ต่อไปก็เข้าสู่หัวข้ออีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อตัวจริงที่ต้องการ คือ “การวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย” เมื่อกี้นี้พูดแล้วว่า เราจะต้องรู้เขารู้เรา คือรู้สภาพปัญหา และองค์ประกอบที่เป็นเหตุปัจจัยทั้งหลาย เริ่มด้วยเหตุปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรู้เขาอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นไปในโลก ในประเทศอื่น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเป็นพิเศษ
เวลานี้โลกอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็มีอิทธิพลส่งถึงกัน ฉะนั้นการรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปภายนอก ก็หมายถึงการรู้เหตุปัจจัยภายนอกต่อตัวเราและสังคมของเรา ฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้โลก คือความเป็นไปในโลก ให้รู้สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นต้น ที่แผ่ขยายล้อมเข้ามา ซึ่งอาจจะถึงกับครอบงำเราก็ได้
จะต้องยอมรับความจริงว่าเวลานี้เราอยู่ใต้อิทธิพลความเป็นไปของสังคมภายนอกมากเหลือเกิน ทั้งในแง่อิทธิพลด้านระบบสังคมและในทางความคิด โดยเฉพาะในทางความคิดนั้นเราอยู่ใต้อิทธิพลโดยแทบไม่รู้ตัว อย่างน้อยก็ค่านิยม และวัฒนธรรมที่เราชื่นชมนิยมตาม แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือฐานทางความคิดทฤษฎีต่างๆ และวิธีคิด แม้แต่ที่แฝงมาในถ้อยคำที่พูดจากัน ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำเรามาก เราจะต้องวิจัยให้รู้ทันหมดเลย เป็นอันว่าต้องวิจัยทุกระดับ ทั้งสภาพ ปัญหา ระบบ ความเป็นไป ความเคลื่อนไหว จนกระทั่งถึงแนวความคิด เรื่องวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ทั้งที่บีบเข้ามา และที่เราชื่นชมไปรับเข้ามาเอง
สิ่งที่แผ่เข้ามานั้นมีสองแบบ แบบหนึ่งเข้ามาโดยมีอิทธิพลครอบงำบีบเรา แต่บางอย่างนั้นถ้าเราไม่รับ หรือเรามีหลักของตัวเอง เราก็ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพล แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไปชื่นชมรับเอามาเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบชื่นชมรับเข้ามาก็ตาม ถูกอิทธิพลเหล่านั้นบีบคั้นก็ตาม เราก็ไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านั้น การไม่รู้เท่าทันนี้ทำให้เรามีแต่ความเสียเปรียบเต็มที่โดยสมบูรณ์ อันนี้ด้านที่หนึ่งคือเหตุปัจจัยภายนอก
ทีนี้ข้อที่สอง เหตุปัจจัยจากภายใน เมื่อเรารู้จักตัวเองโดยรู้จักพื้นฐานของตัวเอง ก็คือการรู้จักเหตุปัจจัยของตัวเราในอดีต เมื่อรู้เหตุปัจจัยแล้วเราจะแก้ไขมันก็ได้ หรือจะนำเหตุปัจจัยนั้นมาใช้ประโยชน์ก็ได้ ขณะนี้คนไทยเราไม่สามารถเอาสิ่งที่เรามีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเราไม่เข้าใจตัวเราเอง เข้าไม่ถึงฐานของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาวิจัยให้รู้พื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ ตลอดจนพื้นฐานของคนคือคุณภาพของคนที่เรามี ว่าคุณภาพของคนไทยทำไมเป็นอย่างนี้ จะต้องศึกษาให้ได้ จะได้เกิดความรู้เข้าใจตัวเอง ถ้าเราไม่รู้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่สามารถจัดการอะไรได้ และจะพัฒนาไม่สำเร็จ หรือจะเอามาใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้
มองกว้างออกไปก่อน คือมองที่สภาพของโลกปัจจุบัน เวลานี้เรามีศัพท์ใหม่ๆ ที่เป็นยอดนิยมเกิดขึ้นนานๆ ทีหนึ่ง อาจจะ ๕-๖ เดือน หรือปีหนึ่งก็มาคำหนึ่ง คำที่เรียกว่าค่อนข้างใหม่แต่ไม่ใหม่นักคือคำว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือที่ยั่งยืน หรืออย่างยั่งยืน (sustainable development) ยังเอาลงตัวไม่ได้ คำนี้เข้ามาเมืองไทยไม่นานนี้เอง สัก ๔-๕ ปีนี้ แต่ที่จริงเกิดกันขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๐ โดยมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เรียกว่า Our Common Future ซึ่งเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ได้ประมวลรายงานพิมพ์เป็นเล่มขึ้นมา และเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ คำว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” นี้ เราก็นิยมกันมาพักหนึ่ง
ต่อมาสักปีสองปีก็มีคำศัพท์ใหม่มา คือ โลกาภิวัตน์ (globalization) ตอนแรกเราใช้ว่า โลกานุวัตร ต่อมาก็มีอีกคำ ที่นิยมมากคือ วิสัยทัศน์ (vision) และอีกคำหนึ่งซึ่งนิยมไม่แพ้กันคือคำว่า การปรับรื้อระบบ คำไทยสำหรับคำนี้ยังไม่ลงตัว แต่ภาษาอังกฤษว่า reengineering
คำทั้ง ๔ นี้ ถ้ามองในแง่หนึ่ง มันแสดงถึงสภาพปัญหา ความเคลื่อนไหว และทิศทางของอารยธรรมมนุษย์ปัจจุบัน ตลอดจนภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนยุคนี้ แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อเราเอา ๔ คำนี้มาโยงกันดู จะเห็นสภาพปัญหาความขัดแย้งหรือไม่กลมกลืนกันอยู่ในตัว ถ้าอารยธรรมมนุษย์ดำเนินไปด้วยดี คำทั้ง ๔ นี้จะต้องลงตัว
การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้นได้บอกแล้วเมื่อกี้ว่าเป็นการพัฒนาที่ต้องให้ สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ เศรษฐกิจก็ไปดี คือต้องให้ ecology อยู่คู่กับ economy พร้อมกันนั้นเราก็มีคำคู่กันมาว่า การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) ที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ด้วย ตามหลักการพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น จะไม่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้อยลง โดยจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็เอาคนเข้ามาเป็นศูนย์กลาง
หันไปดูสภาพโลกาภิวัตน์ (globalization) บ้าง สิ่งที่เป็นโลกาภิวัตน์ (globalized) ปัจจุบันที่เด่นมากก็คือ ข่าวสารข้อมูล เด่นจนกระทั่งเราเรียกยุคปัจจุบันว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล พร้อมด้วยอุตสาหกรรมที่กำลังแพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก จนกระทั่งเสมือนว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมใกล้จะสำเร็จ แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีก็เป็นโลกาภิวัตน์ที่สำคัญและเป็นปัจจัยแห่งโลกาภิวัตน์ด้วย พร้อมกับที่ประชาธิปไตยก็กำลังเป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่ อันสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
กระแสนิยมประชาธิปไตยก็แผ่ไปในโลกเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ประชาธิปไตยนี้ไม่ได้ไปเดี่ยวๆ ในเมื่ออเมริกาเป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน ลัทธิเศรษฐกิจของเขาซึ่งผนวกอยู่ด้วยกันหรือครอบงำประชาธิปไตยแบบนั้นอยู่ก็แผ่ขยายไปด้วย ระบบเศรษฐกิจอันนี้ก็คือ ทุนนิยม ที่เรียกว่า free-market economy คือเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี
ผู้นำอเมริกันคนปัจจุบันนี้คือประธานาธิบดีคลินตัน (Bill Clinton) ได้พูดไว้ในคำปราศรัยเมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๖ ว่าเวลานี้ American idea คือภูมิปัญญาอเมริกันกำลังเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ประธานาธิบดีคลินตันประกาศด้วยความภูมิใจ (หรือเพื่อปลอบใจคนอเมริกัน)
American idea ที่ว่านี้คืออะไร ท่านบอกว่าคือ democracy คือ ประชาธิปไตย และ free-market economy คือ เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี อันได้แก่ลัทธิทุนนิยม สองอย่างนี้อเมริกาเชิดชู เขาถือว่าเป็น American idea ที่เขาภูมิใจมาก และเขาต้องการให้สองอย่างนี้แพร่ไปทั่วโลก จนกระทั่งต่อมาบางทีเขาผนวกกันเข้าเป็นคำเดียวว่า free-market democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ทำให้บางคนไม่รู้หลงนึกว่าสองอย่างนี้เป็นอันเดียวกัน คือ ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็จะต้องเป็นทุนนิยมด้วย ดีไม่ดีก็จะถูกครอบงำทางความคิด เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นโลกาภิวัตน์
ทีนี้ เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free-market economy) คือทุนนิยมนั้น แพร่ไปพร้อมกับแนวความคิดตะวันตกของอเมริกัน คือแนวความคิดแบบ competition คือการแข่งขัน ซึ่งถือการแข่งขันเป็นหัวใจของความสำเร็จ จนทำให้วิถีชีวิตของสังคมเป็นวัฒนธรรมที่มุ่งความสำเร็จด้วยการเอาชนะในการแข่งขัน นี่คือองค์ประกอบสำคัญของอารยธรรมตะวันตกที่จะโยงไปหารากฐานทางความคิด และภูมิปัญญา ตลอดจนวัฒนธรรมอเมริกันทั้งหมด
ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือว่า เวลานี้โลกโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นตัวแทนได้ก้าวไปสู่ภาวะที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมมาเป็นยุคบริโภคนิยม และแนวความคิด วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมแบบบริโภคนิยมก็แผ่ไปด้วยทั่วโลก เวลานี้โลกาภิวัตน์ใหญ่จึงกลายเป็นระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ และบริโภคนิยม และเจ้าสองตัวนี้คือระบบแข่งขันและบริโภคนิยม ได้มีอิทธิพลครอบงำโลกาภิวัตน์อย่างอื่น หมายความว่า ข่าวสารข้อมูลก็ถูกใช้เพื่อสนองระบบแข่งขันและบริโภคนิยม เช่น การโฆษณา และวิธีการที่เรียกว่าแบบหน้าม้าต่างๆ อุตสาหกรรมก็ถูกกำหนดโดยระบบการแข่งขันและสนองบริโภคนิยมนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนประชาธิปไตยก็อยู่ใต้อำนาจครอบงำอันเดียวกันนี้
ทั้งนี้เวลานี้จะต้องรู้ทันว่าระบบแข่งขันกับบริโภคนิยมนี้เป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่ ถามว่าโลกาภิวัตน์นี้สอดคล้องกันไหมกับการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) จะเห็นว่า มันไม่สอดคล้องกันเลย เพราะระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่มุ่งเอาชนะ เช่น เพื่อความเป็นเจ้าใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ย่อมเป็นตัวหนุนบริโภคนิยม เมื่อบริโภคนิยมมาก ก็ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมให้หนักมาก ทั้งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และก่อมลภาวะ รวมทั้งเพิ่มขยะมากขึ้น เพราะฉะนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันจึงขัดแย้งกับแนวทางของการพัฒนาแบบยั่งยืน มันไม่ไปด้วยกัน และไม่กลมกลืนกัน กลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่ทำลาย sustainable development ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีโลกาภิวัตน์อื่นอีก เช่น สิ่งเสพติดก็เป็นโลกาภิวัตน์หนึ่ง เอดส์ก็เป็นโลกาภิวัตน์หนึ่ง ความเครียดก็กำลังเป็นโลกาภิวัตน์ด้านจิตใจ และลัทธิแบ่งแยกเชื้อชาติเพศผิวพรรณลัทธิศาสนาก็แผ่ไปทั่ว เวลานี้โลกเป็นสากล แต่มนุษย์ยิ่งแบ่งแยกมากขึ้น สภาพเลวร้ายกำลังเป็นความจริงที่ยอมรับกัน ถึงกับบางคนเรียกว่าเป็น twilight of democracy คือเป็นสนธยาของประชาธิปไตย เพราะมนุษย์ไม่สามารถรวมกันได้ แต่กลายเป็นยิ่งแบ่งแยกมากขึ้น ทะเลาะกัน ทำสงครามกันยิ่งขึ้น รวมเข้ากับการที่แต่ละคนตกอยู่ใต้วิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ทั้งหมดนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแบบยั่งยืน ฉะนั้นโลกาภิวัตน์ขณะนี้จึงขัดกันกับการพัฒนาแบบยั่งยืน
ทีนี้หันมาดูวิสัยทัศน์ต่างๆ (vision) ดังที่เรานิยมยกย่องคนที่มีวิสัยทัศน์ดี มองเห็นแนวทางอนาคตอย่างเลิศหรู แต่วิสัยทัศน์เหล่านั้นที่ว่าดีๆ เก่งๆ ที่เราชื่นชมกันอยู่โดยมากไม่รู้ตัวว่าตกอยู่ใต้การครอบงำของแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานที่ผิดพลาด เวลานี้ไม่ว่าจะมีวิสัยทัศน์อะไรมองกันคิดกันไปเถอะ ก็ไปวนอยู่ในกรอบครอบงำอันหนึ่ง ไม่พ้นขอบกั้นนั้นไปได้ เช่น ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ตามก็อยู่ใต้ความคิดที่จะเอาชนะการแข่งขันให้ได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมแห่งระบบการแข่งขันจึงครอบงำและเป็นฐานรองรับอยู่ ไม่ไปไหนเลย คนนี้คิดเก่งในแง่จะเอาชนะเขาได้ เราก็ชื่นชมกันไป แต่แล้วมันก็อยู่ใต้ครอบของความคิดอันเก่านั้นเอง
มองลึกลงไปอีก วิสัยทัศน์เหล่านี้ไม่พ้นจากรากฐานความคิดของตะวันตกซึ่งเราจะพูดต่อไป เวลานี้เรามีนักอนาคตศาสตร์ (futurists) เช่น Alvin Toffler และ John Naisbitt ซึ่งในอเมริกาเขากำลังนิยมกันมากในเรื่องการพยายามทำนายอนาคต เพราะมีปัญหามากมายในสังคมอเมริกาที่ทำให้คนอเมริกันต้องคิดมากและเป็นห่วงอนาคตของบ้านเมืองของตน แต่แล้วแนวความคิดของเขาก็อยู่ในแนวเดียวคือ มุ่งว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความสำเร็จในการแข่งขัน ที่จะเอาชนะ แก้ความพ่ายแพ้ให้ได้ และวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่ชื่นชมกันก็แค่จะสนองพื้นฐานความคิดอันนี้เท่านั้นเอง แทบไม่มีที่จะไกลเลยออกไป และเมื่อมุ่งชนะในการแข่งขัน มันก็มาทำลาย หรือไม่สามารถจะทำให้วัตถุประสงค์ของการพัฒนาแบบยั่งยืนสำเร็จได้ ก็ขัดกันในตัวอยู่แค่นี้
มีอีกศัพท์หนึ่งที่นิยมหรือตื่นกันมากคือ reengineering แปลกันว่ารื้อปรับระบบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี แต่มันเกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจอะไร ก็คือการที่แพ้การแข่งขันแล้วจะกู้สถานะเอาชัยชนะกลับคืนมา แน่นอนเลย อันนี้ไม่มีทางที่จะปฏิเสธเพราะหนังสือซึ่งเป็นที่มาของความคิดนี้ คือ Reengineering the Corporation เกิดขึ้นมาจากแรงผลักดันของปัญหาที่ธุรกิจอุตสาหกรรมของอเมริกาประสบความตกต่ำ ย่ำแย่ มันแพ้ มันล้ม มันตกไปอยู่ข้างหลังประเทศอื่นเช่นญี่ปุ่น เขาจึงคิดหาทางฟื้นฟูกู้ฐานะจะให้อเมริกา ฉุดดึงธุรกิจอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา เพื่อเอาชัยชนะในการแข่งขันกลับคืนมาให้ได้ ก็เลยได้ความคิดที่จะปรับกระบวนการทำงานใหม่ จากระบบแบ่งงานทำแบบ Ford ในยุคของความคิดแบบ John Stuart Mill เปลี่ยนมาสู่ความคิดใหม่ โดยปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับยุคไอที ก็เลยเกิด reengineering ขึ้นมา แต่โดยพื้นฐาน reengineering นี้ก็สนองวิสัยทัศน์อันเดิม ไม่ไปไหนเลย มันเป็นเพียงวิธีการใหม่ แต่แนวความคิดก็ตกอยู่ใต้ครอบงำของรากฐานความคิดเก่า ที่นำมาสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้นเมื่อวิเคราะห์ให้ชัด สภาพโลกาภิวัตน์ วิสัยทัศน์ ตลอดจนรีเอนจีเนียริง ที่ตื่นกันในปัจจุบันทั้งหมดไม่ได้ไปไหนเลย และถ้าไม่แก้ไขให้ดีมันจะเป็นปัจจัยตัวร้ายด้วย คือเป็นตัวการที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ทะลุปรุโปร่ง แม้แต่ศัพท์ที่เก่าลงไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นคำว่า ทรัพยากรมนุษย์ ก็ได้พูดไปแล้วว่า ที่ว่าเราจะเอาการพัฒนาโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้น เป็นมนุษย์ในฐานะไหน คือ เป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์เพียงในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน และเป็นปัญหาของการวิจัยทั้งสิ้น
ได้พูดแล้วว่า เรื่องทั้งหมดที่ว่ามา โดยเฉพาะคำต่างๆ ที่ยกมาวิจารณ์นั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ลึกลงไป ซึ่งทางพระเรียกว่า ทิฏฐิ คือ แนวคิด ความเชื่อ หลักการ และการยึดถือในหลักการต่างๆ ถ้ามองตื้นๆ ก็ตรงตามที่บอกเมื่อกี้ว่า ตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมที่มุ่งความสำเร็จ มิใช่มุ่งความดีงามและสันติสุข และเมื่อสืบสาวไปถึงความเชื่อที่ลึกลงไป ก็ตั้งอยู่บนฐานความคิดนี้ทั้งหมดคือ ความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบแยกตัวต่างหาก ว่ามนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ มนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ และจะต้องจัดการกับธรรมชาติตามความปรารถนาของตนให้ได้ อิสรภาพ (freedom) ของมนุษย์อยู่ที่นี่คือ การพ้นจากการครอบงำของธรรมชาติ และกลับมีฐานะเป็นนายของธรรมชาติ เป้าหมายนี้จะต้องทำให้ได้
ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ครอบงำสังคมอุตสาหกรรมมาโดยตลอดก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตมนุษย์ คือความเชื่อในความสุขที่เกิดจากการเสพวัตถุ ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งเสพมากที่สุดก็สุขมากที่สุด ซึ่งนำมาสู่ลัทธิบริโภคนิยม
เวลานี้เราพูดกันว่าสังคมเป็นสังคมบริโภคนิยม บริโภคนิยม ตั้งอยู่บนฐานความคิดอะไร ก็อยู่ที่ความเชื่อในจุดหมายของชีวิตว่าความสุขอยู่ที่การเสพ มนุษย์จึงต้องพิชิตธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ เพราะว่าเมื่อชนะธรรมชาติแล้วก็จะจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา โดยเอาวัตถุดิบในธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเข้าโรงงานอุตสาหกรรม วัตถุดิบก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้วเราก็ได้บริโภค เราก็มีความสุขจากการเสพจากการบริโภคนั้น นี่มนุษย์ถือว่าเป็นชัยชนะ
มนุษย์ค้นคว้าหาความรู้ความจริงของธรรมชาติ พัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เขาสามารถนำความรู้นั้นมาสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม แต่เมื่อถูกแนวคิดความเชื่อข้างต้นครอบงำ แนวทางของอารยธรรมก็เขวออกไป กลายเป็นการนำความรู้นั้นมาใช้จัดการเอาธรรมชาติมาปรนเปรอตัวเอง และแย่งชิงผลประโยชน์กัน
๑. มนุษย์ต้องการชัยชนะที่จะจัดการกับธรรมชาติ
๒. ในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์ก็ต้องการเอาชนะเหนือผู้อื่นในระบบแข่งขัน
๓. ทั้งนี้มีจุดหมายสูงสุดคือฉันจะได้มีเสพมากที่สุด ตามคติของสังคมบริโภคนิยม
โดยนัยนี้ ความคิดมุ่งหมายต่อความสำเร็จด้วยการมีชัยชนะในระบบแข่งขันนี้ จึงครอบงำจิตใจของมนุษย์ ทั้งในการที่จะชนะธรรมชาติและชนะมนุษย์ด้วยกัน เพื่อจะได้มีสุขสูงสูดด้วยการบริโภคให้เต็มที่ เมื่อมนุษย์ชนะแล้วจะเป็นอย่างไร ชัยชนะของมนุษย์ก็คือหายนะของโลก เวลานี้ถ้ามนุษย์ชนะก็คือโลกหายนะ ถ้าโลกหายนะก็คือมนุษย์พินาศด้วย จึงเป็นอันว่ามนุษย์แก้ปัญหาไม่ตกทั้งๆ ที่รู้ตัว
ถ้าจะคิดแข่งขันและเอาชนะกันจริงๆ ก็น่าจะมุ่งเอาชัยชนะทางปัญญา ซึ่งเป็นชัยชนะที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นเพียงปัญญาสำหรับแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์ แต่หมายถึงปัญญาที่จะแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์สันติสุขแก่มนุษยชาติ
คนไทยควรจับจุดที่ชัยชนะทางปัญญานี้ ซึ่งจะเป็นชัยชนะที่แท้จริงในระยะยาว และจะเป็นชัยชนะร่วมกันของมวลมนุษย์ อย่ามัวคิดเอาชนะธรรมชาติ หรือคิดเอาชนะมนุษย์ด้วยกันจนกลายเป็นผู้แพ้ภัยตัวเอง แต่ควรคิดเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมชีวิตและสังคมมนุษย์อยู่ จึงจะเป็นชัยชนะที่มีคุณค่าและน่าภูมิใจอย่างแท้จริง และชัยชนะนี้จะสำเร็จได้ด้วยการวิจัยในความหมายที่แท้จริง