีเครื่องมือ วิชาชีพวิชาเฉพาะต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องมือ แต่คนที่จะไปใช้เครื่องมือนั้น เราต้องการให้เขาเป็นบัณฑิต เพื่อว่าเขาจะได้ใช้เครื่องมือนั้นในทางที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เพื่อความดีงาม สร้างสรรค์ชีวิตและสังคม
ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต แม้ว่าเราจะสร้างเครื่องมือและพัฒนาเครื่องมือนั้นอย่างดีเหลือเกิน มีประสิทธิภาพมาก แต่คนใช้เครื่องมือไม่เป็นบัณฑิต ก็อาจจะนำเครื่องมือนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษ อย่างที่โบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” เพราะฉะนั้น การสร้างคนให้เป็นบัณฑิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเราก็นำคำว่าบัณฑิตมาใช้สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จบปริญญาตรีเรียกว่าบัณฑิต จบปริญญาโทเรียกว่ามหาบัณฑิต จบปริญญาเอกเรียกว่าดุษฎีบัณฑิต
ความเป็นบัณฑิตอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่คุณสมบัติในตัวคน และการสร้างคุณสมบัติของตัวคนนี่แหละที่เป็นเป้าหมายของวิชาศึกษาทั่วไป เราเอาคำว่าบัณฑิตมาใช้ แสดงว่าเราให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติในตัวคน ที่จะให้เขาเปลี่ยนแปลงจากคนเปล่าๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือจากคนดิบ ที่ไม่พร้อมจะอยู่จะทำอะไร มาเป็นคนที่มีคุณสมบัติเป็นบัณฑิต
เป้าหมายแท้จริงของวิชาศึกษาทั่วไป คือการสร้างบัณฑิต หรือสร้างคน ให้เป็นบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพทั้งหลายเป็นการสร้างเครื่องมือให้แก่บัณฑิต และบอกวิธีที่จะทำให้เขาสามารถใช้เครื่องมือได้ แต่คนใช้เครื่องมือนั้นจะต้องเป็นคนที่ดี จะได้นำเครื่องมือไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม ไม่ใช่นำเครื่องมือไปเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นหรือก่อความเสียหายทำลายสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน
เวลานี้เรามักพูดถึงคำว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งมองได้ว่าเข้ากับสมัยนิยม คือ การพัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในยุคปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปเน้นแต่ความมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุมากเกินไป จนเกิดผลร้ายแก่จิตใจและแก่สังคม โดยเฉพาะแก่สิ่งแวดล้อม ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อเห็นว่าการพัฒนาแบบนั้นผิด ก็เลยหันมาคิดกันใหม่ว่าจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนา จนได้เกิดมีแนวคิดที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ sustainable development ปรากฏขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๕๓๐ และใกล้กันนั้นก็มีการประกาศแนวความคิด “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” หรือ cultural development ดังที่ได้กำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเหลืออีก ๒ ปีจะจบ
การพัฒนา ๒ ชื่อนี้เป็นแนวความคิดใหม่ในการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนจุดเน้นของการพัฒนาจากเศรษฐกิจไปอยู่ที่จุดอื่น สำหรับ การพัฒนาแบบยั่งยืน ก็หันไปเน้นเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ให้ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่า ให้เป็นการพัฒนาที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ดีเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ หรือว่าเศรษฐกิจก็ไปดีธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ส่วน การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ก็เน้นที่ตัวคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระแสความคิดในการพัฒนา
ประเทศไทยเรามีแผนพัฒนาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๓๔ ปีมาแล้ว แผนพัฒนาฉบับแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ต่อมาก็เติม “และสังคม” เข้าไป พอผ่านมาสัก ๔ แผนก็หันมาเน้นจิตใจมากขึ้น แล้วก็เอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไป ตอนหลังนี้ก็เน้นเรื่องคนมากขึ้นๆ จนกระทั่ง มาวางแผน ๘ ขณะนี้ก็เน้นเรื่องคนมากเป็นพิเศษ
เวลานี้เราพูดกันมากเรื่องการพัฒนาคน แต่พูดถึงการพัฒนาคนในลักษณะที่พูดกันบ่อยว่า พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนในฐานะอะไร คือ ในฐานะที่เป็นคนหรือเป็นมนุษย์ หรือในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ สองอย่างนี้คงไม่เหมือนกัน
คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เกิดขึ้นเมื่อราวปี ๒๕๐๔ เป็นศัพท์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่กระแสการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจกำลังแรง จนกระทั่งเรามองคนเป็นทรัพยากร คือเป็นทรัพย์สิน เป็นทุน เป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนสังคมอีกทีหนึ่ง สาระสำคัญคือมองคนเป็นทุนหรือเป็นสิ่งที่จะจัดสรรเอาไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ก็ใช้กันติดมาหลายปี จนถึงปัจจุบันนี้ เราเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เราบอกว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่ศัพท์คือคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ก็ยังติดอยู่ จนกระทั่งเวลานี้เราชักสับสน ทั้งๆ ที่หันมาเน้นการพัฒนาตัวคน แต่ศัพท์ที่ใช้ก็อยู่ในสายความคิดที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ เราชอบใช้ว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แสดงว่าเรายังติดในแนวความคิดที่มุ่งเอาคนไปใช้เป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือสักว่าพูดไปโดยไม่คิด หรือไม่ก็ใช้โก้ๆ ไปอย่างนั้นเอง โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย
ในเรื่องนี้เราจะต้องมีความชัดเจน จะต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคน ในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือเป็นตัวคน หรือจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร สองคำนี้คนละอย่าง แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร มนุษย์ในแง่หนึ่งก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพดีก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ผลดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือในขั้นพื้นฐาน เราต้องพัฒนาคนในฐานะที่เป็นคน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่าคนสามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง การพัฒนาคน คือการทำให้เขามีชีวิตที่ดีงดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว
การพัฒนาคนในความหมายสองอย่างนี้ น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ คือรู้ว่าพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนามนุษย์ คือ พัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพ อย่างหนึ่ง และพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นทุนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกอย่างหนึ่ง เราก็จะมองเห็นได้ว่า
ก) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาสำหรับพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวคน จนกระทั่งให้คนนั้นเป็นบัณฑิต อย่างที่ว่าสักครู่นี้
ข) ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพเน้นการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์