พระพุทธเจ้าตรัสถึงปราโมทย์นี้บ่อยมาก เราตั้งเป็นจุดกำหนดได้เลยว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ พอการปฏิบัตินั้นเข้าทางถูกต้องดี ก็จะมาถึงจุดเริ่มรวมลงตรงที่เดียวกันว่า “เกิดปราโมทย์”
ตัวอย่าง เช่นคนที่ออกไปบวชเป็นภิกษุแล้ว เมื่อตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี พอรักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็เกิดมีปราโมทย์ขึ้นมา1
หรือบางท่านยกเอาหลักธรรมคำสอนที่ได้ฟังหรือได้เล่าเรียนไว้ ขึ้นมาตรึกตรองพิจารณาเกิดความเข้าใจ ก็มีปราโมทย์2
หรืออย่างชาวบ้านที่เป็นคนมีความคิด พิจารณาเห็นผลดี-ผลร้าย ของกรรมดี-กรรมชั่ว มองดูตัวเองว่าดำเนินชีวิตดีงาม ไม่ได้เบียดเบียนใคร สำรวมระวังการใช้กายวาจาใจไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย มีความมั่นใจว่าแม้ถึงคราวจะตายก็ต้องไปเกิดดีแน่ พอมองเห็นอย่างนี้ ก็เกิดมีปราโมทย์3
หรืออย่างคนที่เจอทุกข์ ก็หาทางออก ทำให้ได้สนใจและได้พบหลักคำสอนที่ดีที่จะแก้ปัญหาคลายทุกข์ได้ ก็เกิดศรัทธามีความมั่นใจ แล้วก็มีปราโมทย์4
หรือว่าผู้ใดก็ตาม รู้จักดู รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ พอมองสิ่งทั้งหลาย ก็แยกแยะหยั่งลงไปเห็นความจริงของมันที่มีลักษณะความเป็นไปอย่างที่เรียกว่าไตรลักษณ์ พอเกิดความเข้าใจมองเห็นความจริง ก็ เกิดปราโมทย์ ขึ้นมา5
หรือญาติโยมบางคนระลึกถึงพระพุทธคุณ มีความเลื่อมใสลึกซึ้งแล้ว ไม่หยุดไม่พอแค่นั้น เพียรพยายามปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นอยู่โดยไม่ประมาทอย่างนี้ ก็เกิดมีปราโมทย์ขึ้นมา6 ฯลฯ
พอปราโมทย์เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นจุดหัวต่อที่จะพัฒนาไปเป็นสมาธิ แล้วสมาธินั้นก็เป็นฐานทำให้จิตใจเหมาะแก่การใช้ทำงานที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นมาและพัฒนาต่อไป