การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

 

ศิลปศาสตร์เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา

การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นี้ เป็นความหมายตามปกติธรรมดาอยู่แล้วของการศึกษาศิลปศาสตร์ เพราะว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาประเภทให้การศึกษาที่แท้จริง เรียกได้ว่า เป็นตัวเนื้อแท้ของการศึกษา หรือว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นเนื้อเป็นตัวที่แท้ของการศึกษา ส่วนวิชาการอย่างอื่น จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของการฝึกปรือเพิ่มเสริมความชำนาญ เฉพาะด้าน เฉพาะอย่างในการดำรงชีพ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือในการที่จะไปทำการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรบางเรื่องบางอย่างให้แก่สังคม เป็นการพิเศษออกไป

ความหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาก็คือ เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จะเห็นว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาจำพวกที่จะพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ความรู้จักคิด ความสามารถสื่อสาร ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ คือ รับรู้ได้ รับรู้เป็น และรู้จักเรียนรู้ คนที่จะพัฒนามีการศึกษาได้นั้น จะต้องเรียนรู้จนกระทั่งเกิดความรอบรู้อย่างที่ว่า รับรู้เรียนรู้แล้วก็รอบรู้ยิ่งกว่านั้น จะต้องสามารถสื่อความหมายถ่ายทอดแก่ผู้อื่นอย่างได้ผลด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ต้องอาศัยการฝึกฝนพัฒนา และจำเป็นต้องพัฒนา เพราะเป็นส่วนสำคัญของความพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง

พูดรวบรัดว่า ความพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งอื่นคนอื่นได้โดยทั่วไป การรู้จักความดี รู้จักความงาม การที่จะมีชีวิตอันเป็นสุข อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเนื้อหาสาระของวิชาศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จึงมีศูนย์รวมอยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์

 

ศิลปศาสตร์เป็นทั้งเครื่องพัฒนาและเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของมนุษย์

นอกจากวิชาศิลปศาสตร์จะเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพของมนุษย์แล้ว มันยังมีความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือ มันเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพ เสร็จแล้วก็มาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพ เมื่อเราพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ขึ้นมาแล้ว เราก็เอาสิ่งที่ใช้พัฒนาศักยภาพนั่นแหละมารับใช้ศักยภาพของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์ทำให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเรียนศิลปศาสตร์อย่างถูกต้อง โดยเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายแล้วนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณค่าของมัน มิฉะนั้นก็จะมีการเรียนรู้ศิลปศาสตร์แต่พอโก้ๆ ไป กลายเป็นการเรียนรู้อย่างเลื่อนลอย ไม่เกิดประโยชน์สมคุณค่าของมัน

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง เช่น วิชาภาษา เราเรียนภาษาต่างๆ เริ่มด้วยภาษาแรกของเราคือ ภาษาไทย ซึ่งทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายกับคนอื่นได้ แล้วเราก็พัฒนาตัวเองในความสามารถที่จะสื่อความหมายถ่ายทอดกับคนอื่นนี้ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นในการพูดและในการเขียน เป็นต้น

ต่อมาเราไปเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อเราเรียนภาษาอื่นเราก็ขยายศักยภาพของเรา ในการที่จะสื่อสารถ่ายทอดรับรู้เรียนรู้และแสดงออกได้มากขึ้นไปอีก สมมติว่า เราไปเรียนภาษาอังกฤษ พอเราได้ภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา เราก็รับรู้ได้กว้างขวางขึ้น เรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น สื่อสารถ่ายทอดได้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก

ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษไม่เป็น เราไม่ถึงความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็อาจจะเรียนเพียงด้วยความรู้สึกโก้ว่า ได้รู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของฝรั่ง เป็นภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว พอเรียนด้วยความรู้สึกว่า เป็นการเรียนภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเรียนนั้น และขาดความรู้ตระหนักต่อความมุ่งหมายของการเรียนภาษา ก็จะเรียนอย่างขาดจุดหมาย เลื่อนลอย และทำให้เกิดปม คือ ปมด้อย และปมเด่น

ปมด้อย คือความรู้สึกว่าเราได้เรียนภาษาของประเทศที่เจริญกว่า มองวัฒนธรรมของเราว่าด้อย แล้วเราก็เกิดความรู้สึกที่เป็นปมด้อยในตัวเองว่า เราเป็นคนที่ด้อย แล้วไปรู้ภาษาของคนที่เจริญ มีความรู้สึกแฝงลึกอยู่ในใจ โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ว่าสังคมของฝรั่งเจริญ สังคมของเราด้อยวัฒนธรรมของเขาเจริญ วัฒนธรรมของเรานี้ด้อย

ส่วนปมเด่นก็คือ พอมาเทียบกับพวกคนไทยด้วยกันเอง เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเด่น เพราะว่าในขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของเราด้อยนั้น ตัวเรานี้เป็นผู้ที่รู้ภาษาที่เด่น รู้วัฒนธรรมที่เด่นของคนที่เจริญแล้ว

ผลของการเรียนภาษาอังกฤษก็ออกมา ในแง่ความรู้สึกว่า เรานี้เด่นในหมู่พวกที่ด้อย แล้วก็ไปด้อยในพวกที่เด่น ก็กลายเป็นปมขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะด้อยในพวกที่เด่น หรือจะเด่นในพวกที่ด้อย ก็เป็นปมทั้งนั้น และก็ย่อมเป็นปัญหา อย่างน้อยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมเท่าที่ควรจะเป็น และการเรียนภาษาอังกฤษนั้นก็จะไม่ก้าวหน้าไปได้มาก

แต่ถ้าเราตระหนักในความหมาย และความมุ่งหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็จะเรียนภาษาอังกฤษในฐานะเป็นวิชาที่พัฒนาศักยภาพ และรับใช้ศักยภาพของเรา ตอนที่ว่าขยายศักยภาพนี่ชัดแล้ว เพราะเราสามารถรับรู้ข่าวสาร เรียนรู้แล้วก็ถ่ายทอดสื่อสารได้กว้างขวางขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้ว มันจะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ศักยภาพของเราที่ขยายออกไปนั้น ในความหมายที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ภาษาอังกฤษนั้นเป็นเครื่องมือรับใช้เราในการที่จะก้าวออกไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่สังคมตะวันตกได้สั่งสมถ่ายทอดต่อกันมาได้อย่างมากมาย ขุมปัญญา ขุมอารยธรรมตะวันตกนั้น บัดนี้เราสามารถเข้าถึงได้แล้ว เราก็อาศัยความรู้ในภาษาอังกฤษนั้น ไปเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากขุมปัญญา และขุมอารยธรรมตะวันตกนั้นมา เราก้าวออกไปศึกษาวิเคราะห์วิจัยเขาได้ไม่ใช่เพียงแต่ตื่นเต้นที่ได้รู้ภาษาอังกฤษ วิชาภาษาอังกฤษมีความหมายที่มาเปิดช่องทางให้เราเข้าใจถึงสังคมของเขา วัฒนธรรมของเขา วิทยาการของเขา เราก็ใช้เครื่องมือนี้ในการจะไปเรียนรู้ไปสืบค้น ไปดึง ไปเอาสิ่งที่เขาสะสมนั้นมา เพื่อนำเอามาใช้ประกอบในการที่จะสร้างสรรค์สังคมของเราได้

ประการที่ ๒ เรามีดีอะไร เรามีสิ่งที่ดีในวัฒนธรรมของเราซึ่งเป็นคุณค่า มีภูมิปัญญาที่เป็นของไทยสะสมไว้ซึ่งวัฒนธรรมอื่นไม่มี เรารู้แล้วเราก็มีความมั่นใจ พอเราได้ภาษาอังกฤษมา เราก็มีเครื่องมือรับใช้ที่จะถ่ายทอดสิ่งดีที่เรามีอยู่นี้แก่คนอื่น นำไปบอกแก่คนอื่น เผยแพร่สิ่งดีในภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราให้เขาได้รับรู้กว้างขวางออกไปได้

อันนี้ เป็นการเอาภาษามาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของเรา ซึ่งขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง การเรียนภาษาอังกฤษที่มีความหมายถูกต้องควรจะเป็นอย่างนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.