ร่าเริงสดใส สู่ความเกษมศานต์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติของจิตเองนั้นเปล่งปลั่ง

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ให้เรามีจิตใจและทำจิตใจให้ปราโมทย์ คือให้ร่าเริงเบิกบานสดชื่นแจ่มใส

มองดูง่ายๆ จิตใจที่มีปราโมทย์อย่างที่ว่านี้ ก็คือตรงข้ามกับจิตใจที่ขุ่นมัวเศร้าหมองหงุดหงิด หรือหดหู่ซึมเซาเหงาหงอย ซึ่งเป็นจิตไม่ดี ที่เปิดช่องให้อกุศลทั้งหลายเข้ามา

จิตที่ขุ่นข้องอย่างนั้นจะกีดกั้นกุศลความดีงามต่างๆ ไม่ให้เจริญงอกงาม ไม่เหมาะไม่พร้อมที่จะใช้งาน ปิดกั้นความเจริญของปัญญา

แต่จิตใจที่มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานสดใส แสดงว่าไม่มีอกุศลหรือตัวก่อกวนร้ายๆ เข้ามาครอบงำแทรกแซง จิตเป็นตัวของมันเอง และเป็นจิตที่เปิดโล่งโปร่งเบาสะอาดหมดจด อย่างน้อยในระดับหนึ่ง ซึ่งเอื้อต่อการเจริญพัฒนาของกุศลหรือคุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลาย

จิตมีปราโมทย์เป็นจิตที่แข็งแรงมีกำลัง เหมาะและพร้อมที่จะใช้งาน เอื้อต่อการที่ปัญญาจะทำงานคิดพิจารณาและพัฒนาเจริญงอกงาม ดังนั้น จิตที่ปราโมทย์จึงดีอย่างยิ่ง

มีพุทธพจน์ที่หลายคนคุ้นๆ ตรัสถึงสภาวะของจิตไว้ว่า1 “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร (ผ่องใส ผุดผ่อง หรือเปล่งปลั่ง)”

ที่ว่าประภัสสร หรือผ่องใส ก็คือสะอาด บริสุทธิ์ นี่คือสภาพของจิตใจตามธรรมชาติของมันเอง

แล้วตรัสต่อไปอีกว่า “ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺํ” แปลว่า “แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว ด้วยอุปกิเลสที่จรมา”

หมายความว่า: จิตใจที่ใสผ่องนั้น ขุ่นหมองไปเสีย เพราะสิ่งสกปรกที่เป็นของแปลกปลอมเข้ามา (คนที่เป็นเจ้าของจิตใจนั้นแหละ เอาของเสีย คือกิเลสและความทุกข์ ใส่เข้าไป)

ยังไม่จบแค่นั้น พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ตํ อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ยถาภูตํ นปฺปชานาติ, ตสฺมา อสฺสุตวโต ปุถุชฺชนสฺส จิตฺตภาวนา นตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ปุถุชนผู้ขาดสุตะ (ไม่ได้เล่าเรียน ขาดความรู้ ไม่มีการศึกษา) ไม่รู้จักจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น ปุถุชนผู้ขาดสุตะ จึงไม่มีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) - เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ในทางตรงข้าม พระองค์ตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ, ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตํ ปชานาติ ตสฺมา สุตวโต อริยสาวกสฺส จิตฺตภาวนา อตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร, แลจิตที่ประภัสสรนั้นแล พ้นไปได้ จากอุปกิเลสที่จรมา, อริยสาวกผู้มีสุตะ (ผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้, ผู้มีการศึกษา) รู้ชัดจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น อริยสาวกผู้มีสุตะ จึงมีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) - เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ขออธิบายประกอบเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้เรามองดูความจริงที่ว่า จิตนั้นตามธรรมชาติของมันเอง เป็นสภาวะที่บริสุทธิ์ แต่ที่มันขุ่นมัวเศร้าหมองไปต่างๆ นั้น เป็นเพราะอุปกิเลสคือสิ่งสกปรกที่โผล่เข้ามา2

(เหมือนท้องฟ้าเองโล่ง ส่วนพวกเมฆ หมอก ฝุ่น ควัน เป็นของโผล่จรแปลกปลอมมา)

พูดง่ายๆ ว่า: กิเลสเป็นของแปลกปลอม ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของจิต

ในเมื่อจิตเองเป็นสภาวะบริสุทธิ์ และสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเป็นของจรมา การพัฒนาชำระล้างทำจิตใจให้ใสสะอาดผุดผ่อง จึงเป็นไปได้

(ถ้ากิเลสและความทุกข์เป็นเนื้อตัวอยู่ในจิตเองแล้ว การพัฒนาทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้)

เมื่อจิตใจขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเพราะของสกปรกที่จรมา จิตใจก็หลุดรอดปลอดพ้นจากของสกปรกเหล่านั้นได้ แล้วมันก็จะสะอาดแจ่มใสบริสุทธิ์ผุดผ่องตามธรรมชาติของมัน

พวกปุถุชนที่ขาดการศึกษา เมื่อไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตอย่างนี้ ก็ปล่อยตัวให้ถูกกิเลสบงการ ถูกทุกข์รังควาญ ก่อปัญหากันวุ่นวาย ไม่คิดที่จะพัฒนาจิตใจให้ดีงามมีความสามารถตามศักยภาพของมัน ให้จิตปลอดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ เพื่อให้มีความสุขที่แท้และเป็นอิสระ

แต่อริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้เรียนรู้หลักความจริง เข้าใจธรรมชาติของจิตที่เป็นสภาวะจำรัสเจิดจ้า และรู้ทันประดากิเลสและทุกข์ภัยทั้งหลายแล้ว ก็ดำเนินไปในมรรคาแห่งการพัฒนาจิตใจ ให้เป็นอิสระหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำบงการของกิเลสและความทุกข์ที่เป็นสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองทั้งมวล จนลุถึงความสุขเกษมศานต์ที่แท้จริงและยั่งยืนนาน

1 องฺ.เอก.๒๐/๕๐–๕๒/๑๑
2อรรถกถาอธิบายว่า จิตที่บริสุทธิ์ตามสภาวะของมันเอง คือภวังคจิต และมันขุ่นหมองเมื่อขึ้นสู่วิถีมาเกลือกกลั้วกิเลสในขณะแห่งชวนะ คือแล่นไปรับรู้เสพอารมณ์
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.