การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รู้อย่างไรว่าพัฒนาแล้วเป็นคนเต็มคน

ต่อไป จุดหมายของการพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน คือเป็นคนที่สมบูรณ์ คนที่สมบูรณ์มีมาตรฐานวัดอย่างไร คนที่สมบูรณ์เป็นคนเต็มคนแล้ว ในทางการศึกษาก็มีวิธีการวัดที่อาจจะยกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งคล้ายกับทางพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านให้ดูการพัฒนาของมนุษย์ว่าเป็นไปครบ ๔ ด้านไหม หลักเกณฑ์นี้ใช้วัดแม้แต่พระอรหันต์ ถ้าถามว่าพระอรหันต์คือใคร ก็ตอบว่าพระอรหันต์คือคนที่พัฒนาตนสมบูรณ์ทั้ง ๔ ด้าน คือ

๑) พัฒนากาย (ความสัมพันธ์ทางกาย)

๒) พัฒนาศีล (ความสัมพันธ์ทางสังคม)

๓) พัฒนาจิตใจ (คุณธรรม ความมั่นคง ความสุข)

๔) พัฒนาปัญญา (ความรู้-คิด-เข้าใจ-หยั่งเห็น)

ด้านที่ ๑ พัฒนากาย ไม่ใช่หมายถึงทำให้ร่างกายเจริญใหญ่โต แต่หมายถึง พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่นว่า เขารู้จักใช้ปัจจัย ๔ เป็นไหม กินเป็น บริโภคเป็นไหม กินแล้วได้คุณภาพชีวิตได้สุขภาพดี หรือไม่รู้จักกิน กินไม่เป็น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่รู้จักพอดีในการกิน กินแล้วได้โทษ ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เป็นไหม ดูเป็น ฟังเป็นไหม อย่างนี้เป็นต้น อย่างเด็กดูทีวีเป็นไหม ดูแล้วได้ประโยชน์ หรือได้โทษ ดูแล้วได้คุณภาพชีวิต ได้ความรู้ได้สติปัญญาหรือได้ความลุ่มหลง มัวเมา เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียการศึกษาเล่าเรียน และได้ตัวอย่างที่ไม่ดี ฟังเป็นไหม ฟังแล้วได้ความรู้ไหม ฯลฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

ด้านที่ ๒ พัฒนาศีล หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือกับเพื่อนมนุษย์ว่าอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้นไหม มีพฤติกรรมทั่วไปและการประกอบอาชีพที่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน หรือเป็นไปในทางช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อะไรอย่างนี้

ด้านที่ ๓ พัฒนาจิตใจ เช่นว่า จิตใจมีคุณธรรมไหม มีเมตตากรุณาไหม มีศรัทธาไหม มีความเคารพ มีความกตัญญูกตเวที มีหิริโอตตัปปะ มีคุณธรรม ต่างๆ ที่จะมาเป็นฐานของพฤติกรรมที่เราเรียกว่าจริยธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นคงและความสอดคล้องในระบบชีวิตทางจริยธรรม รวมทั้งการที่ว่าจิตใจมีความสุขหรือมีความทุกข์ มีความขุ่นมัว เศร้าหมอง มีความกระวนกระวาย ถ้าพัฒนาในทางที่ดีก็ต้องมีจิตใจที่เบิกบาน ผ่องใส สงบ มีความสุข ถ้าคนยังไม่มีความสุขแต่ยังมีความทุกข์มาก ก็ถือว่าขาดการพัฒนาเหมือนกัน

ด้านที่ ๔ พัฒนาปัญญา เช่นว่า มีความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริงไหม เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ มีความรับรู้โดยไม่มีอคติ สามารถพิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ อย่างไม่เอนเอียง สามารถนำความรู้ความคิดมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งในการบริหารจัดการดำเนินการต่างๆ ตลอดจนทำจิตใจของตนให้เป็นอิสระเหนือการกระทบกระทั่งของสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องวัดออกมา ซึ่งโดยหลักการก็คือ เราจะต้องมีแนวความคิดบางอย่างในการวางมาตรฐานว่าจะพัฒนาคนให้เป็นอย่างไร คนที่ถือว่าสมบูรณ์ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ทั้งนี้ก็พูดได้แต่เพียงแนวความคิดที่เป็นหลักการ

แม้จะตั้งหลักการใหญ่ๆ ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้าว่า เราจัดการศึกษานี้ท่ามกลางยุคสมัยและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

การจัดการศึกษา โดยเฉพาะวิชาศึกษาทั่วไปที่เป็นการพัฒนาตัวคน ที่จะให้เป็นบัณฑิตนี้ จะต้องมีการแยกระดับความมุ่งหมาย โดยต้องมีจุดมุ่งหมาย ๒ ระดับ ทั้งโดยกาละและโดยเทศะ คือ

ก) โดยกาละ

๑. การศึกษาเพื่อยุคสมัย คือการที่จะพัฒนาคนให้สอดคล้องหรือรับมือได้ทันกับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่เป็นอยู่ ว่าทำอย่างไรจะให้คนมีคุณภาพที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี สามารถทำการสร้างสรรค์ได้ในสภาพสังคมอย่างนี้ มนุษย์เกิดมาในยุคสมัยใดก็ต้องมีสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้นที่เขาจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี และพร้อมกันนั้น

๒. การศึกษาที่เหนือยุคสมัย อย่างที่ศัพท์พระเรียกว่า อกาลิโก คือ การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย ได้แก่การศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณค่าที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่า วิชาการศึกษาทั่วไปนี้จะสร้างคนให้เป็นอย่างไร เพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ขึ้นต่อกาลสมัยหรือไม่เกี่ยวกับสภาพของยุคสมัย พร้อมกับการที่ว่าเขาก็เป็นคนที่มีประสิทธิภาพสำหรับยุคสมัยนี้ ซึ่งจะทำให้เขาดำเนินชีวิตจนเข้าถึงจุดมุ่งหมายที่สมบูรณ์นั้นได้ด้วย เพราะว่าถ้าเขาไม่สามารถจัดการกับยุคสมัยได้ดี เขาจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่พ้นยุคสมัยก็ย่อมไม่ได้ คือไม่สำเร็จด้วยเหมือนกัน

ฉะนั้นต้องให้ได้จุดหมายทั้ง ๒ ระดับนี้ ที่เรียกว่า โดยกาละ

ข) โดยเทศะ

๑. การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของถิ่น เช่นว่าเราอยู่ในสังคมไทย สังคมไทยก็ไม่เหมือนสังคมอเมริกัน เราจะต้องสร้างคนของเราให้พร้อมที่จะมาอยู่ในสังคมไทยได้ดี และสามารถเป็นส่วนร่วมที่จะพัฒนาสังคมไทยอย่างได้ผลด้วย ไม่ใช่ว่าเรียนมาเรียนไปกลายเป็นคนที่จะไปพัฒนาสังคมอเมริกัน เด็กของเราบางทีเรียนจบแล้วกลายเป็นคนสำหรับไปอยู่ในสังคมอเมริกัน แทนที่จะเตรียมมาอยู่ในสังคมไทย อย่างนี้เรียกว่าผิดเทศะแล้ว เพราะฉะนั้น ในแง่เทศะ การศึกษาทั่วไปจะต้องทำให้คนของเรามาอยู่ในเทศะเฉพาะของตนนี้ได้อย่างดี

๒. การศึกษาที่พ้นจากเทศะเฉพาะเพื่อความเป็นคนของโลก ในแง่หนึ่งคนทุกคนเป็นสมาชิกของโลก ยิ่งโลกยุคนี้ก็แคบเข้ามาด้วย กลายเป็น global village เป็นประดุจหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นประชาคมเดียวกันเล็กๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็ถึงกันหมด ดังที่เราเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ มนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกของโลก เป็นผู้มีส่วนร่วมในอารยธรรมของโลก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าเป็นสมาชิกที่ดีของเทศะไม่ได้ ก็เป็นสมาชิกที่ดีของโลกไม่ได้ด้วย แต่พร้อมกันนั้นถ้าเราลืมความเป็นสมาชิกของโลก เราก็จะเข้ากับสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ไม่ได้ ไม่ทัน และช่วยเทศะของเราไม่ได้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.