การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ยุคสมัย
และความเปลี่ยนแปลง

 

ความเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไร?

กาลเวลาเกิดจากอะไร กาลเวลาเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีกาลเวลา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้ตรงกับหลักสำคัญในทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า หลักอนิจจัง ซึ่งแสดงความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ จึงมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย ที่ว่าไม่เที่ยงไม่คงที่นั้น คือเกิดดับอยู่เสมอ สืบทอดต่อเนื่องกันไป ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ขึ้นต่อปัญญาของมนุษย์ที่จะเข้าใจได้ อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก

ทำอย่างไรกฎธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลง หรือหลักอนิจจังจะมาสัมพันธ์กับมนุษย์ ในลักษณะที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และในลักษณะที่มนุษย์จะทำอะไรๆ กับมันได้? คำตอบก็คือ การที่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ มันจึงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์และมนุษย์จึงทำอะไรๆ กับมันได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญาและมนุษย์ก็สามารถที่จะมีปัญญานั้น

ดังนั้น ถ้ามนุษย์พัฒนาปัญญาขึ้นมา จนรู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลง รู้เข้าใจถึงธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง และศึกษาให้รู้ถึงเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะใช้ความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาสร้างสรรค์ หันเห และปฏิบัติต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมของตนได้ นี้เป็นจุดสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับปัญญาของมนุษย์

ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นไปต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อจะกำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เกิดเป็นกาลเวลา เป็นยุคสมัยขึ้น โดยเอามาเทียบกับขณะที่มนุษย์ดำรงอยู่เป็นหลัก เรื่องของมนุษย์ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็เรียกว่าเป็นปัจจุบัน ถอยหลังไปก็เป็นอดีต ถ้ามองไปข้างหน้าก็เป็นอนาคต

โดยนัยนี้ ความดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคมอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นกับเงื่อนไขของกาลเวลานี้ด้วย คือ เหตุปัจจัยจะแสดงผลต้องอาศัยกาลเวลา และความเป็นเหตุเป็นผลกันนั้นก็ปรากฏออกมาในรูปของความเปลี่ยนแปลง เรื่องของมนุษย์ก็จึงต้องมาสัมพันธ์กับเรื่องของกาลเวลา และปัญญาของมนุษย์ก็จะต้องมาหยั่งรู้เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กับกาลเวลา ตามที่ปรากฏในรูปของความเปลี่ยนแปลงนั้น

 

มนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไรต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง?

เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้ โดยเข้าใจชีวิตของตนเอง เข้าใจสังคมและเข้าใจธรรมชาติแวดล้อมในแง่ของความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ภายในกรอบของกาลเวลาแล้ว มนุษย์ก็จะมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ คือ ของโลกและชีวิตนี้อย่างกว้างขวาง และชัดเจนขึ้น นี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่จะเข้าใจโลกและชีวิตและการที่จะสัมพันธ์กับโลกและชีวิตนั้นอย่างถูกต้อง

แม้จะได้บอกแล้วว่า องค์ประกอบของการดำรงอยู่ด้วยดี มี ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม แต่นั่นเป็นเพียงองค์ประกอบล้วนๆ ลอยๆ เหมือนอยู่นิ่งๆ เราจะยังไม่เห็นอะไรชัดเจน ถ้าไม่มององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น ในภาวะของความเปลี่ยนแปลงโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา พอเรามองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ว่าในช่วง ๓ กาลนี้ ความสืบทอดต่อๆ มาขององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้เราจะเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

วิชาศิลปศาสตร์นี้ขอให้ไปดูเถิด จะเป็นวิชาที่ให้เรารู้เรื่องของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ตามเงื่อนไขของกาลเวลาทั้ง ๓ นี้ ตัวอย่าง เช่น

วิชาประวัติศาสตร์ : ให้เรารู้อารยธรรมของมนุษย์ ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

วิชาปรัชญา : ให้เราใช้สติปัญญา ศึกษาค้นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ สืบมาจากอดีต จนถึงปัจจุบันและเล็งอนาคต

วิชาศาสนา : ให้เราปฏิบัติตามวิถีทางที่เชื่อว่าจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีในโลกปัจจุบันนี้และมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้าในอนาคต

ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งให้เกิดความรู้ที่จะทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขของการเวลานี้อย่างถูกต้อง ทำให้มนุษย์มีความรู้เข้าใจเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง สามารถ “หยั่งรู้ถึงอดีตแล้วก็รู้เท่าทันปัจจุบัน และรู้ทันอนาคต” อันเป็นความประสงค์ของการศึกษาศิลปศาสตร์ประการหนึ่ง เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้และเข้าใจโลกนี้ดีแล้ว ก็จะปรับตัวได้ดี มนุษย์จะต้องมีการปรับตัว การปรับตัวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงและกาลเวลา การที่เราจะปรับตัวได้ถูกต้อง ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเฉพาะอย่างยิ่ง รู้เข้าใจเท่าทันความเปลี่ยนแปลง คนไม่มีความรู้ในสภาพที่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถปรับตัวได้

สังคมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมภายนอกเข้ามา มีการกระทบทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้ศึกษาศิลปศาสตร์หากเข้าถึงวิชาการ ก็จะหยั่งรู้ในสิ่งเหล่านี้ จะศึกษาโดยเข้าใจความหมายและจุดมุ่งหมาย ศึกษาโดยรู้ความเป็นมาและความสืบทอดต่อเนื่อง รู้เท่าทันสภาพความเปลี่ยนแปลง รู้เหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง รู้ข้อดีข้อเสีย เช่น รู้จักวัฒนธรรมที่เข้ามาว่า มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร ดีชั่ว มีคุณโทษอย่างไร รู้จักคิดพิจารณา ไม่ตื่นไปตาม ก็ปรับตัวได้ดี

ส่วนคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีการพัฒนาตน ไม่รู้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ก็จะถูกความเปลี่ยนแปลงกระทำเอา โดยตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว กลายเป็นหุ่นถูกชักถูกเชิด เป็นทาสของการเปลี่ยนแปลง แต่หากได้ศึกษาอย่างถูกต้องแล้ว จะกลับเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง คือ รู้จักถือเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดคุณประโยชน์ ไม่เป็นผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม และสามารถเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง

การศึกษามีการมุ่งหมายประการหนึ่ง คือ ไม่ให้คนเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง แต่ให้เป็นผู้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ คือ ให้เป็นอิสระอยู่เหนือการถูกกระทบกระแทกชักพาโดยความเปลี่ยนแปลง และกลับนำความรู้เท่าทันต่อเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้น มาชี้นำจัดสรรความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตนได้

ขณะนี้สังคมของเรากำลังประสบปัญหา คือ เป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง เราถูกสิ่งที่เข้ามากระทบจากภายนอก เช่น วัฒนธรรมจากตะวันตก เป็นต้น หลั่งไหลเข้ามา แล้วเราไม่รู้เท่าทันก็ตั้งตัวไม่ติด จึงเป็นไปต่างๆ ตามที่มันจะบันดาลให้เป็น ไม่สามารถจะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงได้

การรู้จักความเปลี่ยนแปลง หมายรวมถึง การรู้จักกาลเวลาและยุคสมัย ศิลปศาสตร์นั้นแล่นร้อยโยงกาลสมัยตลอดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โยงกาลทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน หยั่งถึงอดีต รู้ทันปัจจุบัน รู้ทันอนาคต และด้วยความหยั่งรู้เท่าทันอย่างนี้ ก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ คือ เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์

 

จะเป็นคน “ทันสมัย” จะต้องทำอย่างไร?

คนจำนวนมากเข้าใจคำว่า “ทันสมัย” หรือ “ทันเหตุการณ์” ในความหมายที่ว่า มีอะไรเกิดขึ้นฉันก็รู้ เขามีอะไรใช้ใหม่ๆ ฉันก็ได้ใช้อย่างนั้น เขาทำอะไรแปลกใหม่ ฉันก็ได้ทำอย่างนั้น เขานิยมกันอย่างไรฉันก็ได้ทำตามนิยมอย่างนั้น มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก ฉันรู้ฉันมีฉันรับได้เร็วไว คนจำนวนมากเข้าใจว่าอย่างนี้คือก็ทันสมัย ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ “แฟชั่น” เขามีอะไร นิยมอะไรกัน ฉันก็ได้ก็มีอย่างนั้น ได้ทำตาม ได้เป็นไปตามอย่างนั้นด้วย การที่ทันสมัยอย่างนี้เป็นการทันสมัยที่แท้จริงหรือเปล่า ขอให้เราศึกษาความหมายของคำว่าทันสมัย

ถ้าเราเติมคำว่า “เท่า” เข้าไปข้างหน้าอีกหน่อย จะช่วยให้ความหมายชัดขึ้นไปอีกนิดว่า “เท่าทันสมัย” แต่ก็ยังไม่พอ ถ้าเติม “รู้” เข้าไปด้วยจึงจะเต็มสมบูรณ์ คือกลายเป็น “รู้เท่าทันสมัย” หรือ แม้จะตัด “เท่า” ออกเหลือแค่ รู้ทันสมัยก็ยังดี “รู้ทันสมัย” นี้หมายความว่า ไม่ใช่แค่เป็นไปตามสมัยอย่างที่ว่า เขาเกิดมีอะไรขึ้นมาก็เป็นไปตามนั้นเท่านั้น การที่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เป็นไปตามนั้นนี้ เรามักจะเข้าใจว่าทันสมัยแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ ไม่ได้มีความรู้ทันอะไรเลย ที่ว่ารู้ทันสมัยนั้นจะต้องรู้เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น เรื่องนี้มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เกิดขึ้นแล้วมีคุณและโทษอย่างไร อย่างนี้จึงจะเรียกว่า รู้ทันสมัย คนที่รู้เท่าทันสมัยจะต้องรู้อย่างนี้

ทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะทำให้เป็นนายเหนือกาลสมัย แต่คนที่ทันสมัยในความหมายแรกจะกลายเป็นทาสของสมัย ความเป็นทาสของสมัยจะเห็นได้ในความทันสมัยอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป คือถูกปลุกถูกปั่นให้วิ่งไปตามให้โดดโลดเต้นไปตาม

คนที่เขารู้เท่าทันสมัยพอสมควร เขาสามารถหาผลประโยชน์จากคนทันสมัยประเภทที่ ๑ ได้ เช่น คนที่รู้ว่าความนิยมของโลกนี้จะเป็นอย่างไร ต่อไปข้างหน้า คนจะนิยมกันอย่างไร แนวโน้มของสังคมทั่วไปตอนนี้กำลังเป็นอย่างไร เขาอาจไปออกแบบกำหนดแฟชั่นทำอะไร เอามาโฆษณา ล่อให้คนพวกนี้วิ่งโลดเต้นไปตามได้ คนที่ทำเช่นนี้ก็มีความรู้เท่าทันสมัยในระดับหนึ่ง แต่นำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในทางสนองความเห็นแก่ตัว ส่วนความรู้เท่าทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม คือ การที่เรารู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มันคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร มีคุณและโทษอย่างไร ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว เราจะเป็นนายของกาลสมัยได้ และเราก็จะสามารถหันเหเบี่ยงเบนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษและเสริมสร้างสิ่งที่เป็นคุณ

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่สนองค่านิยมแล้วจะถูกต้องเป็นคุณประโยชน์เสมอไป คนที่รู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ เท่านั้น จึงจะเลือกสรรจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างมีผลดีที่แท้จริง แก่ชีวิตและสังคม ถ้าไม่มีความรู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ แล้ว การศึกษาก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น

ถ้าการศึกษา เป็นเพียงการทำให้เป็นคนทันสมัยในความหมายที่ ๑ ก็ เท่ากับว่า การศึกษานั้นทำคนให้เป็นทาสของกาลเวลา หรือเป็นทาสของยุคสมัยและคอยตามเขาอยู่เรื่อยไปเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นความทันสมัยที่ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ยิ่งกว่านั้น บางคนว่า มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก เขารู้ก่อนใคร เขาทำก่อนคนอื่น เขาเป็นคนนำสมัย แต่ที่จริงนั้น เขาตามฝรั่ง เขาตามแบบที่อื่นอยู่แท้ๆ จะเรียกว่านำสมัยได้อย่างไร

ความทันสมัยและนำสมัยที่แท้ จะต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะ ทัน นั้นก็คือการรู้ทัน และ นำ ก็คือ เป็นต้นคิด เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง

วิชาศิลปศาสตร์ที่ถูกต้องตามความหมาย จะทำให้เราเป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ตลอดจนนำสมัย นำเหตุการณ์ในความหมายที่ถูกต้อง ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้เกิดคุณประโยชน์ แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

รวมความว่า ความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่ ๑ นั้น มีลักษณะหรืออาการที่สำคัญ ๒ อย่างคือ ประการที่หนึ่ง ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ได้ศึกษาสืบค้นให้เห็นเหตุปัจจัย เหตุผลและคุณโทษของเรื่องนั้นๆ ประการที่สอง เป็นผู้คอยตาม หรือถูกชักจูงปลุกปั่นให้เป็นไปอย่างนั้นๆ อย่างที่เรียกง่ายๆ ว่าตกเป็นทาสของยุคสมัย

ส่วนความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่สอง มีลักษณะ ๒ อย่าง ที่ตรงกันข้าม คือ

ประการที่ ๑ ประกอบด้วยความรู้ เป็นการรู้ทันหรือรู้เท่าทัน หยั่งเห็นลงไปถึงเหตุปัจจัยของเรื่องนั้นๆ คุณและโทษของสิ่งหรือการกระทำนั้นๆ และ

ประการที่ ๒ เป็นอิสระอยู่เหนือความนิยม หรือความเป็นไปนั้น ไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นให้วิ่งตามไป แต่ตรงข้ามกลับใช้ความรู้ในเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น มาจัดสรรดำเนินการนำทางการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปด้วยปัญญาที่จะให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม เป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคม เรียกได้ว่า เป็นนายของยุคสมัยหรือเป็นนายของเหตุการณ์

ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นและไหลเวียนแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่ที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลนี้ คนที่ทันสมัยเพียงแต่รู้เหตุการณ์ตามข่าวทางสื่อมวลชนได้รวดเร็วทันควัน เกิดอะไรขึ้นก็รู้ไปตามนั้น คนทันสมัยแม้จะทันข่าว แต่ไม่รู้ทัน อาจถูกยุให้คล้อยตามข่าวนั้นได้ ถ้าผู้เสนอข่าวมีความประสงค์ที่เป็นเจตนาแอบแฝง อย่างน้อยแม้จะไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นไป ก็มีความเชื่อโดยไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ เชื่อเรื่อยเปื่อยและอาจจะเป็นคนขยายข่าวอย่างที่เรียกว่า เป็นกระต่ายตื่นตูม

ส่วนพวกรู้เท่าทันก็จะศึกษาสอบสวนข่าว พิจารณาไตร่ตรองสืบค้นให้ถึงต้นสาย หาเหตุปัจจัยวิเคราะห์สืบสาวให้รู้ความจริงที่แท้แล้ว ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เกิดผลดีที่แท้จริงและป้องกันผลร้ายได้ จะนำสมัย แก้ไข เหตุการณ์ได้ นี้คือการเป็นนายของข่าวสารข้อมูล นี้เป็นความหมายในด้านความสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ซึ่งก็เป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ของวิชาศิลปศาสตร์ ที่จะให้เกิดประโยชน์นี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.