ร่าเริงสดใส สู่ความเกษมศานต์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แทรกความรู้วิชาการ

ขอเสริมอีกนิด เป็นความรู้เชิงวิชาการสักหน่อยว่า ปราโมทย์ กับ ปีติ สองอย่างนี้บางทีรู้สึกว่าคล้ายๆ หรือใกล้เคียงกัน ดูที่อรรถกถาอธิบายไว้ ส่วนมากบอกว่า ปราโมทย์ ก็คือ ปีติอย่างอ่อนๆ1

ถ้าถือว่าปราโมทย์คือปีติอ่อนๆ ทั้งปราโมทย์และปีติก็เป็นคุณสมบัติของจิต2 ที่เป็นได้ทั้งฝ่ายเวทนา และฝ่ายสังขาร

ในแง่ที่เป็นเวทนานั้น ทั้งสองอย่างจัดเป็นสุขเวทนา

แต่ในแง่ที่เป็นสังขาร คือดีชั่วที่ปรุงแต่งจิต ปีติ เป็นคุณสมบัติกลางๆ ที่เกิดได้กับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล3 แต่ ปราโมทย์ ที่เป็นอาการของจิตอันแสดงออกต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็คือมุทิตา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นสังขารฝ่ายกุศล4 เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔

ดูต่อไปอีก ตามหลักในเรื่องการเจริญอานาปานสติแบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปด้วย ที่เรียกว่าอานาปานสติ ๑๖ ฐาน จะเห็นว่า เรื่องปีติ และ สุข ท่านจัดไว้ในเวทนานุปัสสนา5 แต่การทำจิตให้ปราโมทย์ จัดเข้าในจิตตานุปัสสนา6

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดเสียยืดยาวนั้น ก็ด้วยอยากจะให้ไม่เน้นปราโมทย์ในแง่ปะปนกับปีติ ที่เป็นสภาวะฝ่ายเวทนา

แต่อยากจะให้มองปราโมทย์ในแง่ที่เป็นอาการแสดงออกของจิตที่ดีงามเป็นกุศล

1 เช่น สํ.อ.๒/๒๓/๖๓; ปฏิสํ.อ.๑/๑๑๐/๒๓๒, ๑๔๕/๓๒๙; บางแห่ง (ปฏิสํ.อ.๒/ ๒๙๔/๓๐๖) บอกว่า “มากด้วยปราโมทย์” (ปาโมชฺชพหุโล) ก็คือ มีปีติอย่างแรง
2คุณสมบัติของจิต หมายถึง “เจตสิก”
3คือเป็น อัญญสมานาเจตสิก
4เป็นโสภณเจตสิกอย่างหนึ่ง
5 ปีติปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดปีติ) และ สุขปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดสุข)
6 อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ (ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.