พูดได้ว่า ปราโมทย์นี้แหละเป็นอาการแสดงออกของจิตใจในภาวะที่ใกล้กับธรรมชาติของมันเอง
บอกแล้วว่า สภาวะของจิตตามธรรมชาติของมันเองเป็น “ประภัสสร” คือ เปล่งปลั่ง เจิดจ้า บริสุทธิ์ ผุดผ่อง
จิตที่อยู่ใกล้สภาวะของมันอันเป็นประภัสสรนั้น แสดงได้พลันซึ่งอาการที่เป็น “ปราโมทย์” คือ ร่าเริง สดชื่น เบิกบาน
(ที่ว่า “ใกล้” คือยังไม่ต้องถึงกับหมดกิเลสสิ้นเชิง)
อย่างที่พูดไปแล้วว่า จิตที่มีปราโมทย์ สดใส ร่าเริง บันเทิง เบิกบานใจ เป็นจิตที่ปลอดโปร่งมีพลัง ไม่ถูกอกุศลครอบงำหรือรบกวน แต่ช่วยปิดกั้นกันพวกอกุศลออกไป พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้กุศลธรรมและความสุขเจริญงอกงาม ก้าวไปในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี
ทีนี้ เมื่อพัฒนาจิตใจนั้นคืบหน้าไป ขณะที่คุณสมบัติและสมรรถนะต่างๆ จะทยอยกันเกิดและเจริญเพิ่มพูนขึ้นมานั้น อาการแสดงที่เป็นคุณภาพของจิตใจ ๕ อย่าง ก็ปรากฏขึ้นมา เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความก้าวหน้าในการพัฒนานั้น ดังที่เคยบอกไปแล้ว ซึ่งขอทวนอีกทีหนึ่ง คือ
๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ
๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ
๓.ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ
๔. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ
๕.สมาธิ ความมีใจมั่นแน่ว อยู่ตัว ได้ที่ ไม่มีอะไรกวน
ไม่ต้องพูดถึงคุณสมบัติอื่นๆ ที่จะตามมา แม้เพียงแค่ ๕ อย่างนี้ ชีวิตก็แสนจะดีคุ้มค่าแล้ว